ระลึกชาติในแบบเรียนภาษาไทย

ความเป็นชาติ คืออะไร คำถามนี้ได้รับการถามและอภิปรายในทางวิชาการมานักต่อนักแล้ว และคำตอบหนึ่งที่ดูจะเป็นที่ยอมรับกันแล้วก็คือ ความเป็นชาติและชาตินิยมนั้น เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เฉพาะทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ที่จะบอกว่าเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการสร้างและปลูกฝังอุดมการณ์ของสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่ว่านี้ ก็คือแบบเรียน ในวงวิชาการของไทยเองก็ได้มีความพยายามที่จะพิสูจน์และอธิบายประเด็นนี้มาแล้วไม่น้อย ผลสรุปของหัวข้อศึกษาที่แยกย่อยแตกต่างกันไปในแง่ระดับของหลักสูตร (ประถมศึกษา, มัธยมต้น, มัธยมปลาย), ปีของหลักสูตร หรือช่วงระยะเวลาที่กำหนดโดยอิงกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย (เช่น พ.ศ. 2411-2475, 2475 – 2487) อาจแตกต่างกันไปบ้างก็เฉพาะในแง่ของมุมมอง ตั้งแต่ในแบบที่ไม่มองอะไรเกินไปกว่าข้อมูลพื้นฐานนั้น หรือในแบบที่เป็นการวิเคราะห์เนื้อหาในเชิงอุดมการณ์ เช่น ไม่มีชาติของประชาชนไทยในแบบเรียน, ชาติไทยและเมืองไทยคือหมู่บ้าน ชุมชนชาติในแบบเรียนคืออุดมคติของหมู่บ้านในอดีต, ไปจนกระทั่งในแบบของการประเมินค่าทางเทคนิค เช่น “สำนวนภาษายังต้องปรับปรุง คุณภาพปานกลาง ราคาแพงเกินไป การเย็บเล่มต้องให้คงทนกว่านี้ ต้องปรับปรุงเรื่องสีและจำนวนภาพให้มีมากขึ้นและสีสันตรงตามธรรมชาติ”

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาพื้นฐานที่การศึกษาวิจัยแต่ละครั้งสรุปมาได้นั้น ล้วนไม่แตกต่างในสาระสำคัญ ที่อาจสรุปรวบยอดได้ดีที่สุดตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่ปรากฏในประกาศกระแสพระบรมราชโองการเรื่องการศึกษาของประเทศสยาม ในเดือนกันยายน ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2454) ความว่า

ความประสงค์จำนงค์หมายในการสั่งสอน ฝึกหัดกันนั้นให้มุ่งก่อผลสำเร็จดังนี้คือ ให้เป็นผู้แสวงหาศิลปวิชาเครื่องอบรมปัญญา ความสามารถและความประพฤติชอบให้ดำรงรักษาวงษ์ตระกูลของตนให้โอบอ้อมอารีแก่พี่น้องให้มีความกลมเกลียวร่วมทุกข์ศุขกันในระหว่างสามีภริยา ให้มีความซื่อตรงต่อกันในระหว่างเพื่อน ให้รู้จักกระเหม็ดกระเหม่เจียมตัว ให้มีเมตตาจิตรแก่ผู้อื่นทั้งปวง ให้อุดหนุนสาธารณประโยชน์ อันเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด ให้ปฏิบัติตนตามพระราชกำหนดกฎหมาย เมื่อถึงคราวช่วยชาติและบ้านเมืองให้มอบกายสวามิภักดิ์กล้าหาญและด้วยจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อยู่ทุกเมื่อ

เมื่อใดความรู้สึกต่อหน้าที่เหล่านี้ทั้งปวงหมด ได้เข้าฝังอยู่ในสันดานจนปรากฏด้วยอาการกิริยาภายนอกแล้ว เมื่อนั้นความสั่งสอนฝึกหัดเชื่อว่าสำเร็จ และผู้ใดเล่าเรียนถึงผลสำเร็จเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นเชื่อว่าเป็นราษฎรอันสมควรแก่ประเทศสยามยิ่งนัก
ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เรื่อง การศึกษาของประเทศสยาม., หน้า 30

การปลูกฝังอุดมการณ์ความคิด (หรือ “สันดาน”) ดังกล่าว ไม่เพียงกระทำผ่านการให้ชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สังคม ที่ประกอบกันเป็นเรื่องราวหลักให้นักเรียนได้ท่องจำเท่านั้น แต่ยังสามารถกระทำโดยอ้อมในแบบที่มีผลหล่อหลอมเป็นมโนทัศน์ที่ซึมลึกเข้าไปหยั่งรากอยู่ในจิตสำนึก ซึ่งผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำวัยเยาว์

กรณีศึกษาที่ชัดเจนคือ เมื่อพูดถึงตำราเรียน เรามักจะนึกถึงแบบเรียนภาษาไทยสมัยประถมศึกษาได้แจ่มชัดมากที่สุด ทั้ง แม่ไก่นันทา ครอบครัวนกกางเขน ปัญญา เรณู มานะ มานี หรือแม้แต่พ่อหลีพี่หนูหล่อ ล้วนเป็นความประทับใจวัยเยาว์ที่ยังถูกหยิบยกมาพูดถึงเสมอๆ เพราะแบบเรียนเหล่านี้เป็นความทรงจำแรกๆ ของการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกในวัยเด็กอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเฉพาะแบบเรียนภาษาไทย ซึ่งมักจะแต่งเรื่องราวสั้นๆ แทรกไว้สำหรับฝึกฝนการอ่าน ลักษณะคล้ายนิทาน มีตัวละครเป็นสิงสาราสัตว์หรือเด็กๆ เช่นเดียวกับผู้อ่าน แบบเรียนภาษาไทยจึงเป็นเสมือนวรรณกรรมเยาวชนเล่มแรกๆ ที่ทุกคนได้อ่าน ทำให้ถูกจดจำได้มากที่สุด

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องราวน่ารักตัวละครน่าเอ็นดูเหล่านั้นแล้ว แบบเรียนภาษาไทยก็ไม่ได้ต่างจากแบบเรียนวิชาสังคมศึกษา หรือแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในทุกยุคทุกสมัย ที่มีผลในการ “ตบแต่ง” และ “หล่อหลอม” ทัศนคติของประชาชนพลเมือง เพียงแต่เป็นการหล่อหลอมในขั้นที่อาจเรียกได้ว่า “เนียน” และ “โรแมนติก” กว่า ในฐานะความทรงจำวัยเยาว์ถึงตัวละครแรกๆ ในประวัติการอ่านของเยาวชนไทย

รายงานชิ้นนี้เป็นการลองสำรวจว่า หากจะลองรื้อลิ้นชักความทรงจำถึงแบบเรียนภาษาไทยในแต่ละยุค เราจะพบอะไรได้อีกบ้างนอกจากความประทับใจที่มีต่อตัวละครเหล่านั้น ทั้งนี้ แม้ว่าหลักสูตรของแบบเรียนเหล่านั้นจะหมดอายุขัยไปแล้ว แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่า ตัวละครเหล่านั้นอาจไม่เพียงไม่ได้หายไปไหน แต่ยังเติบใหญ่อยู่ในตัวเราที่เป็นผู้ใหญ่หลากหลายรุ่นอยู่ใน พ.ศ.นี้ ที่แม้จะพ้นวัยของการยืนเข้าแถวหน้าเสาธงทุกเช้ามานานแล้วก็ตาม