ตามหาแผ่นดินของเรา

“ดอกจันทน์กะพ้อร่วงพรู แต่มิได้หล่นลงสู่พื้นดินทีเดียว…” แต่ถึงอย่างไร ในที่สุดมันก็หล่นลงสู่พื้นดินจนได้ และพื้นดินนั้นเป็นของ “จิระเวสน์” อันแปลว่าที่อยู่อาศัยอันยั่งยืน ฉะนั้น จิระเวสน์น่าจะเป็น “แผ่นดินของเรา” อันเป็นชื่อเรื่องนวนิยายชิ้นเอกของแม่อนงค์ หรือครูมาลัย ชูพินิจ แต่หามิได้ แม้ตัวละครเกือบทุกตัวมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับจิระเวสน์ เพราะจิระเวสน์ทิ้งความหลังอันหวานชื่นแก่บางคน แต่ก็โหดร้ายแก่ทุกคนไปพร้อมกัน “แผ่นดินของเรา” ก็ยังไม่ใช่จิระเวสน์อยู่นั่นเอง

……

“แผ่นดิน” ใดๆ จะเป็น “ของเรา” ได้ ก็เพราะความเข้าใจต่อกันอย่างลึกซึ้งเช่นนี้ และความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการรู้จักตัวเอง

แต่ก่อนที่จะทำให้นวนิยายที่มีเสน่ห์สูงเล่มนี้กลายเป็นนิทานอีสป เราควรถามตัวเองก่อนว่า มีกลวิธีการเขียนใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนวนภาษา, การสร้างบุคลิกตัวละคร, โครงเรื่อง ฯลฯ ที่ทำให้คิดได้ว่าครูมาลัยตั้งใจจะบอกสารข้อนี้แก่ผู้อ่านบ้าง คำตอบคือไม่ชัด อย่างที่นวนิยายดีๆ ทั้งหลายไม่ควรชัดกับสารแฝงเหล่านี้ หรือยิ่งกว่านั้นคือเปิดให้ “อ่าน” ได้หลายนัยยะด้วยซ้ำ ดังนั้นสิ่งที่ผมได้กล่าวข้างต้น ก็เป็นหนึ่งในนัยยะอันหลากหลายที่ผู้อ่านแต่ละคนจะพานพบ “แผ่นดินของเรา” และไม่จำเป็นต้องตรงกัน