สัจนิยมมหัศจรรย์ไทย ในคาถาภูมิปัญญาท้องถิ่น

แม้จะมีต้นกำเนิดในละตินอเมริกา แต่วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ได้แพร่ขยายกลายเป็นกระแสวรรณกรรมโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีในปี 1982 วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ก็ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางไปทั่วทั้งโลก โดยได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษจากนักเขียนในหมู่ประเทศโลกที่สามและประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก ตลอดจนนักเขียนชนกลุ่มน้อยในประเทศต่างๆ ที่เล็งเห็นว่าสัจนิยมมหัศจรรย์เป็นแนวการเขียนที่เอื้อให้พวกเขาสามารถสถาปนาอัตลักษณ์ความเป็นชาติหรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การนิยามหรือการบงการของอดีตเจ้าอาณานิคมในกรณีแรก และของวัฒนธรรมกระแสหลักของชนกลุ่มใหญ่ของสังคมในกรณีหลัง

ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ชิ้นสำคัญๆ จึงมิได้จำกัดตัวอยู่แต่วรรณกรรมละตินอเมริกันอีกต่อไป
นักเขียนหลายชาติหลายภาษาต่างหันมาเดินรอยตามนักเขียนละตินอเมริกัน สร้างสรรค์งานสัจนิยมมหัศจรรย์ของ
ชาติตน อาทิ วรรณกรรมอินเดียภายใต้การนำของ ซาลมาน รัชดี (Salman Rushdie) โดยเฉพาะในนวนิยายเรื่อง Midnight’s Children ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากนวนิยายเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความ
โดดเดี่ยว
(One Hundred Years of Solitude) ของ การ์เซีย มาร์เกซ วรรณกรรมแอฟริกา เช่น เบ็น โอครี (Ben Okri) ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง The Famished Road และวรรณกรรมแอฟริกันอเมริกัน โดยเฉพาะงานของ โทนี่
มอร์ริสัน (Toni Morrison) เช่น Song of Solomon และ Beloved

คลื่นของกระแสสัจนิยมมหัศจรรย์โดยเฉพาะกระแสความนิยมงานเขียนของการ์เซีย มาร์เกซ อันมีศูนย์กลางอยู่ที่นวนิยายเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว อันโด่งดังของเขา ได้แผ่วงกว้างมาไกลถึงอ่าวไทย แม้จะไม่ใช่คลื่นยักษ์อย่างคลื่นสึนามิ แต่ก็เป็นระลอกคลื่นที่ค่อยๆ สั่งสมพลังทีละเล็กละน้อย จนในที่สุดสามารถสถาปนาเป็นกระแสวรรณกรรมสำคัญกระแสหนึ่งในแวดวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย เป็นที่กล่าวขานในหมู่นักเขียน นักวิจารณ์ และ
นักวิชาการวรรณกรรม และปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้สัจนิยมมหัศจรรย์กลายเป็นประเภทหนึ่งของวรรณกรรมร่วมสมัยไทยตราบจนทุกวันนี้คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และนิตยสาร โลกหนังสือ ที่เขาเป็นบรรณาธิการ โดยในระยะแรกเริ่มช่วงทศวรรษ 2520 หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 สัจนิยมมหัศจรรย์ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของวรรณกรรมร่วมสมัยในยุคที่กระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิตถูกตั้งคำถาม ท้าทาย และต่อต้านอย่างหนัก ทั้งจากนักเขียนที่เคยปวารณาตัวเป็นนักเขียนแนวเพื่อชีวิตเอง และจากนักวิจารณ์และนักวิชาการสายเสรีนิยมและอนุรักษนิยม เมื่อผนวกกับการหวนไปเชิดชูประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น และการหันไปแห่แหนวัฒนธรรมชุมชนในช่วงกลางทศวรรษ 2530 วรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ในท้ายที่สุดก็สามารถสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นวรรณกรรมทางเลือกที่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นคำตอบให้กับสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์

ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า คำว่า “magic (หรือ magical realism)” นั้นมีการใช้แตกต่างกันไป ตั้งแต่ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษโดยไม่แปล ส่วนที่แปลเป็นภาษาไทยก็มีอยู่หลายสำนวน เช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี แปลว่า “อัตถนิยมมายา”
บ้างเรียกว่า “สัจนิยมมายา” และ “อัตถนิยมอัศจรรย์” ก็มีเรียก สำหรับผมเมื่อนำเสนอบทวิเคราะห์ลักษณะเด่นของวรรณกรรมแนวนี้ ได้ใช้คำว่า “สัจนิยมมหัศจรรย์” ซึ่งเป็นคำที่รองศาสตราจารย์นพพร ประชากุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ล่วงลับ ได้กรุณาช่วยบัญญัติให้ ในที่นี้จึงจะใช้คำว่า “สัจนิยมมหัศจรรย์” เป็นหลัก คำบัญญัติอื่นๆ หากปรากฏในข้อความที่นำมาอ้างอิงจะคงไว้ตามเดิม
****