ไม้ซีกฤๅจะงัดไม้ซุง

เรื่องจริงอิงนิยาย หรือเรื่องขายไม่ออก
เรื่อง แจ็คผู้ฆ่ายักษ์ บ้าง ดาวิทและกับโกลิอัท บ้างนั้น เป็นเพียงนิทานหลอกเด็กและเรื่องเล่าสอนใจ หรือว่าเคยมีเหตุการณ์ที่ฝ่ายอ่อนแอกว่าสามารถเอาชนะฝ่ายที่มีพลังมากกว่าเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง เรื่องแรกนั้นสามารถจัดเข้าประเภทเป็นนิทานก่อนนอน ทำนอง ‘เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ (ถ้าใช้ปัญญาก็สู้ยักษ์ได้) ส่วนเรื่องที่สองซึ่งมาจาก
พระคริสตธรรมคัมภีร์นั้น เป็นเรื่องราวที่สอนให้คนยึดมั่นในคุณธรรม (ให้เชื่อในพลังของพระผู้เป็นเจ้า แล้วจะได้รับรางวัลเป็นชัยชนะในท้ายที่สุด) ไม่ว่าทั้งสองเรื่องนี้จะเป็นเรื่องแต่งหรือจะเป็นเรื่องที่มาจากประสบการณ์จริง ก็ชวนให้ประหวัดถึงเหตุผลรองรับว่า ทำไมผู้คนจึงถ่ายทอดเรื่องทำนองนี้กันต่อเนื่องมารุ่นแล้วรุ่นเล่า หรือว่าเป็นเพียง
เรื่องเล่า เรื่องละเมอ ที่แสดงถึงความปรารถนาของผู้คนกระนั้นหรือ
*
การที่ฝ่ายด้อยพละกำลังกว่า มีชัยต่อฝ่ายที่มีพลังอำนาจเหนือกว่านั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติวิสัย ฉะนั้นจึงป่วยการที่จะผูกเรื่องพื้นๆ หรือเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วตามสามัญสำนึกมาเป็นเรื่องเล่านิทาน ทว่าก็ในเมื่อกฎเกณฑ์ทั่วไปถือว่าฝ่าย
เป็นรองย่อมพ่ายแพ้ ส่วนการได้ชัยชนะถือเป็นกรณียกเว้น จึงมีประเด็นชวนให้คิดว่า ทำไมฝ่ายที่เป็นรองถึงไป
หาญสู้กับฝ่ายที่เหนือกว่า ที่น่าสนใจ (น่าสนเท่ห์) ขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อฝ่ายที่เป็นรองรู้ทั้งรู้อยู่แก่ใจว่าจะต้องพ่ายแพ้อย่างไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ ทำไมจึงยังจะสู้ กรณีทำนองนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องแต่งตามจินตนาการ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และไม่ว่าจะเป็นกรณีทั่วไปหรือกรณียกเว้น ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่างสมัย ต่างเทศะ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมในชาติต่างๆ เป็นการต่อสู้ที่มิใช่เพียงเรื่องความคิด หรือ ‘ดีแต่ปาก’ (ซึ่งย่อมต่างจาก ‘ดีแต่พูด’ อยู่บ้าง) แต่เป็นการสู้ทั้งที่ไม่มีทางสู้ ที่เหนืออื่นใดคือรู้อยู่แก่ใจว่าผลลัพธ์คือความตาย ความหายนะ
*
ความหายนะอาจจะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ได้ แต่กระทั่งในบรรดาผู้ที่เชื่อในการกลับชาติมาเกิด ก็คงไม่มีใครคิดไปว่าถึงจะต้องตายก็ยังเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสหน้าอีก ถ้าเช่นนั้น เขาสู้ทำไม ? ทำไมเขาถึงยอมตาย ?
*
“ต้นตระกูลไทย ใจช่างเหี้ยมหาญ …
นายจันหนวดเขี้ยวกับนายทองแก้ว ทำชื่อเสียงเพริดแพร้ว ไว้ลายเลือดไทย”

กรณีบ้านบางระจันก็เป็นกรณีหนึ่งที่เข้าลักษณะนี้ เพียงแต่น่าเสียดายที่เราไม่ค่อยมีข้อเท็จจริงและความรู้มากพอ เรื่องวีรกรรมชาวบ้านบางระจันถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งจนเป็นเพลงปลุกใจไปเสียแล้ว มิฉะนั้นก็คงจะนำมาอภิปรายกันเป็นล่ำเป็นสันได้ และเราอาจได้ฟังความคิดเห็นของนักเทศน์และนักสันติวิธี ว่าพวกเขาจะกล่าวหานายจัน
หนวดเขี้ยว นายทองแสงใหญ่ นายทองแก้ว นายทองเหม็น ฯลฯ ว่าเป็นพวกนิยมความรุนแรงหรือไม่ รวมถึงการที่พระอาจารย์ธรรมโชติปลุกเสกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ชาวนาควบควายไปสู้ทหารกรำศึก ซึ่งเสมอเหมือนไปฆ่าตัวตายหมู่นั้น หมิ่นเหม่ศีลข้อไหนบ้างหรือเปล่า หรือว่าคำถามเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องพิจารณา ก็ในเมื่อสมัยรัตนโกสินทร์นี้ก็มีพระไปเจิมเครื่องบินทิ้งระเบิด ไปพรมน้ำมนต์ อวยชัยให้พรทหารไทยไปรบในเวียดนาม ‘สมณเจ้า’ เหล่านี้แตกฉานในคำสอนของพระพุทธองค์จนสามารถตีความไปได้หรือว่า การกระทำที่เสมอกับสนับสนุนให้คนไปตายหรือไปฆ่าคนอื่นนั้นก็เป็นกิจของสงฆ์ หรือเอื้อต่อการไปสู่นิพพานได้เหมือนกัน (สาธุ…) แล้วการฆ่าหมู่ที่ราชประสงค์และใน
วัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นี้ ทางมหาเถรสมาคม พระนักปราชญ์ใหญ่น้อยทั้งหลาย รวมทั้ง
พระจอมเสน่ห์ที่ชอบเทศน์เป็นต่อยหอยในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาสังคมไทยนั้น ไปจำวัดหรือติดกิจนิมนต์อยู่ที่ไหนจนถึงป่านนี้ หรือว่าการแสดงความเห็นเรื่องการฆ่าคนกลางกรุงนั้นมิใช่กิจของสงฆ์ หรือว่าพบ ‘ทฤษฎีใหม่’ ว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน”
*
ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของชาวบางระจัน ถ้าเป็นจริงตามตำนาน ก็ควรค่าแก่การคารวะ แต่ทั้งนี้คงไม่ใช่เพราะ “ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่” เพราะประโยคแรกนั้นไม่ได้เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของไทย ประโยคที่สองไม่ใช่สัจพจน์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ ส่วนประโยคที่สามขัดกับข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งเห็นชัดๆ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่กองทัพไทยศิโรราบแก่ทหารญี่ปุ่น ถึงกระนั้น แม้เนื้อเพลงชาติจะทะแม่งๆ
เนื้อร้องจะไม่รับกับทำนอง ไม่คล้องกับความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย แต่ตราบใดที่ยังไม่ถึงกับมีเนื้อหาที่สื่อถึงการชอบอวดเก่งกับเพื่อนบ้านที่อ่อนแอกว่าทางทหาร และให้ทหารต่างชาติมาใช้ดินแดนเป็นฐานทัพ โดยไม่ถือว่าเข้าข่ายละเมิดอธิปไตยที่พวกรักชาติชอบพ่นหลังอาหาร เราก็คงยืนร้องกันไปโดยไม่ถึงกับต้องตะขิดตะขวงใจจนเกินทน
*
เรื่องราวในทำนองเดียวกับวีรกรรมบ้านบางระจันนั้น เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลกหลายครั้งหลายครา บางเรื่องก็
เก่าแก่มาหลายพันปี เช่นเรื่องราวของชาวมิโล (Milo) ที่ต่อสู้กับกองทัพของเอเธนส์ อันเป็นเรื่องคลาสสิกที่ได้รับการจาระไนไว้อย่างเห็นอกเห็นใจโดยธูซิดิดิส (Thucydides)ผู้เป็นชาวเอเธนส์ บางเรื่องก็ใกล้สมัยปัจจุบัน เช่น ชนชาติดั้งเดิมในอเมริกาสู้กับทหารเจ้าอาณานิคมและคนอพยพจากยุโรป ชาวอินเดียสู้กับทหารอังกฤษ ชาวติมอร์
ตะวันออกสู้กับกองทัพอินโดนีเซีย หรือในปัจจุบันที่ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาสู้กับกองทัพอิสราเอล ชาวกะเหรี่ยง ชาวคะฉิ่นสู้กองทัพพม่า ชาวอาฟกันบางเผ่าพันธุ์กำลังสู้กองกำลังของสหรัฐฯ และโซเวียตก่อนหน้านี้ในอัฟกานิสถาน ฯลฯ และอีกหลายต่อหลายกรณีที่อาจไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก เช่น กองทัพทหารม้าของโปแลนด์ที่ควบเข้าต้านทานกองทัพรถถังของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 และเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวโปแลนด์ก็ลุกขึ้นสู้การยึดครองของกองทัพเยอรมันและของโซเวียต อันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘การลุกขึ้นสู้ในกรุงวอร์ซอว์’ (Warsaw Uprisings) ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา หรือการต่อสู้ของชนชาติต่างๆ แถบคาบสมุทรบัลข่านที่พยายามปลดแอกจากกองทัพเยอรมันอันเกรียงไกร ก็สามารถจัดเข้าเป็นประเภทของการต่อสู้ด้วยหลักการเดียวกัน ฯลฯ
*
คนเหล่านี้มิได้ตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีทางเลือก การตัดสินใจต่อสู้ คือทางที่เขาเลือก จะเรียกว่าเขาเลือกหนทางการฆ่าตัวตายก็ย่อมได้ แต่ความตายของเขามาจากความตั้งใจมั่น ความเด็ดเดี่ยว ความซื่อถือสัตย์ต่อตนเอง ยอมสละชีวิตเพื่อจุดหมายที่สูงส่ง ไม่ว่าจะเพื่อชนชาติ เพื่อความเชื่อ ความศรัทธา เพื่อศักดิ์ศรีเกียรติภูมิ เพื่อรักษาชีวิตของ
ผู้อื่น จนถึงเพื่อรักษาประโยชน์ของตน ความพร้อมจะยอมตายนี้มาจากการไตร่ตรองด้วยสติสัมปชัญญะแล้ว หากจะกล่าวหาเขาเหล่านั้นว่าตกอยู่ใต้อิทธิพลอุดมการณ์ชาตินิยมที่เหลวไหล หรือหูมืดตามัวทำไปด้วยความโกรธแค้น ถูกสถานการณ์พาไป ไม่มีวัฒนธรรมสันติ ไม่ใช้เหตุผลมองทางเลือกอื่นๆ อย่างการสานสนทนา ฯลฯ ก็สามารถยกเป็นหัวข้อสำหรับเทศนาโปรดสัตว์กันไปได้
***