สร้อยเศร้าถึงพระเจ้าซาร์

เมื่อพระวรกายต้องกระสุนหลายนัด พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 คงสิ้นพระชนม์ทันที และก็คงเสด็จสู่สวรรคาลัยไปพร้อมๆ กับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมจักรพรรดินีนาถอเล็กซานดรา พระราชโอรสธิดารวมทั้งคณะข้าราชบริพาร เช่น พระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง แพทย์ รวม 11 ชีวิต คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าพระองค์ได้พบกับพระบรมวงศานุวงศ์ พระญาติสายตรง สายอ้อม รวมทั้งบรรดาบรรพบุรุษแห่งราชวงศ์โรมานอฟ ทั้งหลายที่ได้เสด็จไปประทับและบรรทมอยู่ในสรวงสวรรค์ก่อนหน้านี้ บรรดาเชื้อสายของราชวงศ์เหล่านี้จะต่อว่าต่อขานกล่าวโทษพระองค์หรือไม่ ? หรือว่าเห็นอกเห็นใจ ? ที่ไม่สามารถสืบทอดการปกครองระบอบราชาธิปไตย ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองรัสเซียมานานไว้ได้ ทั้งไม่สามารถรักษาเงินทอง ทรัพย์สิน สมบัติพัสถาน พระราชวังใหญ่น้อย ฯลฯ ของราชวงศ์ที่ให้ความร่มเย็นแก่เหล่าบรรดาพสกนิกรมาถึงกว่า 300 ปีให้ได้ยืนยาวจนนิรันดร

คำถามนี้อยู่นอกวิสัยของมนุษย์จะรับรู้ กระนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นคำถามที่เหลวไหลอย่างสิ้นเชิง เพียงแต่เปลี่ยนรูปคำถาม แต่ยังคงสาระไว้ ก็เป็นคำถามที่นักประวัติศาสตร์ และผู้คนที่ยังมีชีวิตกระโดดโลดเต้นอยู่บนเวทีโลกนี้ถามกันต่อเนื่องมา

นักประวัติศาสตร์พยายามเสนอคำตอบว่า ทำไมระบอบราชาธิปไตยในรัสเซียยังคงสืบเนื่องจนข้ามมาถึงต้นศตวรรษที่ 20 ในขณะที่บางประเทศยุโรปนั้นล่มสลายไปนานแล้ว โดยเฉพาะฝรั่งเศสซึ่งรัสเซียถือเป็นแม่แบบสำหรับอนาคตตนเอง หรือแม้ไม่ล่มสลายไป ก็เปลี่ยนรูปและบทบาทจนไม่เหลือเค้าของระบอบราชาธิปไตยอยู่อีก เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เดนมาร์ค สวีเดน ฯลฯ ดังนั้น ถ้าจะตั้งคำถามต่อกรณีพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ว่า พระองค์น่าจะดำรงรักษาระบอบการปกครองนี้ให้สถาพรต่อไปในรัสเซียได้หรือไม่ ? หรือทำไมราชวงศ์โรมานอฟที่เคยยิ่งใหญ่มีอำนาจล้นฟ้า ถึงมาล้มอย่างสิ้นลายในสมัยของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ? ก็เป็นคำถามทางวิชาการที่สารพัดสาขาวิชา ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา วรรณคดีศึกษา จนกระทั่งถึงนิตยสารประโลมโลกได้ถามและพยายามเสนอคำตอบกันมา

คำถามทำนองนี้ย่อมถามกันได้ทั้งบนสวรรค์และในโลกนี้ แต่ถ้าถามกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสเอง พระองค์จะมีพระปรีชาสามารถตอบพระบรมบรรพบุรุษในฐานะลูกขุนพิจารณาคดีได้หรือ ? คำถามนี้มิได้มาจากทัศนะที่ดูถูกดูแคลน หรือสงสัยในพื้นฐานการศึกษา หรือสติปัญญา ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของพระองค์ แต่เพราะคำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ยากอย่างยิ่ง ไม่ใช่จะตอบว่า “yes” หรือ “no” กันได้เหมือนเกมโทรทัศน์ ตรงกันข้าม ต่อให้กองทัพนักปราชญ์ ราชบัณฑิต ผู้สันทัดกรณี นักวิเคราะห์มือฉมัง ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวง ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ

ข้อเขียนหนังสือ บทความในวารสาร เอกสารเสนอในที่ประชุม สัมมนา ฯลฯ จากสถาบันวิจัยเกี่ยวกับยุโรปและรัสเซียศึกษานับร้อย และมหาวิทยาลัยนับพัน ที่เขียนกันมาเกือบศตวรรษ ส่วนหนึ่งก็ถกเถียงกันถึงคำถามเหล่านี้ ซึ่งเมื่อพยายามตอบ ก็จะมีคำถามที่เกี่ยวข้องกันตามมาอีกมากมาย ถ้าจะเรียกตามมรรยาททางวิชาการก็ว่าเป็นการสร้างองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับผู้มองโลกอย่างเยาะเย้ย ก็จะเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมวิชาการ ที่ก่อรายได้ให้กับกลุ่มคนที่ทำมาหากินโดยไม่ต้องไปทำงานตากแดด ตากฝน (รวมถึงผู้เขียนคนนี้)