ภาระของการอ่าน – ภารกิจของ อ่าน

ครั้งหนึ่งในการบรรยายรับเชิญในชั้นเรียนวรรณคดี วลาดิมีร์ นาโบคอฟ ลองให้นักศึกษาตอบ ‘ควิซ’

จงเลือกคำตอบสี่ข้อจากทั้งหมดต่อไปนี้ เพื่อตอบคำถามว่านักอ่านที่ดีควรเป็นอย่างไร

๑) นักอ่านควรเป็นสมาชิกชมรมหนังสือใดชมรมหนึ่ง
๒) นักอ่านควรโยงตัวเองเข้ากับพระเอกหรือนางเอกของเรื่อง
๓) นักอ่านควรมุ่งความสนใจไปที่แง่มุมทางสังคม-เศรษฐกิจของเรื่อง
๔) นักอ่านควรจะชอบเรื่องประเภทที่มีการกระทำและบทสนทนามากกว่าเรื่องที่ไม่มี
๕) นักอ่านควรดูหนังที่สร้างจากหนังสือเล่มที่อ่าน
๖) นักอ่านควรเป็นเช่นหน่ออ่อนของนักเขียน
๗) นักอ่านควรมีจินตนาการ
๘) นักอ่านควรเป็นผู้มีความทรงจำ
๙) นักอ่านควรมีพจนานุกรม
๑๐) นักอ่านควรเป็นผู้มีสัมผัสทางศิลปะ

คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่เน้นไปที่ความเชื่อมโยงทางอารมณ์ การกระทำ และแง่มุมทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และแน่นอนว่า ผู้อ่านยังต้องมีจินตนาการ ความทรงจำ พจนานุกรม และสัมผัสทางศิลปะด้วย !

ปัญหายังไม่จบแค่นั้น นาโบคอฟเสนอว่า “เราไม่อาจ อ่าน (read) หนังสือ เรามีแต่ต้อง อ่านใหม่ หรือ อ่านซ้ำ (reread)” เพราะในการอ่านรอบแรก สายตาของเราต้องทำงานหนักในการกวาดจากซ้ายไปขวา จากบรรทัดสู่บรรทัด จากหน้าสู่หน้า “เป็นขั้นตอนในทางกาละและเทศะของการเรียนรู้ว่าหนังสือเล่มหนึ่งๆนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร” ในขณะที่เวลาดูภาพเขียนเราไม่ต้องเคลื่อนสายตาไปตามทิศทางเช่นนั้น เราสามารถจะรับภาพทั้งภาพนั้นเข้ามาก่อนแล้วค่อยละเลียดกับมันในรายละเอียด ทว่าสำหรับหนังสือ เรามีแต่ต้องอ่านซ้ำเป็นรอบที่สอง ที่สามหรือที่สี่ ค่อยๆทำความคุ้นเคยและเก็บรับไปทีละขั้น (อย่างไรก็ตาม นาโบคอฟเตือนไว้ — อย่าได้สับสนระหว่างสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า ‘ตาเนื้อ’ กับ ‘ตาใน’ [the mind])

โอ ทำไมมันยากอย่างนี้

แต่นาโบคอฟคนนี้ ย่อมมิได้เจตนาจะมองการอ่านเป็นกลไกอันแห้งแล้ง (อย่าลืมว่าเขาคือ “ผู้ชายของโลลิต้า”) เขาเพียงแต่พยายามจะหาคำอธิบายที่ลึกซึ้งว่า ศิลปะอย่างวรรณกรรมนั้น ควรค่าที่จะเรียกร้องการลงแรงจากผู้อ่านในการเข้าถึงอย่างไร สำหรับเขาแล้ว การอ่าน มาดามโบวารี โดยมีข้อสรุปไว้แล้วว่านี่คือนวนิยายที่ประณามความเป็นกระฎุมพีนั้น ย่อมเป็นการอ่านที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อผู้ประพันธ์ “เราต้องจำไว้ว่างานศิลปะนั้นคือการรังสรรค์โลกใบใหม่ขึ้นมาเสมอ ฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำเป็นอันดับแรกก็คือศึกษาโลกใหม่ใบนั้นอย่างถี่ถ้วนที่สุด เข้าหามันราวกับว่ามันคือสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่หมาด หาได้มีอันใดเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับโลกที่เราได้รู้จักมาแล้ว ต่อเมื่อได้ศึกษาโลกใบใหม่นี้อย่างถี่ถ้วนแล้วเท่านั้น – และเท่านั้นจริงๆ เราจึงค่อยสำรวจความเชื่อมโยงกับโลกใบอื่นๆ และความรู้แขนงอื่นๆได้”

มีทฤษฎีอีกมากมายว่าด้วยการอ่าน การวิจารณ์ ที่เริ่มต้นด้วยการให้ผู้อ่านถอยระยะออกมา เพื่อพิจารณางานอันเป็น “ตัวบท” นั้นอย่างเท่าทันต่อสิ่งที่อยู่แวดล้อม เบื้องหลัง หรือกระทั่งโวหารแห่งภาษาโดยตัวของมันเอง การอ่านในความหมายนี้จึงเป็นคล้ายๆการถอดรหัส และอันที่จริงถ้าว่ากันให้ถึงที่สุดแล้ว นี่คือยุคสมัยที่การอ่านในความหมายนี้ถูกนำไปใช้ในปริมณฑลอื่นๆที่พ้นไปไกลกว่าตัวบทในหนังสือแล้วด้วยซ้ำ

แต่ก็ยังมีคำถาม ที่อาจฟังดูไม่เห็นจะเกี่ยวกัน

“เหตุใดวิจารณญาณจึงเกิดในความเพลิดเพลินซาบซึ้งดื่มด่ำไม่ได้ล่ะครับ” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, “การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ”, มติชนสุดสัปดาห์ 2-8 พฤษภาคม 2551)

คำถามนี้ชวนให้นึกถึงในวันที่ว่างเปล่า และในคืนที่ว่างเปล่าเสียยิ่งกว่า เราหลายคนซุกสายตาอยู่ระหว่างหน้าหนังสือ ชั่วขณะที่ไม่มีใครอยู่รายรอบให้ต้องระวังกิริยา ไม่มีสายตาที่คอยตรวจสอบหรือพิพากษา เราเผลอไป เราปล่อยให้แต่ละบรรทัดลากจูงเราไป ละครแห่งชีวิตที่อยู่ตรงหน้าพาเราหวั่นไหว เพริดไปกับอารมณ์เร่งเร้า หรือซึมเศร้าราวกับโศกนาฏกรรมนั้นคือเราหาใช่ใคร วางหนังสือลงแล้วเราอาจยังอึ้งอีกพักใหญ่ ยังอาจนอนไม่หลับกระสับกระส่าย หรือยังตามมารบกวนความคิดยามเราประกอบภารกิจในชีวิตจริงอัน (รู้อยู่ว่า) ไม่ใช่นวนิยาย เราครุ่นคิดต่อไป ทำไม อะไร อย่างไร เราอาจจะอยากหยิบมันกลับมาอ่านอีก อ่านซ้ำ อ่านใหม่ ให้สาแก่ปัญญา ให้สาแก่ใจ จนกว่าจะมีคำตอบอะไรซักอย่างที่พอจะอธิบายกับตัวเองได้ ในกรณีเช่นนี้ อารมณ์ความรู้สึก และสามัญสำนึก ทำงานหนักล่วงหน้าไปแล้วเกินกว่าจะถอยระยะใด สายเกินกว่าจะให้ปาฏิหาริย์แห่งระยะห่างทางวิชาการที่ไหนมาซับน้ำมูกน้ำตา

ในปาฐกถาปิดการประชุมประจำปีมนุษยศาสตร์ว่าด้วย “อารมณ์ อำนาจ ความรู้ ความรู้สึก” อ.นิธิตั้งข้อสังเกตไว้อีกเช่นกันว่า หากเราใช้อารมณ์ความรู้สึกเพื่อเข้าถึงความรู้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือ หรือเป็นวิธีวิทยาในการเข้าถึงความรู้แล้วไซร้ เป็นไปได้หรือไม่ว่ามันจะสั่นคลอนโครงสร้างของอำนาจ ผลประโยชน์ และสิทธิต่างๆที่มีอยู่ในสังคม (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เพราะสิ่งที่เรียกว่าเหตุผล ความรู้ อารมณ์นั้น ในสมัยหนึ่งก่อนหน้ายุคภูมิธรรมขึ้นไป ล้วนไม่ได้แยกออกจากกัน ทว่าหลังจากยุคภูมิธรรมและสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้เอง ที่ได้มีการแยกอารมณ์ออกไปเสียจากความรู้ และทำให้เกิดการถ่ายเทอำนาจมายังคนกลุ่มอีกหนึ่ง “ไอ้คนกลุ่มนี้คือใครนี่ มันมีหลายพวกด้วยกัน แต่ผมใช้ภาษาปัจจุบันแล้วกัน มันง่ายดี ผมว่ามันถ่ายเทมายังกลุ่มที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่านักวิชาการ”

แล้วปัญหาของ อ่าน อยู่ตรงไหน ทำไมต้องตั้งประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา

เนื่องจากไม่เพียงไม่ใช่นักวิชาการ แต่มันยังเป็นผู้หญิง (!) จึงขออ้างอิงสุภาพบุรุษนักคิดอีกสักท่าน

“ข้าพเจ้าไม่อาจเชื่อในคติเก่าๆ ที่ว่าภววิสัยของนักวิชาการกับอัตวิสัยของนักเขียนเป็นสองสิ่งที่แยกจากกันโดยธรรมชาติ ราวกับว่าสวรรค์ได้เลือกเจาะจงประทาน ‘เสรีภาพ’ ให้แก่นักวิชาการ และ ‘แรงบันดาลใจ’ ให้แก่นักเขียน เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้ซ่อนเร้นกลบเกลื่อนข้อจำกัดอันแท้จริงของตน ข้าพเจ้าขอตั้งปณิธานที่จะอยู่ร่วมไปกับความขัดแย้งในตัวเองของยุคสมัยอย่างเต็มตัว” นี่คุณโรล็องด์ บาร์ตส์ แกว่าไว้

หากจะว่าไป ตัวอย่างข้างบนก็เห็นอยู่ถึงบทบาทอันสลับที่กัน ระหว่างนักเขียนที่ใช้การวิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์มาอธิบายการเสพงานศิลปะ กับนักวิชาการที่ออกมาปกป้องอารมณ์ความรู้สึก

ภาวะหว่างเขาควายเช่นนี้ นำมาสู่ความต้องการเปิดพื้นที่ขึ้นมา ตรงไหนซักแห่งระหว่างวิชาการกับสามัญสำนึก ระหว่างความรู้กับความรู้สึก ระหว่างความเป็นวารสารวิชาการ กับนิตยสารเพื่อความบันดาลใจ (หรืออาจถึงขั้นระหว่างความทะเยอทะยานทางวิชาการอย่างผู้ชาย กับอารมณ์ฟูมฟายในห้องของผู้หญิง!)

พื้นที่ของ อ่าน จึงเป็นพื้นที่ของการวิจารณ์ที่เชิงอรรถไม่มีราคาเท่าการกล้าแสดงน้ำเสียง อคติ จุดยืน (และกระทั่งรวมถึงอารมณ์ขันทั้งที่ขื่นและไม่ขื่น) และเป็นพื้นที่ของการวิจารณ์ที่ต้องสามารถตรวจสอบ โต้แย้งได้ และไม่อนุญาตให้ผูกขาดการมี “judgement of taste” ไว้ที่อาวุโสหรือฐานันดรทางวิชาการใด ทว่าทั้งหมดนี้ต้องตั้งอยู่บนฐานของความรับผิดชอบ และรอบด้านในการกลั่นออกมาเยี่ยงงานวิชาการ และเหนืออื่นใด ต้องเป็นการวิจารณ์ที่ไม่บอดใบ้ต่อการเมืองวัฒนธรรมที่ดำเนินไปในโลกที่แวดล้อมการอ่านนั้น แม้จะตระหนักอยู่ร่วมกันถึงข้อจำกัดในสังคมที่เพดานการวิจารณ์ในทางการเมืองวัฒนธรรมต่ำใต้ธุลี

อ่าน เปิดกว้างสำหรับนักอ่านทุกท่าน ที่จะร่วมกันทำให้พื้นที่ของความขัดแย้งในตัวเองนี้ คือมาตรฐานที่ต่างออกไป ด้วยหวังให้เกิดบรรยากาศของวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่เข้มแข็ง สร้างสรรค์ แต่สามัญพอที่จะไม่ต้องกีดกันคนส่วนใหญ่

เรียกมันง่ายๆว่า วิชาการในทางเนื้อหา สามัญสำนึกในทางจุดยืน

หรือถ้าจะให้รื่นหูกว่านั้น อาจเรียกมันว่า งานวิชาการเพื่อความบันดาลใจ

เช่นนั้นแล้ว อ่าน ไหม อ่านไปด้วยกัน