วรรณาคดีของศรีดาวเรือง

ศรีดาวเรืองเป็นนักเขียนสตรีผู้ยังมีชีวิตอยู่ที่ถูกมองข้ามและได้รับการประเมินค่าโดยวงการวรรณกรรมศึกษาในเมืองไทยไว้ต่ำเกินจริงอย่างไม่น่าให้อภัย

ผลงานเรื่องสั้นอันโดดเด่นหลายเล่มของเธอควรจะได้รับรางวัลซีไรต์มากกว่าหนึ่งครั้ง แต่ก็พลาดไปทุกครั้ง ฝีมือการประพันธ์ที่มีผู้นำไปเทียบกับนักเขียนฝรั่งเศสนามอุโฆษอย่างกุสตาฟ โฟลแบร์ต์ น่าจะทำให้เธอได้รับการประกาศเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ แต่จนทุกวันนี้เธอยังเป็นเพียงนักเขียนหญิงที่เขียนหนังสือของตัวเองอยู่เงียบๆ สลับกับการพิมพ์ต้นฉบับงานเขียนของผู้อื่น หรือไม่ก็ออกไปดายหญ้า ทำสวน ปลูกต้นไม้ และเลี้ยงหมาจรจัด
หลายตัวที่พลัดหลงเข้ามาในบริเวณบ้านพักของเธอ

ในทางกลับกัน สำหรับแวดวงไทยศึกษาต่างแดนแล้ว ศรีดาวเรืองกลับมีสถานะที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในบรรดา
นักเขียนไทยร่วมสมัยด้วยกัน ผลงานของเธอได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและศึกษาวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจังโดยนักวิชาการต่างชาติชื่อดังจากทั้งสองฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ไม่ว่าจะเป็น เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล, ซูซาน เคปเนอร์ (Susan Kepner) อาจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และเรเชล แฮร์ริสัน (Rachel Harrison) อาจารย์ประจำวิทยาลัยบูรพศึกษาและแอฟริกันศึกษา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน

ผลงานจำนวนมากที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมีอาทิเช่น เรื่องสั้น “แม่พระคงคา เถ้าแก่บัก และหมา”
ใน In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era แปลและเขียนคำนำโดย เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ถือเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นไทยสมัยใหม่ที่กลายเป็นตำราคลาสสิกของนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาเรื่องไทย ส่วนหนังสือที่รวมเรื่องสั้นภาษาอังกฤษของศรีดาวเรืองโดยเฉพาะมีอยู่ 2 เล่มได้แก่ A Drop of Glass and Other Stories แปลและเขียนคำนำเชิงวิเคราะห์โดยเรเชล แฮร์ริสัน ซึ่งเน้นไปที่เรื่องสั้นยุคแรกของศรีดาวเรือง และ Married to the Demon King: Sri Daoruang and Her Demon Folk แปลและเขียนคำนำเชิงปริทัศน์โดยซูซาน เคปเนอร์ เล่มนี้เลือกแปลงานชุด “ชาวยักษ์” ซึ่งศรีดาวเรืองนำตัวละครใน รามเกียรติ์ มาสร้างใหม่ในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย นอกจากนี้เรื่องสั้นอีกหลายเรื่องของศรีดาวเรืองยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างชาติอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และมาเลย์

“ดิฉันไม่ใช่สุชาติ สวัสดิ์ศรี”

เส้นทางและสถานะความเป็นนักเขียนของศรีดาวเรืองตลอดช่วงเวลาร่วมสี่สิบปีมิได้ปูลาดด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยความคดเคี้ยว วกวน ลึกลับยอกย้อน มีขึ้นมีลง และน่าตื่นตาตื่นใจจนสามารถจะกลายเป็นหนึ่งในตำนาน
นักเขียนไม่แพ้นักเขียนไทยชื่อดังในอดีตอาทิเช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, มนัส จรรยงค์ หรือ “ไม้ เมืองเดิม”

นับตั้งแต่เรื่องสั้นเรื่องแรกของเธอได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ประจำเดือนมกราคม – มีนาคม 2518 นามปากกา “ศรีดาวเรือง” คือวรรณมาลัยจรุงกลิ่นหอมแรงและลึกลับ สร้างความพิศวงชวนลุ่มหลง ชวนติดตามค้นหา ถึงขนาดมีการคาดเดาไปต่างๆ นานาว่าใครคือเจ้าของนามปากกาศรีดาวเรือง บ้างก็ว่าฝีมือขนาดนี้ต้องเป็นนักเขียนเก่ารุ่นลายครามระดับ “นายผี” หรือ “รพีพร” ที่หวนกลับมาเขียนหนังสือในามปากกาใหม่ บ้างก็ว่าเป็นกลุ่มนักเขียนฝ่ายซ้ายที่หมุนเวียนกันเขียนภายใต้นามปากกาศรีดาวเรือง หลายคนเชื่อว่าเป็นฝีมือของสุชาติ สวัสดิ์ศรี แม้จะสันนิษฐานกันไปคนละทิศคนละทาง แต่ที่แน่ๆ ไม่มีใครเฉลียวใจว่าเจ้าของนามปากกาจะเป็นผู้หญิงที่มีพื้นเพเป็นคนบ้านนอก มีอาชีพรับจ้างสารพัดชนิด ตั้งแต่ลูกจ้างร้านอาหาร คนงานในโรงงานแก้ว คนใช้บ้านฝรั่ง คนงานเย็บผ้าโหล ฯลฯ

ศรีดาวเรืองได้รับการ(เ)ปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อนิตยสาร โลกหนังสือ ฉบับเดือนเมษายน 2522 นำรูปของเธอมาขึ้นหน้าปก พาดหัวตัวใหญ่ “ศรีดาวเรือง ‘มิติใหม่’ ของกรรมาชีพ” พร้อมบทวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องสั้นของเธออย่างละเอียดในชื่อ “ศรีดาวเรื่อง มิติใหม่ของกรรมาชีพ ‘ดิฉันจบ ป. 4 …’ จากชนบท โรงงาน สู่ถนนวรรณกรรม” ของ จำรัส ถนอมมิตร และธีรา ยุทธวรรณ โดยบรรณาธิการแถลงไว้ในเชิงอรรถว่า “บทความวิจารณ์ชิ้นนี้ ผู้เขียนภายนอกได้เขียนส่งมาให้กองบรรณาธิการ โลกหนังสือ พิจารณา ความเห็นที่ปรากฏหาใช่เป็นของกองบรรณาธิการ โลกหนังสือ โดยตรงไม่” อย่างไรก็ตาม เป็นที่เปิดเผยในภายหลังว่าผู้เขียนบทความดังกล่าวคือ รัศมี เผ่าเหลืองทอง (เพื่อความสะดวก ในที่นี้เมื่ออ้างถึงผู้เขียนบทความชิ้นนี้ จะเรียก รัศมี) หนึ่งในกองบรรณาธิการประจำนิตยสาร
โลกหนังสือ นั่นเอง

ที่ว่าเป็นการ “(เ)ปิดตัว” ก็เพราะแม้บทความวิจารณ์ชิ้นนี้จะนำเสนอภาพถ่ายพร้อมบอกเล่าเรื่องราวชีวิตบางส่วนของศรีดาวเรือง แต่ก็มิได้ทำให้ผู้อ่านทราบแน่ชัดว่าศรีดาวเรืองคือใคร ที่รู้แน่ๆ คือศรีดาวเรืองมิใช่นายผี หรือรพีพร หรือสุชาติ สวัสดิ์ศรี เพราะเธอเป็นผู้หญิง อีกทั้งมิใช่ปัญญาชนฝ่ายซ้ายหรือคนในแวดวงวรรณกรรมแต่อย่างใด เพราะเธอมีพื้นเพมาจากบ้านนอก เรียนจบแค่ชั้นประถมสี่ก่อนจะเข้ามายึดอาชีพขายแรงงานในกรุงเทพฯ บทความนี้จึงทำหน้าที่ทั้งเปิดตัวและปิดตัวศรีดาวเรืองไปพร้อมกัน เรามาทราบในภายหลังจากคำบอกเล่าของสุชาติ
สวัสดิ์ศรีว่าส่วนหนึ่งที่ต้องเปิดตัวเพราะปรากฏว่ามีผู้ฉวยโอกาสแอบอ้างตัวเป็นศรีดาวเรืองเตรียมจัดพิมพ์รวมเรื่องสั้นของเธอออกจำหน่าย จึงจำเป็นต้องประกาศให้รู้กันทั่วไปว่าศรีดาวเรืองเป็นใคร หรือที่ถูกคือศรีดาวเรืองไม่ใช่ใคร แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ต้องการจะเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามหรือตัวตนทั้งหมดให้สาธารณะรับรู้จึงทำให้การเปิดตัวในครั้งนี้มีลักษณะลักปิดลักเปิด

เวลาล่วงเลยมาอีก 4 ปีหลังจากนั้น ผู้อ่านทั่วไปจึงได้ทราบเป็นที่แน่ชัดว่าศรีดาวเรืองคือใคร เมื่อนิตยสาร ถนนหนังสือ ฉบับเดือนธันวาคม 2526 ทำสกู๊ปหน้าปกเรื่อง “สุชาติ สวัสดิ์ศรี บนรถไฟสายวรรณกรรม” พร้อมกับเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่าศรีดาวเรืองคือคู่ชีวิตของสุชาติ สวัสดิ์ศรี นามจริงของเธอคือ วรรณา นามสกุลเดิมคือ ทรรปนานนท์ โดยทั้งคู่ได้รู้จักกันหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่นาน และได้ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันแต่ไม่เป็นที่เปิดเผยกระทั่งในหมู่เพื่อนฝูง จนปลายปี 2518 จึงมีพิธีแต่งงานอย่างเป็นทางการในหมู่คนสนิท ในบทสัมภาษณ์ ศรีดาวเรืองยอมรับว่าสุชาติมีบทบาทสำคัญในแง่การให้กำลังใจและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้เธอกล้าเขียนงานอันเป็นความใฝ่ฝันที่เธอเคยมีมาตั้งแต่สมัยเด็กแต่ร้างราไปนานนับแต่เรื่องสั้นที่เธอในวัย 15 ขวบเคยส่งไปลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไม่ได้รับการตีพิมพ์

การเปิดตัวในครั้งที่สองนี้แม้จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามและความเป็นมาของศรีดาวเรืองมากขึ้น แต่ก็เป็นการพูดถึงศรีดาวเรืองในฐานะศรีภรรยาของสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นสำคัญ ผู้อ่านที่ต้องการรู้จักเรื่องราวชีวิตของ
ศรีดาวเรืองในฐานะนักเขียนต้องรอไปอีกสองปี จนกระทั่ง ถนนหนังสือ ฉบับเดือนมีนาคม 2528 ได้นำรูป
ศรีดาวเรืองมาขึ้นปก พร้อมสกู๊ปประจำเล่ม “ศรีดาวเรือง จากกรวดทรายไร้ค่า มาเป็น ‘แก้วหยดเดียว’ ” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวชีวิตศรีดาวเรืองโดยละเอียด พร้อมบันทึกชีวิตส่วนตัวบางส่วนและบทสัมภาษณ์ อันอาจจะถือได้ว่าเป็นการเปิดตัวศรีดาวเรืองอย่างเป็นทางการและอย่างครบถ้วนครอบคลุมเป็นครั้งแรก หลังจากเปิดๆ ปิดๆ มาก่อนหน้านี้แล้วสองครั้งสองครา หากพิจารณาว่าเรื่องสั้นเรื่องแรกของเธอได้รับการเผยแพร่ในปี 2518 จะเห็นว่ากว่าชีวิตและงานของของวรรณา ทรรปนานนท์ ในฐานะเจ้าของนามปากกาศรีดาวเรืองจะได้รับการเปิดเผยอย่างเต็มภาคภูมิก็ต้องใช้เวลาถึง 10 ปี

สำหรับผู้ที่รู้จักศรีดาวเรืองเป็นการส่วนตัว ย่อมทราบดีถึงความเป็นคนช่างเก็บตัวและชมชอบการใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ ของศรีดาวเรือง ดังนั้นจึงไม่ประหลาดใจแต่อย่างใดที่ศรีดาวเรืองจะเลือกปิดบังชื่อเสียงตัวเองและก้มหน้า
ก้มตาเขียนงานอย่างต่อเนื่องนานนับ 10 ปี โดยไม่อีนังขังขอบว่าจะมีสักกี่คนที่รู้ว่า วรรณา ทรรปนานนท์ คือ
ศรีดาวเรือง และแม้จะเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปแล้วว่าศรีดาวเรืองคือใคร เธอก็ยังดำรงตนเป็นนักเขียนอยู่เงียบๆ อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งนี้ไม่น่าจะเป็นเพราะเธอเจียมตน แต่เป็นการเลือกจัดวางตนในตำแหน่งที่เธอพึงพอใจมากกว่า ในคำให้สัมภาษณ์นิตยสาร ถนนหนังสือ เมื่อถูกถามว่า “รู้สึกอย่างไรบ้างที่บางคนพูดว่า ไม่เชื่อหรอกที่
ศรีดาวเรืองจะเขียนหนังสือเอง เพราะจบแค่ประถมสี่” คำตอบของเธอคือ “รู้สึกเหมือนได้รับคำชมมากกว่า เพราะว่าเอ๊ะ..แค่ปอสี่ก็เขียนหนังสือได้ ไม่น่าเชื่อนะ อย่างนี้เขาก็ชมเรา ไม่ได้ดูถูก ข้อนี้ไม่เป็นปมด้อยหรอกนะ ถ้าใครพูดจบปอสี่บ่อยๆ มีความรู้สึกแหม…เรานี่กำลังชูปริญญา ข้าพเจ้าศาสตราจารย์ดอกเตอร์” จะเห็นได้จากคำตอบของเธอว่า ระดับการศึกษาอย่างเป็นทางการมิได้เป็นปัญหาใดๆ แก่เธอทั้งสิ้น หัวใจสำคัญของการเป็นนักเขียนมิได้อยู่ที่วุฒิการศึกษา แต่อยู่ที่คลังคำและคลังทางปัญญาของนักเขียนมากกว่า ซึ่งในกรณีนี้ ศรีดาวเรืองเธอได้สั่งสมคลังทั้งสองมายาวนาน ดังจะพบว่าเธอเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาแต่เด็ก “อ่านหนังสือแตกมาตั้งแต่อยู่ ป. 2- ป. 3 และเผอิญทั้งพ่อทั้งแม่ก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ก็หนังสือประเภทเก่าๆ อย่าง ลักษณวงศ์ โคบุตร อะไรพวกนี้ พอโตขึ้น ออกไปทำงานก็อ่านนิยายตามนิตยสาร แต่ไม่มีตังค์ซื้อเองหรอกได้แต่ขอยืมเขามา” วงการวรรณกรรมไทยเองต่างหากที่ไปหลงติดอยู่กับเรื่องวุฒิการศึกษาของนักเขียนและทึกทักไปเองว่าคนเรียนจบ ป. 4 จะไม่มีปัญญาเขียนหนังสือ ดังจะพบว่าในการเปิดตัวศรีดาวเรืองสามครั้งสามคราดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ประเด็นเรื่องเรียนจบประถมสี่ดูจะ
เป็นจุดเด่นที่ถูกนำมาขยายความมากเป็นพิเศษ ในบทความวิจารณ์ของรัศมีถึงกับนำคำพูด “ดิฉันจบ ป. 4” มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบทความ หรือในสกู๊ปเรื่องประจำปกของ ถนนหนังสือ ก็ตั้งชื่อให้เตะตาผู้อ่านว่า “ศรีดาวเรือง จากกรวดทรายไร้ค่า มาเป็น ‘แก้วหยดเดียว’” แน่นอนว่าในบริบทที่บทความทั้งสองชิ้นนี้ออกเผยแพร่ คติวรรณกรรมเพื่อชีวิตแม้จะอ่อนแรงลงแล้ว แต่ความเชื่อที่ว่าวรรณกรรมที่ดีต้องนำเสนอภาพอันเข้มข้นของชีวิตคนชั้นล่างในสังคมยังได้รับการยอมรับและถือเป็นเป้าหมายอันพึงปรารถนาของวรรณกรรม วุฒิการศึกษา ป. 4 จึงเป็นข้อเด่นมากกว่าจะเป็นข้อด้อยของนักเขียน ดังที่มี่นักวิจารณ์ยกย่องให้เธอเป็นแม็ก ซิม กอร์กี้ ของวงการวรรณกรรมไทย แต่เมื่อวรรณกรรมเพื่อชีวิตและวรรณกรรมเกี่ยวกับชีวิตคนยากคนจนเริ่มไม่มีที่ยืนในวงการวรรณกรรม ดูเหมือนที่ยืนของศรีดาวเรืองในฐานะนักเขียนก็พลอยหดแคบลงไปด้วย เพราะความที่คนมักจะนำเธอไปผูกติดอยู่กับความเป็นนักเขียนเรียนจบ ป. 4

วุฒิการศึกษาไม่อาจเป็นดัชนีชี้วัดฝีมือการเขียน หรือเป็นตัวบ่งชี้ระดับสติปัญญาของนักเขียนก็จริงอยู่ (ยิ่งถ้าหากคำนึงถึงความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของระบบการศึกษาที่ทำให้สำนวน “ยิ่งเรียนยิ่งโง่” ดูเป็นความจริงมากขึ้นทุกทีแล้ว นักเขียนที่มีวุฒิการศึกษาสูงๆ น่าจะถูกเคลือบแคลงสงสัยมากกว่านักเขียนที่มีวุฒิต่ำด้วยซ้ำไป) กระนั้นก็ตาม หากพิจารณาในเชิงสังคมวิทยาวรรณกรรม โดยเฉพาะในบริบทสังคมอุปถัมภ์แบบไทยๆ ภูมิหลังทางการศึกษาของ
ศรีดาวเรืองเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อการกำหนดสถานะและตำแหน่งแห่งที่ของเธอในวงการวรรณกรรม ดังที่แอนเดอร์สันได้ตั้งข้อสังเกตอันแหลมคมไว้ว่า

ด้วยความที่ไม่มีกลุ่มสังกัด ไม่มีเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียน และไม่มีรุ่น และสำนึกดีว่าเธอมีชีวิตที่แตกต่างโดย
สิ้นเชิงจากนักเขียนมีชื่อคนอื่นๆ ของไทย เธอได้สร้างลีลาเฉพาะตัวขึ้นมา ซึ่งลักษณะของความเป็นภววิสัยอย่างเคร่งครัดและเฉยเมยเช่นนี้ ชวนให้เรานึกถึงโฟลแบร์ต์มากเสียยิ่งกว่านักเขียนร่วมสมัยของเธอคนใด

ในสายตาของแอนเดอร์สัน การศึกษาระดับชั้น ป. 4 มิได้เป็นอุปสรรคต่อการเขียนหนังสือ แต่ที่สำคัญยังทำให้เธอได้เปรียบนักเขียนคนอื่นๆ ในแง่ที่เปิดโอกาสให้เธอสามารถสร้างลีลาการเขียนเฉพาะตัวขึ้นมา ดังจะได้อภิปรายโดยละเอียดในภายหลัง แต่ข้อสังเกตของแอนเดอร์สันทำให้เราตระหนักเช่นกันว่า ท่ามกลางแวดวงวรรณกรรมที่ถูกครอบงำด้วยนักเขียนชาย และจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะในหมู่พรรคพวกเพื่อนพ้องกลุ่มเดียวกันรุ่นเดียวกัน การเป็น
ผู้หญิง จบ ป. 4 มีอาชีพเป็นกรรมกร คือกำแพงขวางกั้นและกีดกันให้เธอต้องเป็นคนนอก หรืออย่างดีที่สุดก็เป็นคนชายขอบของวงการวรรณกรรม อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เธอเป็นคู่ชีวิตของสุชาติ สวัสดิ์ศรี “สิงห์ สนามหลวง” แห่งวงการวรรณกรรมไทย ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอ็นไซโคลพีเดียวรรณกรรมเคลื่อนที่ เป็นนักเขียน และเป็นบรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรมระดับแนวหน้าของยุค ในแง่นี้ต้องถือว่าศรีดาวเรืองยืนอยู่ ณ ศูนย์กลางของวงการวรรณกรรม จะเห็นได้ว่าตำแหน่งแห่งที่ความเป็นนักเขียนของศรีดาวเรืองจึงมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใครโดยแท้ กล่าวคือเธออยู่ที่ชายขอบและที่ศูนย์กลางของวงการวรรณกรรมในเวลาเดียวกัน
****