สิ่งตีพิมพ์ในซอง

นิตยสาร-วารสาร-จดหมายข่าว

1. ช่อการะเกด ฉบับที่ 48
เมษายน-มิถุนายน 2552
บรรณาธิการ: สุชาติ สวัสดิ์ศรี
240 บาท

นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือนที่นักอ่านไม่เพียงรอติดตามผลงานเรื่องสั้นที่ได้รับการคัดสรรลงตีพิมพ์ แต่ยังรออ่านกถาและการตอบจดหมาย/ปฏิกิริยาในลีลาที่เฉพาะตัวของบรรณาธิการอีกด้วย  ในฉบับที่ 6 ของการกลับมาเที่ยวล่าสุดนี้ มี 12 เรื่องสั้นทั้งจากนักเขียนไฟแรงที่คุ้นชื่อเสียงเรียงนาม และนักเขียน “ผ่านเกิด” หน้าใหม่คละเคล้ากันไป  พร้อมภาค “โลกหนังสือ” ที่รายงานอย่างเต็มอิ่มจุใจถึงสถานการณ์วรรณกรรมในประเทศลาว และบทความจากปาฐกถาช่างวรรณกรรมประจำปี 2551 โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง “จาก ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ สู่ ‘ชีวิตในวรรณกรรม’” และที่ร้อนแรงที่สุดของฉบับนี้ เห็นจะได้แก่การตอบจดหมายของ “เจ้าตัวร้าย” ท้ายเล่มนั่นเอง

2. รัฐศาสตร์สาร
ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2552
บรรณาธิการ: ธเนศ วงศ์ยานนาวา
200 บาท (550 บาท/ 1 ปี 3 ฉบับ)

รัฐศาสตร์สาร วารสารที่ออกแบบปกได้ “ซน” ที่สุดแล้วในกระบวนวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในตอนนี้ พบกับห้าบทความจากห้านักวิชาการ; ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ แปลบทความของ Can-Seng Ooi ซึ่งศึกษาการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์โดยใช้แนวคิด “นิยมตะวันออก” (Orientalism) ของ Edward Said มาวิเคราะห์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสามแห่งของสิงคโปร์; วิจิตร ว่องวารีทิพย์ วิเคราะห์ปัญหาว่าด้วย “สังคมความเสี่ยง” ที่ว่ากันว่าจะนำไปสู่ความเสื่อมทางร่างกายหรือตัวตน; ดุษฎี วรธรรมดุษฎี สำรวจแนวคิดของฟูโกต์ผ่านแนวคิดเรื่องความไม่ปรกติ สู่ประวัติศาสตร์แห่งเพศวิถี โดยเชื่อมโยงกับคำบรรยายหัวข้อ Abnormal ของฟูโกต์; ธเนศ วงศ์ยานนาวา แนะนำหนังสือของ Khaled El-Rouayheb ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเพศแบบรักร่วมเพศในโลกออตโตมัน อันเป็นความสัมพันธ์แบบปกติที่เพิ่งกลายมาเป็นปัญหาของสภาวะสมัยใหม่; และบทความ “ธรรมาภิบาลภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์: นัยต่อประเทศไทย” ของ รศ. สมบูรณ์ ศิริประชัย ผู้เสียชีวิตไปก่อนที่หนังสือจะทันเสร็จเป็นเล่มออกมา และทำให้บรรณาธิการเขียนอาลัยไว้ว่า “ดูราวกับว่างานวิชาการของสมบูรณ์ยืนยาวกว่าชีวิต”

3. วิภาษา
ฉบับ คนเสื้อแดงกับรัฐธรรมนูญ ฉบับวัฒนธรรมไทย
ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ลำดับที่ 18 1 พฤษภาคม- 15 มิถุนายน 2552
บรรณาธิการ: บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
60 บาท (480 บาท/1 ปี 8 ฉบับ)

“คนเสื้อแดงกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” โดยยุกติ มุกดาวิจิตร บทความเด่นฉบับนี้ เสนอการทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงผ่านการวิเคราะห์อุดมการณ์และวัฒนธรรมทางการเมือง โดยอาศัยแนวทางวิเคราะห์เชิงวิพากษ์งานด้านไทยศึกษาชิ้นคลาสสิคอย่าง “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์  สถานการณ์ทางการเมืองเดียวกันยังเป็นประเด็นใน “รอยร้าวที่ร้าวลึกกว่าปัญหาทางการเมืองเรื่องสี” ของเกษม เพ็ญภินันท์ ซึ่งนอกจากจะเปิดประเด็นปัญหาพื้นฐานทางโครงสร้างการเมืองและปัญหาความยุติธรรม/ระบบสองมาตรฐานแล้ว ยังตั้งคำถามถึง “น้ำยาสันติวิธี” ด้วย  ขณะที่ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นำประเด็น “ประชาธิปไตยเฟ้อ” ของการเคลื่อนไหวแบบมวลชนจาก The Revolt of the Masses ของ José Ortega y Gasset มาตั้งข้อสังเกตต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสังคมไทยรอบสามปีที่ผ่านมา

4. ปาจารยสาร
ฉบับ BANGKOK อ่านว่า บางคอก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 2
พฤษภาคม-มิถุนายน 2552
สาราณียกร: ธิติ มีแต้ม,
ศุภเกียรติ ศุภศักดิ์ศึกษากร
80 บาท (450 บาท/ 1 ปี 6 ฉบับ)

ปาจารยสาร ฉบับนี้มาพร้อมกับเรื่องเด่นเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นบทความวิพากษ์แผนนโยบายปรับปรุงภูมิทัศน์และพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ “ความล้มเหลวของคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์” โดยชาตรี ประกิตนนทการ, บทสัมภาษณ์บุญเลิศ วิเศษปรีชา นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาชีวิตคนไร้บ้าน เพื่อให้เรารับรู้ถึงการดำรงอยู่ของผู้อาศัยในกรุงเทพฯ อีกกลุ่มที่ “ต้องอยู่ให้ได้” ในเมืองแห่งนี้  หรือบทบรรณาธิการที่เปิดประเด็นเรื่องความปลอดภัยของรถ “เมล์เขียว” และยังมีชุดภาพสิ่งปลูกสร้างของกรุงเทพฯ ในมุมแปลกตามาให้ดูพักสายตากันเล่นอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีบทความน่าสนใจในคอลัมน์ประจำอีกมากมาย

5. สานแสงอรุณ ฉบับ ปัญญาญาณตะวันออก
ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2552
บรรณาธิการ: ทวีศักดิ์ แก้วเข้ม
60 บาท (360 บาท/ 1 ปี 6 ฉบับ)

นอกเหนือจากคอลัมน์ประจำและนักเขียน-กวีที่คับคั่งเช่นเคยแล้ว ส่วนที่ชวนให้สะดุดใจที่สุดของ สานแสงอรุณ ฉบับนี้ เห็นจะได้แก่บทสัมภาษณ์ สมภาร พรมทา อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคำสัมภาษณ์ที่ไม่ปิดบังความขัดแย้งในตัวเองทางความคิดและความรู้สึก ของนักปรัชญาผู้ประกาศว่าเชื่อในคุณค่าของการดำดิ่งสู่อารมณ์ความรู้สึก อาจารย์สอนปรัชญาตะวันออกที่ยกย่องจารีตในการเคารพหลักการของตะวันตก นักวิชาการผู้ออกปากว่า การเป็นนักเขียนนั้น แม้ไม่ยิ่งใหญ่อะไรเลย ก็ยังยิ่งใหญ่กว่าการเป็นศาสตราจารย์

…และ

“…ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่พันธมิตรทำ เพราะอธิบายได้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่ว่าในขณะเดียวกันผมถามตัวผมเองว่ารากเหง้าผมเป็นใคร ที่จริงรากเหง้าผมมันอยู่ในชาติพันธุ์ของพวก นปก.
…มันทำให้ผมเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่คนเหล่านี้เรียกร้องต้องการ  พวกชาวบ้านเหล่านี้พูดไม่เก่ง พูดไม่เป็น  แต่ผมเข้าใจพวกเขา ผ่านสายตา ผ่านหน้าตาที่เกรียมแดดเกรียมลมหนาว  เพราะผมคือพวกเดียวกับคนเหล่านี้ เหมือนโมเสสเป็นพวกเดียวกับชาวยิว
…ที่นั่งหน้าหมองคล้ำอยู่ที่สนามหลวงนั้นล้วนแต่เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกับผม ไม่ว่าจะมีการพูดว่าคนเหล่านี้ถูกจ้างมา แต่ผมก็เชื่อด้วยสัญชาตญาณบางอย่างว่าเผ่าพันธุ์เดียวกับผมจำนวนไม่น้อยคงมาเพราะต้องการบอกคนในเมืองกรุงว่าอย่าได้ทำร้ายคุณทักษิณที่เขารักเลย
..แม้จะเข้าใจเหตุผลที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายแจกแจงบนเวทีพันธมิตร..แต่ผมกลับรู้สึกว่าท่านเหล่านี้มีชีวิตที่ผมมองไม่ออกว่าจะเข้าใจเผ่าพันธุ์ของผมอย่างไร
…นี่เป็นความทุกข์ ความเศร้า เป็นเรื่องตลกที่เจ็บแสบ ผมกลายเป็นคนครึ่งคน…”

อ่านฉบับเต็มของคำสัมภาษณ์ที่เปิดเผยความขัดแย้งทางความคิดและตัวตนอย่างเข้มข้นนี้ได้ใน สานแสงอรุณ

6. จดหมายวรรณกรรม
ปีที่ 1 ลำดับที่ 1
ฉบับ พื้นที่ที่ไม่มีใครอยู่ กันยายน 2551
โดย คณะผู้เขียนจดหมาย

ในบางคราว การอ่านบทกวีก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการแอบอ่านจดหมายส่วนตัวของคนอื่นอยู่แล้ว  เมื่อจู่ๆ ได้รับ จดหมายวรรณกรรม ซึ่งไม่เพียงเป็นจดหมายที่คนอื่นเขาส่งถึงกัน แต่ยังเป็นจดหมายของกวี (ที่บ้างก็เขียนเป็นบทกวีด้วย!) ก็ยิ่งมีแต่ให้ขัดเขินที่จะก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวนั้นอยู่นาน

ผ่านมาจนถึงฉบับที่ 4 แล้ว สำหรับ จดหมายวรรณกรรม ของ “คณะผู้เขียนจดหมาย” ซึ่งดูเหมือนจะมี “ภูมิชาย คชมิตร”, “ภู กระดาษ”, “อรอาย อุษาสาง”, “ชามกลางคืน”, จารุพัฒน์ เพชราเวช และ “รน บารนี” เป็นผู้ก่อการหลัก  กวีหนุ่มเหล่านี้เขียนจดหมายถึงกันเป็นต้นฉบับหนังสือขนาด 20 หน้าของกระดาษ A4 พับครึ่งเย็บมุงหลังคา  ตัวหนังสือฟอนต์พิมพ์ดีดที่ประชิดระยะห่างระหว่างตัวอักษร สะท้อนถึงการประหยัดต้นทุนหน้ากระดาษที่ดูเหมือนจะยังหาสปอนเซอร์ไม่ได้ เพราะ “ส่งแชร์ยังมีวันได้คืน [แต่] ทำหนังสือก็เหมือนกับซองผ้าป่านั่นแหละ..” (จากจดหมายของ “ภูมิชาย คชมิตร” ในเล่มลำดับที่ 4)

เมื่อดึงตัวเองให้ช้าลงเสียบ้าง และเก็บอาการเย้ยหยันถากถาง (โกรธโว้ย!) ต่อสภาพยุคสมัยที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ล้วนกลายเป็นสามานย์ (โดยเฉพาะกวีนิพนธ์!) เอาไว้  ถ้อยคำบรรยายภาพสิ่งละอันพันละน้อยและสังคมรอบข้าง จนถึงสิ่งนามธรรมอย่างความอ้างว้าง คับข้องประดามีเหล่านี้ บางทีก็คล้ายจะทำให้เราโกรธกวีและกวีนิพนธ์น้อยลง

เขามีชีวิตอยู่อย่างนั้น

“เรานั่งเขียนหนังสือตั้งแต่เช้ามืด เมื่อไปก่อไฟหุงข้าวแล้วก็กลับมานั่งเขียนหนังสือต่อ กว่าจะได้ตอบจดหมายก็ตอนหัวค่ำเพราะเพิ่งกลับจากไร่ เราปั่นจักรยานกลับจากไร่กว่าจะมาถึงก็แทบยาเพราะฝนตก และต้องไปตาม เจ้าดอนหมาของเรากลับบ้านอีกเพราะมัวแต่ไปกวนแม่แมวและลูกแมวอยู่ที่โรงเรือนที่พัก” (“ภูมิชาย คชมิตร”, ฉบับที่ 1)

และเขาว่า

เรื่องยากแสนยาก
เกิดขึ้นที่นี่
ไล่นกออกจากเวิ้งฟ้า
(ภูมิชาย คชมิตร, จดหมายลำดับที่ 1)

เฉกเช่นกวี

ผีเสื้อปีกงามทำงานลำพัง
มีชีวิตเงียบๆ
กับมวลดอกไม้
(ชามกลางคืน, จดหมายลำดับที่ 3)

หากไม่เช่นนั้น

บึงกว้างถ่ายภาพฟ้า
เมฆลอย ตะวันเคลื่อน
ดาวเดือนเรียงราย
พร่าหาย เพียงข้า
นั่งปาหิน
(จารุพัฒน์ เพชราเวช, จดหมายลำดับที่ 4)

ลางที เขาเขียนเป็นเรื่องสั้นสั้น

“พวกมึงรู้มั้ย ? ! – ตะหานออกมาเดินถือปืนเต็มบ้านเต็มเมืองอย่างนี้ ประเทศนอกฝรั่งมันมองประเทศนี้อย่างไร กูเห็นและได้ยินซุมฝรั่งมันเว้ากันในทีวี..แล้วพออยากสิไปโดดน้ำขี้ลีกน้ำครำตายพู้นหละ โลกนี้ประเทศอื่น ไทอื่นที่เป็นมาพร้อมๆ กัน ขะเจ้าพากันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว?! เว้าแล้วกูกะงึดหลาย?!” (“ภู กระดาษ”, จดหมายลำดับที่ 1)

หรือที่เป็นคล้ายคำรำพัน

…ผืนแผ่นดินที่ข้าฯ สร้างทำ และที่ที่ลูกหลานข้าฯ เติบโต
ไม่ใช่ของสูเจ้าเหล่านรชนใด
ความอุดมสมบูรณ์ไพศาล—หรือสูเจ้าเป็นผู้สร้าง
กิ่งก้านที่พืชผักผลิใบเก็บกินเป็นของพวกเจ้าอย่างนั้นหรือ…
เจ้าของ..
ถ้อยคำวิปริตของการเปล่งอย่างฉาบฉวย
(“อรอาย อุษาสาง”, จดหมายลำดับที่ 4)

และกระทั่ง

เอาเหวยเอาวา, ไอ้คน
เชิญเถิด…เชิญขนไฟปืนมาต้มเลือด!
จนหยาดสุดท้ายแห้งเหือด เหี้ยนพารา

ปากท่านประสมสำเนียงเสนาะ
ทั้งน้ำคำสัญญาฟังไพเราะ
ถุด! ไอ้ตาลเฉาะ ชิงกะลา
(“รน บารนี”, จดหมายลำดับที่ 3)

เอ็นดูเถิด พวกเขาเป็น

“โรคที่รักษาไม่หาย” กวีหนุ่มผู้ล่วงลับ “บุญศักดิ์ ทองน้อย” เคยพูดเอาไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต ด้วยการทักทายเพื่อนๆ ติดปากว่า “ยังไม่หายเป็นกวีอีกหรือ…” (จดหมายลำดับไหนของใครจำไม่ได้แล้ว)

เข้าใจว่าไม่มีวางจำหน่าย สนใจบอกรับ ติดต่อคณะผู้เขียนจดหมายได้ที่ [email protected]

หนังสือเล่ม

1. ซ่อนกลิ่น
ผู้เขียน: ศรีดาวเรือง
สำนักพิมพ์: สามัญชน
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก มีนาคม 2552
232 หน้า/190 บาท

ซ่อนกลิ่น
มองเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง
ร้องไห้แล้วร้องไห้อีก

อยู่ในกระจกบานนั้น

ผลงานนวนิยายเล่มล่าสุดของนักเขียนหญิงผู้พิสูจน์ตัวเองมานานถึงความเป็น “ของจริง” ในเอกลักษณ์ที่ยังยากจะหาใครเทียบชั้น  ซ่อนกลิ่น ยังคงรักษาแนวทางแบบเพื่อชีวิต ที่มีชีวิต และไม่เทศนา  ที่พิเศษไปกว่านั้น นวนิยายเล่มนี้ยังเป็นคล้ายอัตชีวประวัติของผู้เขียน ที่เล่าถึงประสบการณ์การเรียนรู้และตื่นตัวต่อโลกและชีวิต ของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทน “ชนชั้นกรรมาชีพ” คนหนึ่ง และเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง

2. จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น
(The Catcher in the Rye)
ผู้เขียน: เจ.ดี.ซาลินเจอร์
ผู้แปล: ปราบดา หยุ่น
บรรณาธิการ: กมลทิพย์ สิทธิกรโอฬารกุล
สำนักพิมพ์: ไลต์เฮาส์
พิมพ์ครั้งแรก 2552
304 หน้า/217 บาท

หลังจากที่กลายเป็นหนังสือหายากในตลาดหนังสือแปลร่วมสมัยของไทยมานาน  ในที่สุด The Catcher in the Rye ก็กลับมาใหม่ ในชื่อใหม่และสำนวนแปลใหม่ นับได้เป็นสำนวนที่ 3 แล้วหลังจากที่สำนักพิมพ์เรจีนาเคยพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2531 ในชื่อ ทุ่งฝัน แปลโดย ศาสนิก และก่อนหน้านั้นก็เป็น ชั่วชีวิตของผม สำนวนแปลของ คำรวี-ใบเตย

นี่นับว่าเป็นข่าวดีที่นักอ่านไทยรุ่นก่อนหน้ารอคอยมานาน ขณะที่นักอ่านรุ่นใหม่ซึ่งแม้จะห่างจากกลิ่นอายของยุค “ขบถ” มาไกล ก็คงสนใจที่จะหามาอ่าน ด้วยสะดุดใจในชื่อชั้นของผู้แปล

นับว่าสำนักพิมพ์น้องใหม่ ไลต์เฮาส์ เปิดตัวได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการเลือกหนังสือคุณภาพคลาสสิคร่วมสมัย มานำเสนอในรูปโฉมที่นักอ่านรุ่นใหม่น่าจะให้การตอบรับเป็นอย่างดี

3. ผู้ทำให้เทพธิดารอคอย
11 นักเขียนโนเบล 11 เรื่องสั้นคัดสรร
ผู้แปล: วิมล กุณราชา
สำนักพิมพ์: นาคร
พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2552
360 หน้า/260 บาท

รวมเรื่องสั้น (แปล) คัดสรรเล่มที่สามของสำนักพิมพ์นาคร ซึ่งผู้แปลอธิบายถึงเกณฑ์ในการคัดเลือกไว้ว่า “พยายามเสาะหาแต่เรื่องเก่าๆ หนักๆ ที่เรียกทับศัพท์กันว่าเรื่องคลาสสิก ซึ่งก็คือเรื่องเก่าที่ถูกเก็บขึ้นหิ้งไปแล้ว (และถูกลืมอยู่ในซอกลึกของห้องสมุด) ของนักเขียนที่ส่วนใหญ่ก็คลาสสิก (ตาย) ไปแล้วเช่นกัน”  ด้วยความเชื่อมั่นที่แถลงไว้ว่า “แม้จะพ้นจากปัจจุบันสมัย แต่ชีวิตมนุษย์ก็คือชีวิตมนุษย์

พิสูจน์สัจธรรมอันท้าทายนี้ได้กับผลงานของ อัลแบร์ต กามูส์, อนาโทล ฟร็องซ์, เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, ไอแซค บาเชวิส ซิงเกอร์, ชอง-ปอล ซาร์ตร์, ลุจิ พิแรนเดลโล, มิคาอิล อเล็กซานโดรวิช โชโลคอฟ, ซาอูล เบลโลว, ซิลแคลร์ ลูอิส และยาสึนาริ คาวาบาตะ

4. เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน
(Firefly, Barn Burning and other stories)
ผู้เขียน: Haruki Murakami
ผู้แปล: ปาลิดา พิมพะกร, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา,
ธนรรถวร จตุรงควาณิช, นฆ ปักษนาวิน, โตมร ศุขปรีชา
บรรณาธิการ: ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
สำนักพิมพ์: กำมะหยี่
พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552
165 หน้า/175 บาท

รวมเรื่องสั้นเล่มกะทัดรัดเล่มแรกจากทั้งหมดสามเล่มของมูราคามิ ที่สำนักพิมพ์กำมะหยี่กำลังทยอยพิมพ์ออกมา โดยมีดวงฤทัย เอสะนาชาตัง แห่งสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัดเป็น “แม่งาน”  จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ ยังอยู่ที่ความริเริ่มของสำนักพิมพ์ในการส่งเทียบเชิญแฟนหนังสือของมูราคามิ ให้มาร่วมกันแปล ซึ่งก็ไม่น่าประหลาดใจที่จะได้รับการตอบรับอย่างกระตือรือร้น  ผู้ที่ตอบรับมาร่วมแปลในเล่มนี้ ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังมีผลงานเป็นที่รู้จักกันไม่น้อย  สำนักพิมพ์ยังแถลงไว้ว่าอีกสองเล่มที่กำลังจะตามมาคือ The Second Bakery Attack และ Lexington Ghosts ซึ่งยังมีผู้ตอบรับคำเชิญมาร่วมแปลอีก 11 คน นอกเหนือจาก 5 คนที่มาลงแรงในเล่มเปิดตัวเล่มแรกนี้แล้ว

5. นพศูล
ประพฤติการณ์ของบุคคลสำคัญทั้งเก้าในชีวิตเชอร์ล็อค โฮล์มส์
บรรณาธิการ: รัตนชัย เหลืองวงศ์งาม
สำนักพิมพ์: เชอร์ล็อค โฮล์มส์
พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2552
336 หน้า/250 บาท

นพศูล เป็นผลงานเล่มที่ 6 ของสำนักพิมพ์ซึ่งเลือกใช้ชื่อที่บอกขอบเขตผลงานชัดเจนดีเหลือเกิน  หลังจากเปิดตัวด้วย สืบคดีสีเลือด ของ เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ ผลงานอีกห้าเล่มต่อมาซึ่งรวมถึง นพศูล ด้วยนั้น บรรณาธิการอธิบายไว้ว่าเป็นงาน “จำลักษณ์” (pastiche) ของ “บุพคัมภีร์” หรือ canon ของนวนิยายชุดเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ที่เขียนโดยผู้ให้กำเนิด “ตัวจริง” คือ เซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (ที่มาที่ไปของงานวรรณกรรมในลักษณะนี้ เรืองเดช จันทรคีรีประมวลมาอธิบายไว้ในคำนำเสนอ “จากบุพคัมภีร์สู่วรรณกรรมจำลักษณ์” ของเขาซึ่งตีพิมพ์อยู่ในนวนิยายจำลักษณ์ เล่มก่อนหน้า คือ แกะรอย เชอร์ล็อค โฮล์มส์)

ระบบเรื่องสั้นจำลักษณ์ชุด นพศูล นี้ หมายถึงการแตกหน่อต่อยอด (ศูล) ออกเป็น 9 (นพ) แขนง โดยอาศัยตัวละครสำคัญที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเชอร์ล็อค โฮล์มส์ฉบับบุพคัมภีร์ทั้งหมด 9 คนเป็นแกน  ตัวละครทั้งเก้านี้เป็นที่รู้จักกันดีของแฟนคลับหรือสาวกเชอร์ล็อค โฮล์มส์ทั้งหลาย ไม่ว่าหมอวัตสัน, มายคร้อฟต์ ผู้เป็นพี่ชาย, “ผู้หญิงคนนั้น” นาม ไอรีน แอ๊ดเลอร์, ศาสตราจารย์มอริอาร์ตี้ คู่ปรับตัวฉกาจ ฯลฯ  นวนิยายจำลักษณ์นี้มีการทำดัชนีไว้ด้วยว่าตัวละครและเรื่องราวในแต่ละตอนนั้น อ้างอิงมาจากตอนใดของบุพคัมภีร์

ความประณีตตั้งใจของคนทำ ไม่ได้สะท้อนออกมาในการค้นคว้าและคัดสรรอย่างเป็นระบบเพียงอย่างเดียวนั้น แต่ยังรวมถึงมาตรฐานการแปล และการเลือกใช้หลักเกณฑ์ที่เฉพาะตัวในการถอดเสียงรวมถึงการใช้สัญลักษณ์กำกับในภาษาไทยด้วย เรียกได้ว่าเดินตามแนวทางของบรรณาธิการคลาสสิคอย่างเรืองเดช จันทรคีรี โดยแท้

6. ความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ผู้เขียน: ธเนศ วงศ์ยานนาวา
สำนักพิมพ์: สมมติ
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก 2552
213 หน้า/200 บาท

รวมบทความบรรยายสามชิ้นจากต่างวาระ ชิ้นเด่นที่ใช้ชื่อเดียวกับชื่อหนังสือ อภิปรายถึงแนวคิดที่กำลังเฟื่องฟูในโลกวิชาการสายสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ร่วมสมัยอย่าง “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” (Multiculturalism)  ส่วนชิ้น “เอกเทวนิยม” กล่าวถึงรากฐานความคิดทางศาสนาแบบการนับถือพระเจ้าองค์เดียวที่ต่อเนื่องมาถึงฐานคิดทางการเมืองสมัยใหม่ และปิดท้ายด้วยเรื่องความไม่อดกลั้นใน “ความไม่อดกลั้นใน ‘ความอดกลั้นของเสรีนิยม’”  ทั้งสามชิ้นวิเคราะห์ถึงแนวคิดทางการเมือง-สังคมเหล่านี้ในเชิงประวัติศาสตร์ นับแต่ความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงของแนวคิดไปจนถึงการดำรงอยู่ของแนวคิดเหล่านี้ในโลกสมัยใหม่  และที่ขาดไม่ได้ตามแนวทางของธเนศคือ ข้อวิจารณ์ต่อข้อจำกัดและความเป็นไปได้ของแนวคิดเหล่านั้น และรวมถึงของข้อเสนอที่มาพร้อมกับตัวแนวคิดนั้นๆ ด้วย

7. กะเทาะเปลือกนิวเคลียร์
ผู้เขียน: Stephen Croall
ภาพประกอบ: Kaianders
ผู้แปล: กรรณิการ์ พรมเสาร์
บรรณาธิการ: ชื่นชม สง่าราศี กรีเซ่น
สำนักพิมพ์: มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ครั้งที่ 2 มกราคม 2552
182 หน้า/165 บาท

หนังสือการ์ตูนที่พิมพ์ในอเมริกาในชื่อ The Anti-Nuclear Handbook พิมพ์ในอังกฤษในชื่อ Nuclear Power for Beginners โดยเป็นหนึ่งในหนังสือชุดซีรีส์ Beginners for beginners  แม้จะใช้คำว่า beginners แต่นั่นอาจไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะสำหรับเด็กๆ หรือคนที่ไม่คุ้นเคยกับมุขเสียดสีการเมืองของประเทศมหาอำนาจในโลก  เพราะหนังสือการ์ตูนเล่มนี้เต็มไปด้วยการเล่นมุขเสียดสีกัดเจ็บที่ “ฮาอย่างปัญญาชน” ไม่น้อย

แต่ส่วนที่อาจจะเรียกได้ว่า for beginners หรือสำหรับผู้เริ่มต้น/มือใหม่ ก็คือข้อมูลข้อโต้แย้งต่างๆ เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ที่คนทั่วไปอาจยังไม่ค่อยรู้  เช่น คำว่าพลังงานปรมาณู “เพื่อสันติ” นั้น ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาหลังการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมา เพื่อเบี่ยงประเด็นให้คนเข้าใจว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้มีอันตรายเหมือนอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งที่ในความจริงแล้ว ก็สามารถก่อหายนะได้ไม่ต่างกัน ระเบิดนิวเคลียร์ของอินเดียนั้นพัฒนามาจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเพื่อการวิจัยด้วยซ้ำ  นอกจากนั้นยังทำลายมายาคติทั้งหลายที่ทำให้พลังงานนิวเคลียร์ดูราวกับเป็นคำตอบบริสุทธิ์ในทางวิทยาศาสตร์ที่จะมาแก้ปัญหาความต้องการใช้ไฟฟ้าของมนุษย์ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว นิวเคลียร์ก็เป็นแค่เรื่องธุรกิจค้าๆ ขายๆ ที่พ่วงไปกับการเมืองระหว่างประเทศ ในแง่เทคโนโลยีก็ยังมีปัญหา ธุรกิจนี้กำลังจะตายทำให้ต้องย้ายฐานมาหลอกขายประเทศโลกที่สาม นักวิทยาศาสตร์ก็งี่เง่าได้ องค์กรอย่างทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเอเยนต์ขายของ ฯลฯ

ในการพิมพ์พากย์ภาษาไทยเป็นครั้งที่สองนี้ มี ชื่นชม สง่าราศี กรีเซ่น นักวิชาการหัวกะทิรุ่นใหม่ มาทำหน้าที่บรรณาธิการปรับปรุงแก้ไข และเขียนคำนำที่สามารถประมวลข้อมูลมาเชื่อมโยงกับสถานการณ์พลังงานของไทยได้เป็นอย่างดี

8. 1968: เชิงอรรถการปฏิวัติ
ผู้เขียน: ธเนศ วงศ์ยานนาวา
สำนักพิมพ์: สมมติ
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก 2552
141 หน้า/150 บาท

อาจนับเป็นงานเขียนเล่มแรกๆ ในโลกภาษาไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ “May 1968” หนึ่งในหลักเขตสำคัญของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่สื่อตะวันตกขนานนามว่า “The Year That Rocked the World” ซึ่งครบวาระ 40 ปีไปเมื่อขวบปีที่แล้ว  ในท่ามกลางวัฒนธรรม “บุปผาชน” แห่งทศวรรษ 1960 ปี 1968 มีเหตุการณ์สำคัญหลักๆ ที่เกิดขึ้นคือการประท้วงสงครามเวียดนามหลังจุดตึงเครียดของสงครามนับแต่เทศกาลตรุษเวียดนามเป็นต้นมา, การประท้วงใหญ่ของนักศึกษาและกรรมกรในฝรั่งเศส, และ Prague Spring เหตุการณ์ที่โซเวียตบุกเชคโกสโลวาเกีย

หนังสือเล่มนี้นำพาข้อวิเคราะห์ ข้อถกเถียง และเกร็ดต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้และความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการเมืองหลังเหตุการณ์จากโลกตะวันตกมาสู่ผู้อ่านชาวไทย เช่น การเสื่อมความนิยมของการเมืองแบบยึดอำนาจรัฐหรือมีพรรค (คอมมิวนิสต์) ชี้นำ, การเฟื่องฟูของการเมืองบนท้องถนน ขบวนการทางสังคมแบบใหม่หรือ “สังคมแห่งการประท้วง”, ความคิดเรื่องการปฏิวัติที่ไม่ได้ผูกขาดโดยการต่อสู้ทางชนชั้นอีกต่อไป, การยกย่องให้ชีวิตประจำวันเป็นรากฐานของการต่อสู้ทางการเมือง ฯลฯ

9. โลกใบเขียวของคิ้วหนา
ผู้เขียน: “คิ้วหนา”
ภาพประกอบ: ดนัยพันธ์ วัชรีวงศ์
สำนักพิมพ์: มูลนิธิโลกสีเขียว
พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552
248 หน้า/160 บาท

“คิ้วหนา” เป็นนามปากกาของ ฐิตินันท์ ศรีสถิต นักเขียนสารคดีด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเคยประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร โลกสีเขียว ส่วนที่สะดุดใจที่สุดในจดหมายแนะนำจากสำนักพิมพ์ คือข้อความประชาสัมพันธ์ว่า “เป็นหนังสือเล่มแรกของมูลนิธิฯ ที่ใช้ ‘หมึกถั่วเหลือง’ ซึ่งไม่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมอย่างหมึกทั่วไป และพิมพ์บนกระดาษที่ไม่ใช้คลอรีนเป็นส่วนผสมในการฟอกขาว เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลเสียต่อสุขภาพของช่างพิมพ์”

ช่างเป็นหนังสือของคนเมืองชั้นกลางที่พยายามยืนยันว่า “การใช้ชีวิตสีเขียวในเมืองใหญ่นั้น เป็นไปได้” และ “ไม่ได้เป็นแค่ตัวหนังสือที่เอาแต่บอกให้คนอื่นทำฝ่ายเดียว แต่เธอได้ลงมือลงแรงลงใจทำจริงอย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวา” ตามที่สำนักพิมพ์แถลงไว้จริงๆ …ขอแสดงความนับถือ