วัดสาธารณ์

ผมอยากนำเสนอปรากฏการณ์ทางสถาปัตยกรรมร่วมสมัยอีกประการ ที่ดูจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ได้เขียนถึงไปเมื่อฉบับก่อน เดิมตั้งใจจะเขียนรวบไว้ในฉบับที่แล้ว แต่เกรงว่าจะทำให้บทความยาวเกินไป อีกทั้งคำนวณเวลาที่จะต้องใช้เพิ่ม พร้อมๆ กับนึกว่า บ.ก. ของผมจะตกใจมากแค่ไหนหากจะต้องส่งต้นฉบับล่าช้ามากยิ่งขึ้นจากที่ก็ช้าเป็นประจำอยู่แล้ว ทำให้ในที่สุดก็ตัดสินใจยกยอดมาเขียนต่อในฉบับนี้แทนดีกว่า
**
ฉะนั้น ถ้าใครกำลังจะเริ่มอ่านบทความนี้โดยยังไม่ได้อ่านฉบับที่แล้ว ก็อยากแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านก่อนนะครับ เพราะมันมีประเด็นที่ต่อเนื่องกันอยู่
**
ผมสังเกตมาสักระยะหนึ่งแล้วว่า ในขณะที่โรงแรมระดับห้าดาวมีแนวโน้มในการออกแบบโดยลอกเลียนรูปทรงทางสถาปัตยกรรมจากวัด เต็มไปด้วยสัญญะศักดิ์สิทธิ์ และมากไปด้วยบรรยากาศขรึมขลังแบบศาสนสถาน แต่เมื่อย้อนมองมาในแวดวงการออกแบบสถาปัตยกรรมประเภทวัด ที่ควรจะต้องเน้นการออกแบบในทิศทางดังกล่าวมากที่สุด กลับมีแนวโน้มเป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ วัดที่ควรจะถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นภาพสะท้อนของพื้นที่โลกุตรธรรมอันสูงส่ง และทำหน้าที่เป็นปริมณฑลอันศักดิ์สิทธิ์ทางพิธีกรรม ในปัจจุบันกลับมีลักษณะโน้มเอียงไปสู่การเป็นพื้นที่โลกียธรรมในเชิงพาณิชย์ ละทิ้งมิติของที่ว่างที่สะท้อนจิตวิญญาณอันสูงส่ง ตลอดจนละเลยการใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบจารีตที่เป็นรูปสัญญะแทนความหมายอันศักดิ์สิทธิ์ โดยหันมาใช้รูปสัญญะที่มีความหมายแบบสาธารณ์มากขึ้น
**
กล่าวให้รวบรัดก็คือ ในสังคมไทยสมัยใหม่ โรงแรมซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณ์ มีแนวโน้มที่จะออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่วัดซึ่งเคยเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ กลับมีทิศทางการออกแบบที่มุ่งไปสู่การเป็นพื้นที่สาธารณ์แทน
**
เราจะพบ “ปรากฏการณ์วัดสาธารณ์” เหล่านี้ได้อยู่บ่อยๆ นะครับ ไม่ว่าจะเป็นวัดที่เต็มไปด้วยตึกอาคารหน้าตาประหลาดๆ เพื่อหวังดึงคนเข้าวัด วัดที่มีแต่ร้านขายของ ซุ้มวัตถุมงคล วัดที่มองไปทั่วบริเวณเห็นแต่ลานจอดรถรับนักท่องเที่ยว วัดที่เดินเข้าไปได้ยินแต่เสียงประกาศขายบุญไม่หยุด หรือแม้กระทั่งวัดที่ลงทุนสร้างตึกแถวให้ชาวบ้านเช่า หรือยอมให้เอกชนใช้ที่ธรณีสงฆ์เพื่อก่อสร้างโรงแรม ฯลฯ ยังไม่นับรวมแนวโน้มของวัดในปัจจุบันที่นิยมเรียกคนเข้าวัดด้วยการสร้างพระพุทธรูปปางพิสดาร หรือผลิตวัตถุมงคลแผลงๆ ที่บางครั้งมุ่งตอบสนองกิเลสทางโลกให้แก่ฆราวาส เช่น พระพุทธรูปปางเรียกรับโชค หรือจตุคามรามเทพ เป็นต้น
**
แม้โดยภาพรวม ปรากฏการณ์วัดสาธารณ์ที่ผ่านมาดูจะมิได้สร้างความเดือดร้อนใจแก่พุทธศาสนานิกชนหรือสังคมมากนัก แต่ในปัจจุบันหลายกรณีได้ถูกขยายเป็นวิวาทะทางสังคม จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงกว้างขวางปรากฏให้เห็นตามสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น กรณีวัดสนามจันทร์ จ.ฉะเชิงเทรา สร้างพระพุทธรูปปางยกขาเหยียบลูกโลก กรณีวัดพระธรรมกายที่ใช้กลวิธีทางการตลาดเต็มรูปแบบมาเป็นตัวดึงดูดคนเข้าวัด กรณีวัดกัลยาณมิตรทำลายโบราณสถานและรื้อเมรุเพื่อสร้างที่จอดรถรองรับนักท่องเที่ยวจนชาวบ้านรอบวัดรวมตัวขับไล่เจ้าอาวาส หรือกรณีวัดยานนาวายอมให้บริษัทเอกชนเช่าที่ธรณีสงฆ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างโรงแรมหรู เป็นต้น
**
ผมคิดว่า ปรากฏการณ์วัดสาธารณ์ในสังคมไทยร่วมสมัยนับวันจะเพิ่มระดับความรุนแรงและเพิ่มความซับซ้อนของประเด็นขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ
ความไม่พอใจของผู้คนและสังคมต่อปรากฏการณ์วัดสาธารณ์ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะไม่ต่างอะไรกับความไม่พอใจที่มีต่อ “ปรากฏการณ์โรงแรมศักดิ์สิทธิ์” นั่นก็คือ เป็นความตระหนกต่อปรากฏการณ์ที่กลับหัวกลับหางกันระหว่างพื้นที่ศักดิ์สิทธ์กับพื้นที่สาธารณ์ คือความไม่สบายใจต่อความพร่าเลือนของเส้นแบ่งระหว่างโลกอุดมคติกับโลกแห่งความเป็นจริง คือความหงุดหงิดต่อความไม่ชัดเจนระหว่างสัญลักษณ์ในการสื่อความหมายของสิ่งที่ควรจะเป็นโลกุตระกับโลกียะ ซึ่งดังที่ได้อธิบายไปในฉบับก่อนแล้วว่า ความไม่ชัดเจนของเส้นแบ่งเหล่านี้เป็นการบั่นทอนระบบคุณค่าทางสังคม และถึงที่สุดแล้ว ความพร่าเลือนดังกล่าวจะนำไปสู่การบ่อนทำลายโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมที่น่ากังวลยิ่ง
**
เมื่อระบบคุณค่าที่สังคมยึดถือไว้ถูกท้าทาย ความหงุดหงิดไม่พอใจจนถึงขั้นโกรธเกรี้ยวย่อมเกิดขึ้น และสังคมต้องหาคำอธิบายเพื่อตอบหรือคลี่คลายความผิดปกติ ไม่ชัดเจน และคลุมเครือ ที่กำลังท้าทายระบบคุณค่าที่ตัวเองยึดถือเอาไว้นั่นให้ได้ ซึ่งน่าสังเกตว่า คำอธิบายที่ง่ายและช่วยให้สบายใจที่สุดคือ การโยนให้ความผิดปกตินั้นเป็นความบกพร่องของปัจเจกบุคคล มิใช่ของตัวระบบสังคม เพราะการอธิบายว่าเป็นเพียงความผิดพลาดของคนบางคนนั้น ช่วยยืนยันให้รู้สึกว่าตัวระบบสังคมยังคงปกติดีอยู่ ไอ้ที่เห็นๆ ว่าผิดเพี้ยนไปก็เพราะความบกพร่องของปัจเจกต่างหาก เป็นการหลอกตัวเองให้สบายใจขึ้นโดยเร็วและค้นพบทางแก้ปัญหาได้ทันใจ นั่นก็คือ การตักเตือนหรือการขจัดปัจเจกบุคคลเหล่านั้นเป็นคราวๆ เวลาเรื่องบานปลายจนมาอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์
**
ง่ายๆ แบบนี้ละครับ เช่น ปรากฏการณ์โรงแรมศักดิ์สิทธิ์คือเรื่องของสถาปนิกบางคนที่ไม่เข้าใจเรื่องฐานานุศักดิ์ทางสถาปัตยกรรมจนเผลอไปสร้างโรงแรมเหมือนวัด วิธีแก้คือ จับสถาปนิกไปติวความรู้สถาปัตยกรรมไทย หรือว่ากล่าวลงโทษสถาปนิกคนนั้น ส่วนกรณีปรากฏการณ์วัดสาธารณ์ก็เป็นแค่เรื่องของเจ้าอาวาสบางรูปที่ไม่เข้าใจแก่นแท้ของศาสนาจนหลงไปกับลัทธิบริโภคนิยม วิธีแก้คือการส่งจดหมายตักเตือนโดยมหาเถรสมาคม หรือหากมีการสร้างวัดหน้าตาแปลกๆ หรือพระพุทธรูปปางพิสดาร ก็เพียงแค่สั่งการให้ดัดแปลงหรือรื้อของแปลกเหล่านั้นโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาหรือมหาเถรสมาคมแล้วทุกอย่างก็จบลง ความปกติสุขก็เกิดขึ้น ความพร่าเลือนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับสิ่งสาธารณ์ก็ได้รับการจัดระเบียบให้ถูกต้องเหมาะควรอีกครั้ง
**
แต่ในทัศนะของผม ทุกอย่างคงไม่จบง่ายดายแบบนั้น ก็เช่นเดียวกับที่ได้อธิบายไปในกรณีโรงแรมศักดิ์สิทธิ์นะครับว่า ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถโยนความผิดให้แก่ปัจเจกบุคคลได้อย่างง่ายๆ เพราะแนวโน้มวัดสาธารณ์เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่ทั้งกว้าง ยาว ลึก พัวพันกันหลายเรื่อง ซึ่งบทความนี้อยากจะลองทำความเข้าใจปมทั้งหลายที่ผูกกันจนเกิดเป็นปรากฏการณ์นี้ในเชิงโครงสร้าง แน่นอนคงทำได้เพียงบางแง่บางส่วน แต่ก็หวังว่าจะมีประโยชน์บ้างต่อการทำความเข้าใจปรากฏการณ์วัดสาธารณ์ที่นับวันจะกลายเป็นวิวาทะทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ
**