คาฟคาเขียนให้ใครอ่าน? และใครควรอ่านคาฟคา?

ไม่ว่าคาฟคาจะยิ่งใหญ่เพียงไร สำหรับผู้เขียน คาฟคาไม่ใช่นักเขียนในดวงใจ เพราะผู้เขียนมีนักเขียนคนอื่นที่มีอิทธิพลต่อความคิดและความรู้สึกซึ่งครองใจมากกว่า แต่ถ้าจะต้องถูกเนรเทศไปเกาะร้างและให้เอาหนังสือไปอ่านได้ หนึ่งในสิบเล่มที่จะติดตัวไปคืองานของคาฟคา ไม่ใช่เพราะอ่านแล้วหัวใจฟูลอยหรือจมดิ่ง แต่เพราะเรื่องของเขาเหมือนเป็นโจทย์ให้ต้องเก็บมาครุ่นคิด ตรึกตรอง ลองให้ความหมาย จึงต้องอ่านแล้วอ่านอีก เมื่อเอาไปเล่มหนึ่งจึงเสมือนได้เอาไปหลายเล่ม

งานประพันธ์ของคาฟคามีไม่มาก ถ้าแยกจดหมายและบันทึกอนุทินออกเป็นชุดต่างหาก ก็อาจแบ่งพอเป็นสังเขปได้สองชุดหลัก ชุดหนึ่งคือนวนิยาย ซึ่งแต่ละเรื่องก็เป็นนวนิยายขนาดสั้นเสียมากกว่า ส่วนอีกชุดหนึ่งเรียกได้ว่ารวมเรื่องสั้น ซึ่งบางเรื่องยาวเพียงห้าบรรทัดก็มี สำหรับผู้ศึกษาคาฟคาอย่างถวายหัว ก็คงจำเป็นต้องพยายามพิจารณางานลักษณะต่างๆทุกชุดของเขา และต่างผู้เชี่ยวชาญก็ต่างเน้นความสำคัญเฉพาะด้านที่จะอธิบายงานของคาฟคาต่างกันไป เช่น บ้างก็เน้นสภาพแวดล้อมในระดับจุลภาค คือครอบครัวและสังคมชาวยิว-เยอรมันในกรุงปราก บ้างก็ให้ความสำคัญกับระดับมหภาคคือสถานการณ์ของรัฐโบฮีเมีย ในภาวะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่บรรดาพระประมุขของชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์ที่เปี่ยมไปด้วยพระบรมราชานุภาพอย่างกษัตริย์ไกเซอร์ วิลเฮมของเยอรมัน, จักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟ แห่งอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี, พระเจ้าซาร์นิโคลัส จนถึงกษัตริย์กระจอกๆอย่างกษัตริย์เฟอร์ดินันแห่งบัลกาเรีย (ฉายา “จอมจิ้งจอก”) ฯลฯ ที่ต่างใช้ความฉ้อฉล เล่ห์เพทุบาย หักเหลี่ยมทางการทูตและระดมกำลังทหารสู้รบกัน สังเวยชีวิตสามัญชนเพื่อค้ำบัลลังก์ตน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาฟคาบางคนเห็นว่า แม้ว่าคาฟคาจะไม่ถูกเกณฑ์ไปรบ แต่สภาพการเมืองและการสงครามเช่นนั้นมีอิทธิพลต่อความคิดและจินตนาการของคาฟคาอย่างสำคัญ แต่ไม่ว่าจะให้ความสำคัญแก่ระดับจุลภาค หรือมหภาค หรือประกอบกัน คงขึ้นกับลักษณะของแต่ละเรื่องมากกว่าจะเป็นมาตรการกำหนดไปได้อย่างตายตัว

แต่สำหรับเรา (ที่มีหัวใจรักชาติโดยปริยายเพราะเกิดเป็นคนไทยซึ่งโดยตัวมันเองถือว่าโชคดีได้อยู่ใต้ร่มศักดาทหารที่รักชาติยิ่งชีพ เสียสละวิญญาณนักรบมาบริหารประเทศ ฯลฯ) การอ่านคาฟคามิได้สำคัญกว่ากิจกรรมอื่นในชีวิต เช่น ปั่นจักรยาน คอยทดแทนคุณน้ำข้าวเจ้าบ้าน ยืนตรงรำลึกถึงการเสียสละของบรรพบุรุษหลังอาหารเช้าเย็น ฯลฯ เราก็เลือกอ่านคาฟคาตามอัธยาศัย

มีผู้สันทัดกรณีงานของคาฟคานายหนึ่ง (Jorge Luis Borges) เห็นว่าเรื่องสั้น (หรือเรื่องแสนสั้น) ของคาฟคานั้น ให้ความสำคัญกับโครงเรื่อง (plot) และบรรยากาศได้ดีกว่างานนวนิยาย จึงเป็นบทประพันธ์ที่เหนือกว่า ผู้เขียนไม่อยู่ในฐานะจะแสดงความเห็นเสริมหรือค้านได้ ทำได้แต่เพียงขอลองแปลสองเรื่องแสนสั้นของคาฟคามาเสนอ คือ “เอกสารประวัติศาสตร์” (A leaf from the past) และ “เบื้องหน้ากฎหมาย” (At the door of the law)