อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม: การเมืองเรื่องที่ตั้งและความทรงจำบนถนนราชดำเนิน

เช้าวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 ท่ามกลางบรรยากาศที่สื่อมวลชนรายงานว่าเป็นไปอย่างเงียบเหงา มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมได้จัดงานรำลึก 19 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 บริเวณกรมประชาสัมพันธ์เก่า ในพื้นที่ที่ได้รับมอบให้ก่อสร้างเป็นอนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม โดยมีญาติของผู้เสียชีวิตและสูญหายจากเหตุการณ์รวมถึงผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์เข้าร่วมงานประมาณ 50 คน ภายในงาน นายโคทม อารียา ในฐานะประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ได้ทำหน้าที่ประธานในพิธีการนำโกศบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิตเข้าบรรจุสู่ฐานอนุสรณ์สถานที่จัดเตรียมไว้

นายปริญญา เทวานฤมิตกุล ผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในเหตุการณ์เมื่อ 19 ปีก่อน ได้ตั้งความหวังว่า ตัวสถาปัตยกรรมอนุสรณ์สถาน ซึ่งได้ประกวดแบบไปแล้วเมื่อราวปี 2545-2546 จะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ในปี 2555 หลังจากที่ต้องล่าช้าไปกว่า 8 ปี

สาเหตุที่ล่าช้า นายปริญญาอธิบายว่า “…หลังจากที่ กทม. ยกพื้นที่บริเวณกรมประชาสัมพันธ์เดิมให้เป็นพื้นที่ก่อสร้าง จนถึงขณะนี้แบบก่อสร้างยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ดังนั้น ทางเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีความเห็นตรงกันว่าควรสร้างอนุสรณ์สถานก่อน เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับสภาพแวดล้อมใกล้เคียง…”

ตรงข้ามกับบรรยากาศการจัดงานอันแสนเงียบเหงาข้างต้น

บนที่ดินแปลงถัดไปซึ่งเคยเป็นพื้นที่อาคารกรมประชาสัมพันธ์เดิมเช่นเดียวกัน เพียงแต่เจ้าของที่ดินแปลงนี้คือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กำลังเต็มไปด้วยบรรยากาศที่คึกคักในการดำเนินการโครงการประกวดแบบ “ลานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้า-อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”

โครงการนี้มีที่มาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 22 กันยายน 2552 ซึ่งอนุมัติตามข้อเสนอของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษถนนราชดำเนิน (กบพร.) โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ กบพร. เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และในเวลาต่อมา สศช. ได้ว่าจ้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศิลปากรให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาดำเนินการโครงการประกวดแบบ

หากมองอย่างผิวเผิน ทั้งสองโครงการดูจะไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแต่อย่างใด อีกทั้งยังเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกันมาก จนมองแล้วไม่น่าจะมีความเชื่อมโยงอะไรถึงกัน

แต่ในความเป็นจริง ทั้งสองโครงการมีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้งมากกว่าที่คิด อันเป็นความเกี่ยวข้องในเชิงการแข่งขันและแย่งชิงการกำหนดนิยามชุดความทรงจำทางประวัติศาสตร์บนถนนราชดำเนิน
****