บ้านตุ๊กตา

บทละครเรื่อง “บ้านตุ๊กตา” เป็น 1 ใน 8 เรื่องแปลที่พิมพ์รวมอยู่ในเล่ม นิยายของนักเขียนเอกแห่งโลก ซึ่งมีทั้ง
เรื่องสั้น นวนิยาย และบทละคร ทั้งหมดแปลโดยสองนักเขียนนักแปลคู่ขวัญ“ศรีบูรพา” กับ “จูเลียต”
*
หลายวันมานี้วันดาค่อนข้างจะหงุดหงิด จะเนื่องจากอะไรตัวเองยังบอกไม่ถูก อาการเท่าที่มีคือเมื่อหยิบหนังสือออกมา และทุกเล่มถูกเปิดไปไม่กี่หน้า ก็ไม่มีสมาธิจะอ่านต่อ จึงทำได้แต่วางเล่มเก่าแล้วเข้าไปหาเล่มใหม่ หรือเป็นเพราะแดดที่ส่องทแยงทะลุห้องไม่มีฝาเข้ามา โรคบ้าแดดอาจเกิดขึ้นได้ แล้วเธอก็ไปยืนบิดไปบิดมาอยู่หน้าชั้นหนังสือ เห็นนาม “ศรีบูรพา” กับ “จูเลียต” วันดาไม่ได้คิดจะหยิบมาดู เพราะคิดว่าเป็นงานที่โด่งดัง มีการพิมพ์ซ้ำ มีคนพูดถึงมากอยู่แล้ว แต่เห็น “บ้านตุ๊กตา” เล่มนี้แทรกอยู่ในชั้น มันดูชราและเจ็บป่วยจนสะดุดตา จึงรีบนำพาออกไปนั่งเล่นใต้ต้นพิกุล ฟังเสียงแมลงภู่บินดอมดมพิกุลอยู่เบื้องบนดังหึ่งๆ น่าจะดีกว่านั่งอบแดดตายทั้งคนทั้งหนังสือ
*
ดูแล้วทั้งเล่ม “ศรีบูรพา” แปล 2 เรื่อง คือ “สระสวาท” ของ ดับเบิ้ลยู ซอมเมอร์เซท มอห์ม (W. Somerset Maugham) กับ “ในยามถูกเนรเทศ” โดย แอนตัน เชคอฟ (Anton Chekhov) ส่วน “จูเลียต” แปล 6 เรื่อง คือ “บ้านตุ๊กตา” ของ เฮนริค อิ๊บเซ่น (Henrik Ibsen) “ตามจับ” โดย จี.เค. เชสเตอร์ตัน (G.K. Chesterton) “เรื่องอ่านเล่น” ของ อีเธล แมนนิน (Ethel Mannin) “สองสุภาพบุรุษแห่งเวอโรน่า” ของ เอ.เจ. โครนิน (A.J. Cronin) “โลกของหนูน้อย” โดย อิวาน แคนคาร์ (Ivan Cankar) และ “ใครเลยจะบอกได้” ของ คอนสแตนซ์ เจ. ฟอสเตอร์ (Constance J. Foster)
*
หนังสือเล่มนี้ปกแข็งสีฟ้าขะมุกขะมอม ส่วนปกหุ้มอันตรธานไปไหนตั้งแต่เมื่อไรคงไม่มีใครรู้ ผลงาน 8 เรื่อง ความหนารวมกัน 574 หน้า จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 หาดูราคาไม่พบ และเฉพาะบทละครเรื่อง “บ้านตุ๊กตา” ชิ้นนี้พิมพ์ครั้งแรกที่ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ รายสัปดาห์ พ.ศ. 2489
*
บทละครมี 3 องก์ ทุกองก์ใช้ฉากเดิมฉากเดียวกัน
ตัวละครหลัก
ทอร์วัลด์ เฮลเมอร์
นอรา ภรรยาของทอร์วัลด์
หมอแรงค์ เพื่อนสนิทของทั้งสอง (สุขภาพไม่ดี)
มิสซิสลิน (คริสติน) เพื่อนสมัยนักเรียนของนอรา
นีล ครอกสตัด พนักงานธนาคาร คนรักเก่าของคริสติน
*
ขณะนั้นเป็นช่วงฤดูหนาวใกล้คริสต์มาส ในเรื่องไม่ได้บอกว่าเรื่องเกิดขึ้นที่ไหน แต่ผู้เขียนเป็นชาวนอร์เวย์ วันดาเดินเข้าไปพลิกปกหลังสมุดนักเรียนหาดูแผนที่โลก
“อึ๊ย !”
*
บทละครมักบรรยายถึงตัวละครว่ามีใครบ้างอย่างละเอียด แม้ว่าหลายตัวจะไม่มีความสำคัญก็ตาม บรรยายสภาพสถานที่ที่เกิดเรื่อง วันดาพยายามวาดภาพตามบทบรรยายแต่ไม่สำเร็จ เช่นห้องๆ หนึ่ง ด้านหลังมีประตูขวาไปสู่ทางเข้าห้องโถงประตูซ้ายไปสู่ห้องทำงาน เปียนโนตั้งอยู่ระหว่างประตูทั้งสอง ตรงกลางผนังซ้ายมือมีประตูอีกประตูหนึ่ง ฯลฯ
*
คนอ่านไม่สันทัดกับรายละเอียดของบทละคร ไม่สู้สนใจจดจำเรื่องฉากอาจเป็นเพราะเมื่อดูคร่าวๆ พอจะรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีจุดสำคัญอยู่ที่สถานที่เหมือนประเภทเรื่องสืบสวน อีกเรื่องหนึ่งคือชื่อของตัวละคร ผู้แปลใช้ชื่อหลัง แต่วันดาอยากใช้ชื่อหน้า โดยไม่รู้ว่าคุณแม่ “จูเลียต” จะดุให้ไหม
*
เอาเป็นว่านอราแต่งงานกับทอร์วัลด์มา 8 ปีแล้ว มีลูกด้วยกัน 3 คน ในบทสนทนา สามีจงใจสรรหาคำหวานชนิดสุดสวาทขาดใจต่อภรรยา บางทีก็ให้สมญาต่างๆ นานา เช่น “แม่นกสกายลาร์ค” บ้างละ บางทีก็ “แม่กระรอกน้อย” หรือ “แม่ยอดดวงใจ” อะไรทำนองนั้น
*
ทอร์วัลด์แสดงความเป็นคนรักเมียมาก แต่ก็มิใช่จะตามใจ เพราะเขามักอบรมสั่งสอนนอราอยู่เสมอไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องการใช้จ่ายก็เช่น ชีวิตครอบครัวที่อยู่ได้ด้วยการหยิบยืมย่อมไร้อิสรภาพ ไร้ความหมดจดงดงาม เขาสั่งสอนภรรยาแม้กระทั่งเรื่องการกินลูกกวาดว่ามันจะทำให้ฟันสวยๆ ของเธอผุได้ และเขาได้ตั้งกฎเหล็กขึ้น ห้ามเธอกินลูกกวาดอย่างเด็ดขาด
*
ลูกสามแล้วนะเนี่ย
*
อ่านมาแค่นี้วันดาก็คิดว่านอราน่าจะโชคดีที่มีสามีแบบนี้ แต่..
“อุ๊ย !”
อะไรสักอย่างตกจากต้นพิกุลลงมาใส่กระดาษบนโต๊ะ ไม่ใช่ดอกหรือใบพิกุลที่ร่วงหล่นกล่นเกลื่อน แต่มันเป็นส่วนหัวของสิ่งมีชีวิต สีแดง ไม่มีตัว โอ..มายก้อด ! กระดาษสีขาวมีหัวสีแดงตกลงมาใส่ โดย..โดยไม่มีเลือดสักหยด ส่วนตัวของมันอยู่ไหนใครจะรู้ คนขี้เกียจติดตามเรื่องก็ทำแค่เขี่ยๆ ดันๆ เจ้าผีตัวขาดสีแดงไปไว้มุมโต๊ะ แล้วลุกไปลากสายยาง เปิดน้ำทิ้งไว้ให้ต้นลั่นทม ก่อนจะกลับเข้าสู่องก์ที่ 1 ต่อ โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องฆาตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ
****