โรงแรมศักดิ์สิทธิ์

วิวาทะหนึ่งในวงการสถาปัตยกรรมที่มักกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางวัฒนธรรมตามสื่อต่างๆ อยู่
เสมอ คือการออกแบบโรงแรมโดยหยิบยืมใช้องค์ประกอบทางศิลปะสถาปัตยกรรมของอาคารทาง
ศาสนาที่มีนัยของความศักดิ์สิทธิ์มาเป็นเครื่องมือในการสร้างรูปแบบสถาปัตยกรรม

ตัวอย่างสำคัญของวิวาทะนี้ คือกรณีใหญ่โตเมื่อหลายปีก่อนของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล
ดาราเทวี (The Mandarin Oriental Dhara Dhevi) จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการจัดวางผังและก่อสร้าง
อาคารต่างๆ โดยลอกเลียนรูปแบบสถาปัตยกรรมวัดของทางล้านนา ไทยใหญ่ และพม่า นักวิชาการ
ล้านนาพร้อมทั้งชาวบ้านลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน ร้อนไปจนถึงผู้ใหญ่ของบ้านเมือง
ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาวัฒนธรรมของชาติต้องมาสอบสวน มีการตั้งคณะกรรมการซึ่งเต็มไปด้วย
ผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมไทยเข้าไปตรวจสอบ มีการจัดเสวนาใหญ่โตจากหลายหน่วยงาน ในหัวข้อ
เกี่ยวกับ “ฐานานุศักดิ์ในงานสถาปัตยกรรม” หรืออีกกรณีเมื่อราวปีที่แล้วของ ฎ-ชฎาบีช รีสอร์ท
บาย เดอะ ซี (Dor-Shada Beach Resort by the Sea) ที่พัทยา หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัว
ข่าวถึงการสร้างอาคารที่คล้ายคลึงวัดมากจนชาวบ้านรับไม่ได้ อาทิ หน้าทางเข้ามีซุ้มประตูโขงเป็น
จุดหมายตา ห้องพักเป็นหลังๆ คล้ายกุฏิสงฆ์ และคลับเฮาส์ที่ถูกออกแบบให้คล้ายวิหารล้านนา

ผมคิดว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวแท้จริงแล้วมีแกนกลางของปัญหา (ถ้าจะมองให้เป็นปัญหา) คือ
การใช้ “รูปสัญญะ” ที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งทางความหมายที่สังคมไทยในอดีตเคยนิยามเอาไว้ โดย
โรงแรมเหล่านั้นได้ละเมิดรูปสัญญะที่สังคมไทยคิดว่ามีความหมายตายตัวแน่นอนแล้วว่าแทน
“โลกศักดิ์สิทธิ์” (The Sacred) แต่โรงแรมกลับมองว่าเป็นแค่รูปสัญญะของงานศิลปะที่แสดง
เอกลักษณ์ไทย ดังนั้นจึงนำมาใช้ใน “โลกสาธารณ์” (The Profane) เพื่อผลประโยชน์เชิงธุรกิจ
ปรากฏการณ์ความเดือดเนื้อร้อนใจมากบ้างน้อยบ้างของสังคมไทยต่อกรณีข้างต้น ผมคิดว่า
เป็นความกังวลต่อเส้นแบ่งของโลกศักดิ์สิทธิ์กับโลกสาธารณ์ที่ไม่ชัดเจนและพร่าเลือนขึ้นเรื่อยๆ
คำถามก็คือ ความพร่าเลือนไม่ชัดเจนของเส้นแบ่งระหว่างโลกศักดิ์สิทธิ์กับโลกสาธารณ์ใน
แวดวงสถาปัตยกรรมนี้ มันน่าตื่นตระหนกแก่สังคมอย่างไรนักจนถึงกับต้องออกมาต่อต้าน การจะ
ตอบคำถามนี้ เราคงต้องมาทำความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของมโนทัศน์ว่าด้วยโลกศักดิ์สิทธิ์กับโลก
สาธารณ์อย่างสังเขปก่อนเป็นอันดับแรก