บันไดแห่งความรัก : เธอลิขิตชีวิตบนหลุมศพสมบูรณาญาสิทธิราชย์

cover pic

“ในที่สุดปี พ.ศ. 2475 ได้มาถึง.”

นวนิยายเรื่อง น้องสาว ของ “อาษา” พูดถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ไว้สั้นๆเพียงประโยคเดียวดังได้ยกมาข้างต้น โดยไม่สนใจจะขยายความใดๆ จากนั้นก็กระโดดข้ามไปเล่าเหตุการณ์อีกหกปีต่อมา สำหรับผู้อ่านคนไทยส่วนใหญ่ อย่างน้อยก็ในช่วงที่นวนิยายเล่มนี้เผยแพร่ในปี 2481 ล้วนทราบดีว่าอะไรที่มาถึงในปี 2475 การพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อย่างเสียไม่ได้ในที่นี้ อาจมองได้ว่าเพื่อชี้โดยนัยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวในทางปฏิบัติแล้วมิได้ก่อผลสะเทือนใดๆต่อชีวิตคนธรรมดาสามัญ ตัวละครเอกเพียรและน้องสาวยังคงยากจนแร้นแค้นดังที่เคยเป็นมาและจะเป็นต่อไป อย่างไรก็ตาม การพาดพิงถึงปี 2475 แม้จะพูดเหมือนไม่อยากพูด แต่ย่อมแสดงว่า พ.ศ. 2475 เป็นหมุดหมายในสังคมไทยจนมิอาจไม่พูดถึง

ความจริงอันน่าขมขื่นก็คือ แม้จะเป็นหมุดหมายสำคัญยิ่ง แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ของคณะราษฎร กลับมีสถานะไม่ต่างจาก “หมุดคณะราษฎร” ที่ลานข้างพระบรมรูปทรงม้า นั่นคือถูกเหยียบย่ำและมองข้ามอย่างไม่น่าให้อภัย กล่าวเฉพาะด้านวรรณกรรม จะพบว่ามีงานวรรณกรรมน้อยชิ้นที่พูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว มีงานสองชิ้นที่รู้จักกันดีที่ถือว่านำเสนอการปฏิวัติ 2475 คือ สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และ แลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา ซึ่งเป็นการเสนอจากมุมมองและจุดยืนที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะงานของศรีบูรพา สันนิษฐานได้ไม่ยากว่าเขียนขึ้นเพื่อตอบโต้กับ สี่แผ่นดิน อย่างไรก็ตาม มีวรรณกรรมเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 อีกชิ้นที่น่าจะได้ศึกษาอย่างจริงจัง เพราะเป็นงานที่เขียนขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ผิดกับงานของศรีบูรพาและ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปร่วม 20 ปี วรรณกรรมที่ว่านี้ก็คือ บันไดแห่งความรัก ของสันต์ เทวรักษ์ นามปากกาของสันต์ ท. โกมลบุตร ชื่อเดิมคือ บุญยืน โกมลบุตร หนึ่งในสมาชิกคณะสุภาพบุรุษ ที่มีศรีบูรพาเป็นหัวเรือใหญ่

บันไดแห่งความรัก
พิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ ติดต่อกันจนจบตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. – 2 ม.ค. 2475 (ในสมัยนั้นถือวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่) นั่นหมายความว่านวนิยายเล่มนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรกหลังการปฏิวัติ 2475 เพียงสามเดือน