SHARA : กระจกของศิลปิน

บ่ายฤดูร้อนวันหนึ่งที่เมืองนาระ เด็กชายฝาแฝดสองคนกำลังเล่นไล่จับในบริเวณซอกซอยที่ร้างผู้คน เมื่อ ชุน น้องชายฝาแฝดรู้สึกตัวอีกที เค พี่ชายของเขา ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านต่างลือกันว่าเคถูกเทพเจ้าลักพาตัวไป ต่อมาครอบครัวอะโซะได้ข่าวการพบศพของลูกชายคนโต ครอบครัวซึ่งกำลังให้กำเนิดชีวิตใหม่กลับต้องสูญเสียอีกชีวิตหนึ่ง เราไม่สามารถบอกได้ชัดว่าเคหายไปอย่างไร เมื่อไร และที่ไหน ราวกับภาพยนตร์จงใจละเลยการเล่าเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา

Shara
(2003) แสดงให้เห็นกลวิธีการเล่าเรื่องของ นาโอมิ คาวาเซะ (Naomi Kawase) ผ่านรูปแบบภาพยนตร์สารคดี ที่สร้างความสมจริงด้วยการถ่ายภาพลองเทค (long take) หรือการบันทึกภาพอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยปราศจากการตัดต่อ คาวาเซะคัดเลือกนักแสดงส่วนใหญ่จากคนในพื้นที่และลงพื้นที่หลายเดือนก่อนถ่ายทำจริง บ่อยครั้งคาวาเซะเลือกถ่ายทำภาพยนตร์ที่บ้านเกิดคือเมืองนาระซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเขตคันไซ ใกล้เมืองเกียวโตและโอซาก้า ไกลจากแหล่งอุตสาหกรรมหลักของภาพยนตร์ญี่ปุ่นอย่างโตเกียว ประสบการณ์ในการผลิตหนังสารคดีจนเรียกได้ว่ามีความเป็นสัจนิยมอยู่ในสายเลือด ทำให้หนังของเธอมีกลิ่นอายของหนังสารคดีราวกับต้องการทลายเส้นแบ่งระหว่างหนังทั้งสองประเภท โดยมักเสนอผ่านชีวประวัติที่มีเรื่องการหายไปของบุคคลใกล้ชิดและการโหยหาพ่อแม่ อันอาจเป็นผลจากการที่พ่อของเธอทิ้งไปตั้งแต่ยังเด็ก

ภาพยนตร์ของคาวาเซะมักถ่ายด้วยฟิล์ม Super 8 หรือไม่ก็ 16 มม.ซึ่งทำให้ทำงานได้อย่างอิสระและประหยัดกว่าเมื่อเทียบกับฟิล์ม 35 มม.ที่ราคาสูง การใช้ฟิล์มขนาดเล็กยังสะดวกเนื่องจากขนาดกล้องที่เล็กและเบาทำให้คาวาเซะสามารถเคลื่อนย้ายกล้องโดยแบกไว้บนบ่าได้นานๆ ฟิล์ม Super 8 หรือ 16 มม. ยังบันทึกภาพต่อเนื่องได้นานกว่าฟิล์ม 35 มม.ที่ถ่ายลองเทคได้เพียงราว 4 นาที อีกทั้งฟิล์มที่มีขนาดเซ็นเซอร์รับภาพเล็กทำให้ภาพมีระยะชัดลึก (deep focus) และสามารถบันทึกการแสดงตามธรรมชาติและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหันได้ดี ผลงานของคาวาเซะจึงมีลักษณะของภาพยนตร์แนวสัจนิยม (Poetic Realism) ที่เชื่อว่าการถ่ายภาพลักษณะดังกล่าวสามารถบันทึกภาพความเป็นจริงได้มากที่สุด