(อะ-นา-ไล) ป.,น.(2)

ปรากฏเป็นภาพ
บทแนะนำหนังสือรวมเรื่องสั้น “ที่อื่น” ของกิตติพล สรัคคานนท์ สั้นกว่าเรื่องสั้นในรวมเรื่องสั้น คือทั้งสั้นและกระชับ ใจความสั้นๆ ท่อนหนึ่งมีว่า “ท่วงทำนองเรื่องสั้นเล่มนี้ ค่อนไปในทางประหยัดถ้อยคำอธิบายเรื่องราว แต่จะสื่อสารด้วยการให้รายละเอียดของภาพ” (บทแนะนำโดย อิสระพร บวรเกิด, วารสารหนังสือใต้ดิน, 12, 2550, หน้า 198) อ่านผิวเผินเหมือนจะย้อนแย้งในตัว เพราะเป็นไปได้อย่างไรที่จะออมคำแต่กลับใส่รายละเอียด ยกเว้นแต่ว่าศักยภาพของคำนำพาไปสู่การสร้างรายละเอียดในจินตนาการ ประโยคข้างต้นไม่ได้ขัดกันเองแต่อย่างใด “ที่อื่น” รวมเรื่องราวที่จงใจเล่าไม่เกลี้ยง บางตอนซ่อนภูมิหลัง บางช่วงจบค้าง แต่ในขณะเดียวกันก็หลอกล่อผู้อ่านด้วยรายละเอียดจากการบรรยายปัจจัยเล็กปัจจัยน้อย ไม่ว่าจะเป็นอากัปกิริยา องค์ประกอบ สถานที่ บรรยากาศ ทั้งที่มีความหมายและที่แลดูไร้ความใดๆ ผู้เขียน “ให้รายละเอียดของภาพ” หรืออาจขยายความเพิ่มขึ้นว่ารายละเอียดเหล่านั้นช่วยสร้างภาพ (ที่ไม่เคยมีอยู่) หรือต่อเติมภาพ (ที่ขาดหายไป) และหลายคราวผู้เขียนก็เอ่ยถึงเหตุการณ์หรือสิ่งรอบตัวในฐานะ “ภาพ” ที่ตัวละครจ้องมอง นึกถึง จินตนาการ

ตลอดเส้นทางตัวบทที่เหตุการณ์หลายตอนเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ผู้อ่านจะพบภาพสองประเภทที่สืบเนื่องมาจากการลงรายละเอียดแวดล้อม และภาพที่ประมวลทั้งสองลักษณะได้เป็นอย่างดี คือภาพศพจากอุบัติเหตุรถคว่ำที่ “ทำให้สิ่งที่อยู่ภายในตัวออกไปอยู่ด้านนอกและสิ่งที่อยู่ด้านนอกกลับเข้าไปด้านใน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” โศกนาฏกรรมตัวอย่างให้ทั้งภาพข้างทาง และภาพทะลัก ที่ปรากฏแทรกอยู่ในเรื่องสั้นทั้งสิบสอง ความหมายของโครงหลักมาจากศูนย์กลางและปริมณฑลของตัวบท ทั้งนี้มโนทัศน์เฉพาะกิจทั้งสองมีนิยามขอบเขตต่างกัน ภาพทะลัก กินความทั่วไป ครอบคลุมถึงปริมาณ ประเภท และความหมายของรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นในเรื่อง ล้นหรือล้ำความน่าจะเป็น ในขณะที่ภาพข้างทาง มีนิยามแคบกว่าสืบเนื่องมาจากหลากเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนท้องถนนจนแทบจะเป็นภาพติดตา ของ “ที่อื่น” อุบัติเหตุ การเดินทาง การจราจร ต่างกลายเป็นสาเหตุให้ภาพข้างทาง แทรกเข้ามาในสายตาของบุคคลในเรื่อง

แล้วจะพบเห็นอะไรจากการตรวจสอบวิเคราะห์ภาพทั้งสองลักษณะ? หรือภาพจากรายละเอียดเพียงแค่ทำหน้าที่ชดเชยเหล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมความไม่สมบูรณ์แบบที่เป็นเหมือนภาพแหว่งวิ่น เป็นชิ้นส่วนไม่สมประกอบ?