จิตร ภูมิศักดิ์ ในความทรงจำของใครและอย่างไร

จิตรนั้นเป็นผู้ “มีการก่อเกิดสองครั้ง” ครั้งแรกเขาเกิดและดับไปตามวิถีของนักต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตยในระบอบเผด็จการ ครั้งที่สองเป็นกำเนิดแห่ง “ตำนาน จิตร ภูมิศักดิ์” นับเป็นตำนานที่ได้รับการกล่าวขานจนถึงยุคปัจจุบัน วันเกิดครั้งที่สองนี้อุบัติขึ้นในวันที่คนไทยลืมได้ยาก คือ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

หากจิตร ภูมิศักดิ์ สามารถ “เกิดสองครั้ง” ได้จริงตามข้อสังเกตข้างต้นของ เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส ในหนังสือ ความคิดแหวกแนวของไทย: จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน เขาก็ย่อมตายได้สองครั้งเช่นกัน ปัจจุบันได้ข้อสรุปแล้วว่าจิตรเสียชีวิตครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ส่วนมรณกรรมครั้งที่สองของเขานั้นคงมิอาจระบุวันเดือนปีได้อย่างชัดเจน

ปรากฏการณ์หนึ่งที่อาจเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงการตายครั้งที่สองของเขา ก็คือกรณีที่บทกวีและบทเพลงปฏิวัติหลายชิ้นของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกนำไปขับขานบนเวทีชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในช่วงปี 2551 เพื่อขับไล่รัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องจนถึงสมัยที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี สำหรับคนที่รู้จักจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะเจ้าของผลงาน โฉมหน้าของ
ศักดินาไทยฯ
อันลือลั่น และในฐานะนักรบแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ที่ได้พลีชีพเพื่อการปฏิวัติภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การได้ยินบทกวีและบทเพลงของจิตรบนเวทีชุมนุมของกลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัดอย่าง พธม. ที่ประกาศตัวอย่างภาคภูมิใจว่า “เราจะสู้เพื่อในหลวง” ย่อมเป็นประจักษ์พยาน
ยืนยันความตายครั้งที่สองของจิตร ภูมิศักดิ์ อย่างมิต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม สำหรับอีกหลายคนแล้ว การยกย่องสดุดีจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะนักคิดนักเขียนคนสำคัญบนเวทีชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 ที่เรียกร้องให้รัฐบาลจากค่ายทหารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ภายใต้คำขวัญ “ไพร่ล้มอำมาตย์” ก็อาจถือว่าคือการเกิดใหม่เป็นครั้งที่สามของจิตร ภูมิศักดิ์

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วไซร้ จิตร ภูมิศักดิ์ อาจต้องเกิดและตายอีกหลายครั้ง จนกว่าวิกฤตการณ์สังคมไทยในยุคเปลี่ยนผ่านที่ดำรงอยู่นี้จะคลี่คลายไปทางใดทางหนึ่ง

[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในวารอ่าน]