โกโกล: ผู้ชวนให้ขำกับความขมของชีวิต

ถ้าโกโกล (Nikolai Gogol) ไม่ได้เขียนอะไรไว้อีกเลยนอกจากเรื่องสั้น “เสื้อโค้ต” ชื่อของเขาก็ยังคงอยู่ในทำเนียบนักประพันธ์เรืองนามอยู่ดี ในบรรดาหนังสือคัดสรรเรื่องสั้นเอกของรัสเซียและของโลก “เสื้อโค้ต” มักเป็นหนึ่งในนั้น กระนั้นก็มียกเว้นอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เพราะโกโกลตกเวทีประวัติศาสตร์วรรณกรรมไปแล้ว บรรณาธิการผู้รวบรวมคัดสรรจะออกตัวด้วยเหตุผลว่า เป็นเพราะมีพิมพ์อยู่กว้างขวาง สามารถหาอ่านได้ทั่วๆ ไปอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมารวมไว้ในเล่มนี้

โกโกลไม่ได้ฝากเฉพาะ เสื้อโค้ต เป็นมรดกไว้ในขุมทรัพย์วรรณศิลป์ งานประพันธ์ของเขามีหลายเล่ม เล่มที่ส่งประกายฉายแสงมานาน และก็คงไม่หมองไปอีกนานแสนนาน คือนวนิยายเรื่อง ชีวิตสูญ (Dead Souls) และไม่ใช่เฉพาะเพียงเรื่องสั้นและนวนิยายเท่านั้นที่โกโกลได้เจียระไนไว้เป็นเพชรเม็ดงาม เขายังเขียนบทละครไว้อีกสองเรื่อง ซึ่งเรื่องหนึ่ง คือ สารวัตร ก็ขึ้นทำเนียบประมวลบทละครที่ยิ่งใหญ่ของรัสเซียและของโลกเช่นเดียวกับงานประพันธ์ประเภทอื่น

ในชั่วอายุเพียง 43 ปี (1809-1852) ถือว่าโกโกลเขียนงานไว้มาก หลังจากทำงานไม่เป็นโล้เป็นพายอยู่ช่วงหนึ่ง อย่างน้อยก็น่าประทับใจในเชิงปริมาณ ส่วนในเชิงคุณภาพนั้น ก็เกือบจะไม่มีงานชิ้นใดที่ไม่ถึงขีดเลยแม้ว่าบางเรื่องอาจได้รับความนิยมน้อย เขาเป็นหนึ่งในนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่จำนวนน้อยคนที่แสดงความเป็นเลิศตั้งแต่ประเดิมงานประพันธ์ กระทั่งเชคอฟ (Anton Chekhov) ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในสถานะที่สูงส่งเพียงไรทั้งในฐานะผู้ประพันธ์บทละครและเรื่องสั้น แต่งานช่วงแรกของเขาก็ยังถูกนักวิจารณ์บางคนเรียกว่า “complete crap”

งานเรื่องแรกของโกโกลคือ “คืนก่อนวันนักบุญจอห์น” (“St. John’s Eve”) นั้น ระทึกขวัญจนไม่อยากอ่านซ้ำ ถ้าเป็นบรรณาธิการที่ได้รับต้นฉบับนี้ ก็คงอยากขอดูตัว ไผหนอ คิดได้ยังไงถึงเขียนได้อย่างนี้ จินตนาการที่ว่าพิสดารพันลึกอย่าง โป (Edgar Allan Poe) คงต้องชิดซ้าย เมื่อรู้ว่าผู้เขียนเป็นเด็กหนุ่มอายุ 21 ปี ก็กล้าทำนายอนาคตว่า ถ้าออกสู่เพศบรรพชิต คงทำความเสื่อมเสียให้ศาสนา แต่ถ้าดำรงชีวิตฆราวาส จะได้เป็นนักประพันธ์เอกของโลก

โกโกลยิ่งเขียนก็ยิ่งดีจนถึงเล่มสุดท้าย คือ ชีวิตสูญ ถ้าไม่นับงานในช่วงท้ายของชีวิตที่เขาเองทำลายไป ซึ่งผู้อุทิศตัวศึกษางานโกโกลเชื่อกันว่าเป็นภาค 2 ของ ชีวิตสูญ บรรดาผู้นิยมโกโกลยังเสียดายกันไม่หาย แต่จะทำอย่างไรได้ เราคงต้องทำใจ และพอใจกับงานเพียงเท่าที่เขาฝากไว้

ความที่งานของโกโกลมีทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และบทละคร ชื่อเขาจึงอยู่ในหลายวงการ ยกเว้นก็แต่กวีนิพนธ์ แม้เขาจะเรียกงานประพันธ์บางชิ้นของเขาว่าเป็น “poema” ซึ่งหมายถึง narrative poem หรือร้อยกรองเล่าเรื่อง (ซึ่งอาจพอเปรียบได้กับ “นิทานกลอน” ของเรา) แต่คงไม่มีใครมองเช่นนั้น ไม่แม้กระทั่งเป็น “ร้อยแก้วทำนองเพลง” (แปลจากวลี “lyrical prose”) ซึ่งเตอร์เกเนียฟ (Ivan Turgenev) เป็นมือหนึ่งในสมัยนั้น (หรือกระทั่งสมัยนี้ ?) เนื่องจากไม่เข้าลักษณะร้อยกรองไร้ฉันทลักษณ์ หรือรูปแบบใดๆ เลย ยกเว้นว่าเป็นร้อยกรองแบบโกโกล ตามคำนิยามของโกโกล

ถ้ากล่าวอย่างไม่เกรงใจผู้ที่เทิดทูนนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่คนอื่นๆ จะฟันธงก็ได้ว่าโกโกลเป็นเลิศในการประพันธ์ทั้งสามประเภท คงมีนักประพันธ์น้อยคนที่ปรีชาสามารถหลากหลายเช่นนี้ นักเขียนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้อ่านชาวไทย เช่น กามูส์ (Albert Camus) ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) ผู้เขียนทั้งบทละคร เรื่องสั้นและนวนิยาย ก็อาจพอเทียบเคียงได้ แต่เกรงว่านักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสทั้งสองนี้ ถึงแม้ว่าชื่อเสียงยังคงได้ผ่านหูผ่านตากันอยู่ แต่ดูแนวโน้มความสนใจทั่วๆ ไปในทศวรรษที่ผ่านมา ประกายที่เคยเฉิดฉายในช่วงหนึ่งอาจสิ้นแววไปตามรสนิยมของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

โกโกลมิได้กลืนหายไปตามคลื่นเวลา งานของเขาได้รับการแปลและพิมพ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ที่เขาวายชนม์ไปแล้ว 150 ปี ก็ไม่มีทีท่าว่าจะเสื่อมมนต์ขลังสำหรับทั้งนักเขียน นักอ่านและนักวิจารณ์ จนผู้เขียนกล้าเสี่ยงเสียเงินพนันว่า ระหว่างชื่อ Gogol กับ Google นั้นชื่อใดจะยืนยงกว่ากัน และจะเป็นการโอ่อวดชวนให้เขม่นหรือไม่ถ้าจะกล่าวตามที่ โดนัล แฟงเกอร์ (Donald Fanger) ผู้สันทัดกรณี ลงความเห็นไว้ ว่าโกโกลคือ “นักเขียนแนวชวนหัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัสเซีย” (Russia’s greatest comic writer) ทั้งกล้ากล่าวอีกว่า “อาจจะเถียงได้ว่าโกโกลเป็นผู้สร้างสรรค์งานประพันธ์ร้อยแก้วที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัสเซีย” (arguably Russia’s greatest creator of prose) คำยกย่องวลีแรกนั้นกล่าวอย่างมั่นใจ “เต็มร้อย” ส่วนวลีหลังค่อนไปทางสงวนท่าทีอยู่บ้าง ทั้งนี้คงเพราะมีผู้เข้าข่ายเป็น “มือหนึ่ง” ของการรังสรรค์งานร้อยแก้วอยู่หลายคน

ถึงกระนั้นก็มิได้หมายความว่าโกโกลเป็นมนุษย์วิเศษ หยิบจับอะไรก็สำเร็จเลิศ เขาเคยพยายามเป็นนักแสดง แต่ไปไม่รอด เคยเขียนงานที่อาจเรียกว่า “กวีนิพนธ์” แต่ไม่มีแววเป็นกวีกับเขาได้ ถึงขนาดพยายามกวาดซื้อร้อยกรองที่ลงทุนพิมพ์ด้วยเงินตัวเองนี้กลับมาเผาทิ้ง (ทำไมถึงไม่คิดก่อนพิมพ์?!?) ถ้าเขารู้ว่าต่อมาตัวเองจะเป็นเพชรน้ำหนึ่งในวงวรรณกรรม ถึงจะมีงานเขียนที่มีค่าเพียงใช้ห่อกล้วยแขกก็ไม่น่าเสียหาย ย่อมมีนักวิชาการวรรณกรรมนำมาศึกษาอยู่ดี อย่างน้อยก็เพื่อตอบคำถามว่าไฉนคนที่เป็นอัจฉริยะขนาดนั้นจึงเขียนเหมือนนักเรียนทำการบ้านส่งครูอย่างเสียมิได้ แต่ถ้างานนั้นควรเป็นเชื้อเพลิงอย่างที่เขาทำ ก็ยังพอทำเนาที่เขาเคารพผู้อ่าน แฟนคลับโกโกลก็น่าจะขอบคุณเขาที่ทำให้ไม่เสียสตางค์กับข้อเขียนขายกล้วยแขกเพียงเพราะชื่อคนเขียน การทำลายงานเขียนของตัวเองครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายหรือครั้งเดียวในชีวิต ในบั้นปลายชีวิตก็ยังทำอีก พฤติกรรมเยี่ยงนี้คงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับนักเขียนที่สมควรไปทำอย่างอื่น เช่น คิดทฤษฎีใหม่ (ใหม่) เสนอเรื่องเศรษฐกิจ เนรมิตวลีศีลธรรม ให้โอวาทประชาชน ฯลฯ แต่ขออย่าได้มีนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนไหนทำลายบทประพันธ์งานแรกและงานสุดท้ายของตัวเองแบบเขาอีกเลย

โกโกลเคยกระทั่งจะเอาดีทางสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยและใช้เส้นจนได้เป็นอาจารย์ช่วยสอน แต่ถ้ายังเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ต่อไป งานวิชาการของเขาอาจเข้าทำนองวาดไส้เดือนให้เป็นพญางู เชิดชูจักรพรรดิจนเป็นจอมอัจฉริยะ อวดวาทะแทนข้อมูลที่ไม่เข้ากรอบ ชอบใช้เหตุผลแบบสีข้างเข้าถู ฯลฯ ทำนองเดียวกับอีกหลายคนในรัสเซียสมัยนั้น (และสมัยนี้ในวงวิชาการบางประเทศ) โกโกลอาจถึงขั้นประกาศว่าพบรหัสไขความลับของการกระทำของมนุษย์ทั้งปวงก็ได้ ถ้านำไปประกอบกับการที่เขาหลุดโลกไปในบั้นปลาย ถ้าไม่ควรลบหลู่เรื่องพรหมลิขิต ก็นับว่าเป็นโชคของโลกวรรณศิลป์ที่เขามาเอาดีทางนี้ และก็คงเป็นโชคสำหรับโลกวิชาการไปพร้อมกันด้วย