ความทรงจำในวัยเด็กของเอ็มมา โบวารี

ในทัศนะของนักจิตวิเคราะห์อย่างซิกมันด์ ฟรอยด์ การที่เรารำลึกเหตุการณ์ในวัยเด็กเหตุการณ์หนึ่งได้นั้น มิใช่เรื่องบังเอิญ เรามีความทรงจำในวัยเด็กเรื่องหนึ่งๆ เพราะความทรงจำนั้นผูกพันลึกซึ้งกับความปรารถนาบางอย่างที่เรามีอยู่อย่างแฝงเร้นในปัจจุบัน

ในที่นี้ ผมจะลองนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ตีความตัวละครเอ็มมาซึ่งเป็นตัวละครเอกของนวนิยายเรื่อง มาดามโบวารี ทั้งนี้ ในการนำเสนอเรื่องราวของเอ็มมาทั้งหมด ตั้งแต่การแต่งงาน ความผิดหวังในชีวิตสมรส การคบชู้ ไปจนถึงความพินาศของชีวิต นวนิยายได้อุทิศเนื้อหาส่วนหนึ่ง (ภาคหนึ่ง ตอนที่ 6) เพื่อเล่าเหตุการณ์ในวัยเด็กของเอ็มมา ช่วงที่เธอเป็นนักเรียนในคอนแวนต์ ที่ซึ่งฟูมฟักความหลงใหลคลั่งไคล้ของเธอที่มีต่อการอ่านนิยายประโลมโลก

นวนิยายนำเสนอเหตุการณ์วัยเด็กของเอ็มมาโดยอาศัยเทคนิค “ฉายภาพย้อนหลัง” (flash back) กล่าวคือ ในฉากก่อนหน้านี้ (ภาคหนึ่ง ตอนที่ 5) นวนิยายถ่ายทอดความรู้สึกของเอ็มมาที่เริ่มผิดหวังกับชีวิตแต่งงานระหว่างเธอกับชาร์ลส์ โบวารี จากนั้นนวนิยายก็จะพาผู้อ่านสู่ตอนต่อไป ซึ่งเอ็มมา “หวนคิดถึง” ช่วงชีวิตในอดีตที่เธอเคยมีความสุข นั่นคือช่วงที่เธอเรียนหนังสือที่คอนแวนต์

การเล่าเหตุการณ์วัยเด็กของเอ็มมาผ่านมุมมอง ความคิดและความรู้สึกของเอ็มมาเอง ในแง่หนึ่งก็คือการที่ตัวละครถ่ายทอดความทรงจำวัยเด็กต่อผู้อ่าน สิ่งที่ควรย้ำในที่นี้คือ ทุกอย่างที่เอ็มมาเล่าเกี่ยวกับช่วงชีวิตในคอนแวนต์นั้น เป็นเพียงความทรงจำหรือสิ่งที่เธอจำได้ ฉะนั้นในความทรงจำนี้ ย่อมมีบางเหตุการณ์ที่เธอจำได้ดีหรือให้ความสำคัญเป็นพิเศษ (จึงนำมาเล่าได้) เช่น เธอจำได้ดีว่าสมัยอยู่ที่คอนแวนต์เธอชอบอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์ ชอบบรรยากาศในการสวดมนต์ ชอบดูภาพพระเยซูถูกตรึงกางเขน ชอบไปสารภาพบาปกับพระ ฯลฯ

การที่เอ็มมามีแนวโน้มจะเลือกจำได้เพียงเหตุการณ์บางเหตุการณ์ชวนให้เราตั้งคำถามว่าเหตุใดเธอจึงจำเหตุการณ์นั้นๆ ได้ ซึ่งผมขอเสนอคำตอบและจะได้อธิบายต่อไปในบทความนี้ว่า ความทรงจำในวัยเด็กของเอ็มมามีนัยยะเชื่อมโยงกับความปรารถนา (desire) บางอย่างของเธอ ซึ่งความปรารถนาที่ว่าคือความปรารถนาที่จะได้รับความเจ็บปวดหรือ “มาโซคิสม์” (masochism) อาจกล่าวได้ว่าความทรงจำวัยเด็กของเอ็มมาหรือเหตุการณ์ในอดีตสมัยที่เธออยู่ที่คอนแวนต์ประกอบด้วยเนื้อหาหลักใหญ่ๆ 2 ส่วน คือ ความทรงจำเกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนาซึ่งบรรยายกิจวัตร เช่น การสวดมนต์ การทำพิธีทางศาสนา การสารภาพบาป และความทรงจำเกี่ยวกับการอ่านงานวรรณกรรมซึ่งบรรยายความหมกมุ่นของเอ็มมาที่มีต่อนิยายประโลมโลก หนังสือชวนฝัน ผมจะแสดงให้เห็นว่ารายละเอียดต่างๆ ในความทรงจำของเอ็มมาทั้งสองเรื่อง เช่น การที่เธอจำได้ว่าเธอชอบดูภาพพระเยซู การที่เธอจำได้ว่าชอบไปสารภาพบาป การที่เธอจำได้ว่าชอบอ่านหนังสือของวอลเตอร์ สกอตต์ ฯลฯ หาใช่ความทรงจำที่มีอยู่โดยบังเอิญ หากแต่เป็นการที่เอ็มมา “เลือกจำ” สิ่งที่สอดรับกับความปรารถนาทางเพศที่เธอมีอยู่อย่างแฝงเร้น