ชีวิตสั้น, ศิลปะสั้นกว่านั้น

[ความเดิมจากตอนที่แล้ว: หลังจากประกาศความล้มละลายทางศีลธรรมและปัญญา รวมถึงความกระจอกงอกง่อยของวัฒนธรรมการวิจารณ์และของวารสารเล่มนี้ไปในบทบรรณาธิการฉบับที่แล้ว ทว่าก็เฉกเช่นปัญญาชนทั่วไป มันยังดำรงสถานะต่อไปอย่างหน้าไม่อาย – มันมีธุระจะพูดกับศิลปินและศิลปะอีกสักหน่อย ]

หน้าหอประชุมแห่งนั้นในเย็นวันนั้น เนืองแน่นไปด้วยคนจำนวนมากที่ราวเก้าสิบเปอร์เซนต์ไม่ใช่คนที่มีสังกัดหรือสถานะเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยแห่งนั้นมากไปกว่าผู้ส่งเสียภาษีให้ประเทศนี้ได้มีมหาวิหารทางปัญญา พวกเขาพากันมาซื้อตั๋วจับจองที่นั่งดูการแสดงดนตรีและกิจกรรมต่างๆ เมื่อที่นั่งด้านในเต็มเสียหมดแล้วพวกเขาก็จับกลุ่มนั่งกันอยู่หน้าจอขาวที่กางอยู่ด้านหน้าเพื่อถ่ายทอดภาพและเสียงจากในหอประชุม มีคนเดินเร่ขายพลาสติกแผ่นบางๆ พิมพ์ลวดลายขนมราคาถูกที่คงเลหลังมาจากโรงงาน อันเป็นภาพอย่างเดียวกันกับที่มักจะเห็นตามที่ชุมนุม ป้าร่างท้วมแกซื้อมาหนึ่งแผ่น ปูเสร็จเรียบร้อยก็เอาถุงข้าวของพะรุงพะรังของแกวางลงไป หันมาเห็นคนยืนหันรีหันขวางแกก็เรียก “อีหนู มานั่งนี่ด้วยกันก็ได้” อีหนูถลันไปนั่งตามคำเชิญด้วยความขอบคุณและความเกรงใจ และเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นที่จะได้เป็นฝ่ายหยิบยื่นบ้าง พอมีคนเร่ขายพัดพลาสติกกลมๆ อันละสิบบาทผ่านมา อีหนูก็ซื้อเสียสองอันแบ่งกันกับป้า เป็นอันว่าหายกัน

มันเป็นกิจกรรมคอนเสิร์ตที่ดูเหมือนว่าจะจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคนตายเหล่านั้น และเพื่อให้กำลังใจแก่คนที่ยังไม่ได้ตายไปตามกัน จำนวนคนที่ล้นหลามบอกถึงความอัดอั้นของเหล่าผู้รอดชีวิต เพราะนี่นับเป็นเพียงกิจกรรมครั้งที่สองหลังการสังหารหมู่ ที่พวกเขาจะได้สวมเสื้อสีเดิมที่เคยสวมอย่างผึ่งผาย แล้วมาพบหน้าค่าตากันใหม่ ไม่สำคัญว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นอะไรและจัดโดยใคร อีหนูเองก็ไม่ต่างไป แค่อยากจะได้มาพบเห็นชีวิตของพวกเขา และได้เห็นพวกเขาที่ยังมีชีวิต

กิจกรรมครั้งนี้น่าสนใจเป็นพิเศษตรงที่มันจะเป็นโอกาสให้ได้เห็นกันจะจะ ถึงการเผชิญหน้าระหว่างศิลปะกับมวลชน เป็นงานอย่างที่ปัญญาชนแอคทิวิสต์เรียกกันว่า “งานวัฒนธรรม” ซึ่งมีดนตรีแบบต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงดนตรีลูกทุ่งคึกคักอย่างในที่ชุมนุม มีกระทั่งจินตลีลาและอีกสารพัดองค์ประกอบ บทกวีที่ปกติเอาไว้อ่านสลับฉากบนเวทีปราศรัย แทบจะกลายเป็นการแสดงหลักของงานนี้ อีหนูเคยได้เห็นถึงการเผชิญหน้าแบบนี้มาบ้างเมื่อนานมาแล้ว ต่างไปตรงที่ว่าในครั้งนั้นศิลปินเป็นฝ่ายพากันไปหามวลชนผู้เดือดร้อนถึงยังถิ่นฐาน แล้วแสดงศิลปะ ดนตรี หรืออ่านบทกวีให้พวกเขา ซึ่งไม่ว่าผู้ดูจะรู้สึกร่วมหรือไม่ เข้าใจอย่างไร ก็มีแต่ต้องแสดงออกอย่างเกรงใจในฐานะเจ้าบ้าน แต่งานนี้มวลชนเป็นแขกที่เป็นฝ่ายเดินทางมาหา และควักกระเป๋าจ่ายค่าบัตรเข้าชมเอง

ไม่ว่าบนเวทีจะมีรายการอะไร มวลชนผู้ฟังทั้งในและนอกหอประชุมต่างไม่ลังเลที่จะแสดงออกในแบบต่างๆ พวกเขาโต้ตอบ หยอกล้อกับคนบนเวทีอย่างคึกคัก บทกวีท่อนไหนหรือคำพูดของใครที่พวกเขาเห็นด้วย พวกเขาก็ตอบสนองทันทีทั้งด้วยวาจาและเสียงปรบมือ ท่อนไหนที่ไม่เห็นด้วยก็แย้งกลับทันควัน แต่ก็ยังรักษาความเป็นมิตรต่อกันไม่ถึงขั้นโห่ฮา

และไม่ว่าบนเวทีจะมีรายการอะไร ป้าแกก็ฟังไปสะกิดไป เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์จริงของแกประกอบคำบรรยายหรือคำพูดบนเวที ราวกับกลัวว่าคนข้างๆ จะตามเนื้อหาไม่ทัน แกว่าแกผ่านมาทุกสมรภูมิจนถึงวันที่มีคนตายตามราชดำเนินและตรงราชประสงค์ และไม่ใช่คนบอดใบ้ไม่รู้เรื่องรู้ราว แกเสาะแสวงหาความรู้ทุกอย่าง ข้าวของพะรุงพะรังที่วางอยู่ข้างๆ นั้น นอกจากเสบียงกรังแล้วก็ยังมีหนังสืออีกหลายเล่ม แกแง้มถุงผ้าให้ดู “นี่ เพิ่งไปซื้อมา หนูมีหรือยัง” [อีหนูก้มมองลงไปแล้วก็อมยิ้มเมื่อเห็นวารสาร ฟ้าเดียวกัน และเขินวูบเมื่อเห็นวารสาร อ่าน รวมอยู่ด้วยในถุงนั้น นึกอายอยู่ในใจ ง่า… ป้าจะอ่านหนังสือปัญญาชนไร้น้ำยาพวกนี้จริงๆ น่ะหรือคะ]

เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง ในที่สุดป้าก็ขอตัวกลับก่อนเพราะบ้านไกล “คำสาปแช่งอันศักดิ์สิทธิ์” แกทิ้งท้ายโดยพึมพำท่อนนั้นของบทกวีที่แกถูกใจ ไม่ว่าแกจะเข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร และแม้ว่าแกจะจำชื่อกวีคนนั้นไม่ได้ (“ผู้หญิงใส่แว่นคนนั้นน่ะ”) ก็ตาม

เมื่อครั้งเป็นเด็ก เคยอ่านเรื่องราวของเจ้าชายน้อยผู้พิการ ในนิทานใช้คำว่า เจ้าชายง่อย เจ้าชายถูกนำตัวไปไว้ในหอคอยห่างไกลที่มีชื่อว่า “หอคอยสิ้นหวัง” และใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวบนหอคอยนั้น ไม่เคยเห็นโลกกว้าง ไม่เคยรู้จักชีวิตในแบบอื่นๆ ที่ต่างไป ได้แต่เรียนรู้โลกผ่านหนังสือที่มีอยู่ในหอคอย จนกระทั่งวันหนึ่งมีผู้วิเศษปรากฏกายเป็นแม่ทูนหัวผู้มีสมญานามว่า “เหลวไหลและเหลือเชื่อ” และมอบเสื้อคลุมวิเศษที่เมื่อเจ้าชายคลี่ออกวางแล้วนั่งลงไปตรงกลาง เสื้อตัวนั้นก็จะพาเจ้าชายลอยออกจากหอคอยไปสูู่โลกภายนอก แม้จะเป็นการมองจากมุมสูง ไม่ได้สัมผัสสัมพันธ์กับโลกจริงๆ แต่เจ้าชายก็ได้เห็นความสุขในชีวิตของคนอื่นอย่างที่เจ้าชายไม่มี และได้เห็นความทุกข์ยากของชีวิตอีกมากที่ทุกข์ยิ่งกว่าเจ้าชาย แต่ละวันที่ออกไปดูโลก เจ้าชายกลับมายังหอคอยด้วยความรู้สึกต่างกันไป และรู้สึกถึงความสุขทุกข์เหล่านั้นได้โดยที่ไม่เคยสัมผัสเอง ช่างเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเหงาจับใจ แต่ก็ตื่นตาตื่นใจไปกับการเรียนรู้โลกของเจ้าชายด้วย แม้จะมีนักวิจารณ์บอกว่านิทานเรื่องนี้เป็นภาพแทนของชีวิตผู้หญิง (เด็กชายที่เป็นง่อย = ผู้หญิง) ในยุควิคตอเรียนที่นิทานเรื่องนี้แต่งขึ้น และเป็นการเรียนรู้โลกด้วยอารมณ์ sentimental แบบผู้หญิง (อุวะ!) แต่อีหนูก็พยายามจะคิดว่าตัวเองเป็นได้มากกว่าเจ้าชายง่อยแห่งหอคอยสิ้นหวัง

เมื่อได้ออกไปสู่โลกภายนอกนั่น และหวนกลับมาสำรวจศิลปะของถ้อยคำในแผ่นกระดาษเหล่านั้น ใครจะนึกว่ากวีคนที่เคยมองเห็นว่า “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ เป็นความงดความงามใช่ความชั่ว” จะเป็นคนเดียวกันกับที่ในวันนี้จรดปากกาเหยียดหยามการเคลื่อนไหวของประชาชนว่า “คือไทยที่ใจทาษ ทัั้งปล้นชาติ ทั้งพาลกะแซง” อีหนูยังเพิ่งได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของบทกวีของผู้หญิงคนนั้นที่เคยบอกว่า “ปรารถนาเป็นธุลีทุรน ดีกว่าทนกลั้นใจอยู่ใต้น้ำ” หลังจากที่่ได้เห็นชายกระโปรงชุดราตรีสีชมพูบ้างสีฟ้าบ้างของเธอพลิ้วอยู่บนเวทีในงานเฉลิมฉลองอำนาจก่อนและหลังการสังหารหมู่ นี่เองหรอกหรือคือความหมายที่แท้จริงของวลี “ฉันรัก [พ่อและ] แม่มากกว่าความยุติธรรม” ของนักเขียนชาวฝรั่งเศสคนนั้นเวลาที่ถูกคนบางคนนำมาปรับใช้ในบริบทของประเทศนี้

“การเป็นนักเขียน อย่างที่ใครๆ เข้าใจว่าเป็นนักเขียน ‘ผู้โด่งดัง’ ในประเทศที่ประชาชนหลายล้านคนอ่านหนังสือไม่ออกนั้น ออกจะเป็นเกียรติยศที่น่ากังขาอยู่ไม่น้อย” นักเขียนชาวอินเดียนาม อรุณธาตี รอย เคยกล่าวไว้อย่างน่านับถือยิ่งนักในความตระหนักถึงอภิสิทธิ์อันน่าละอายที่เธอได้มาในฐานะศิลปิน ในขณะที่ศิลปินจากประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความเป็นชาตินิยมสูงนักหนาอย่างอินเดีย เลือกจะตีแสกหน้าความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในประเทศของตน อันส่งผลบ่อนเซาะความชอบธรรมแห่งรัศมีที่รองรับสถานะของเธอต่อเวทีโลกไปด้วย แต่ศิลปิน “อินเตอร์” ของไทยบางคนกลับเลือกจะเสริมราศีของตนด้วยการต้มยำทำแกงเรื่องราวอันสร้างขึ้นจากเลือดเนื้อของประชาชน ตักใส่ถ้วยเปรอปรนแก่สื่อต่างชาติมากมายที่มารอฟังว่าเขาจะพูดอะไรหลังการสังหารหมู่ แล้วเรียกร้องต่อประชาชนในชาติของตนด้วยเทศนาโวหารสามัญประจำบ้านว่าด้วยความสามัคคี อีหนูอยากจะบอกเขานักว่า แน่จริงมาจัดงานตรงนี้สิ ตรงหน้ามวลชนที่การต่อสู้ของพวกเขาถูกลดทอนให้เป็นแค่อุปมาพื้นๆ ของแกงหนึ่งสี ไม่ต้องเชิญให้นักวิจารณ์ศิลปะอาวุโสคนไหนมาชิมหรอกว่าคราวนี้คุณทำได้อร่อยกว่าผัดไทยคราวก่อนไหม แต่ให้ประชาชนเหล่านี้เป็นคนตัดสินเองว่าน้ำเนื้อของแกงเหล่านั้นมันเป็นแค่ของเล่นเซ่นสรวงเทวดา หรือเป็นอาหารที่คนเดินดินจะยอมกระเดือกลงไปจริงๆ

ในแง่พัฒนาการทางเทคนิค อีหนูเข้าใจได้ถึงการดิ้นรนของศิลปะอย่างภาพเขียนภายหลังการมีภาพถ่าย ว่าคุณจะยังสามารถ “จับภาพ” ชีวิตหรือความเป็นจริงได้อย่างไรเมื่อเทคโนโลยีทั้งหลายมาแทนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าขนาดนี้ แต่อีหนูไม่เคยลืมความรู้สึกอัศจรรย์ใจทุกครั้งที่ได้จ้องมองมือของศิลปินที่ตวัดปลายดินสอหรือพู่กันเป็นภาพขึ้นมา และเมื่อไปยืนอยู่ต่อหน้าภาพเขียนชั้นดีในพิพิธภัณฑ์ พลังและความหมายบางอย่างของมือและฝีแปรงมหัศจรรย์ก็ยังอยู่ตรงนั้น แต่ในวันนี้ที่ศิลปินจำนวนมากต่างดิ้นรนที่จะไปให้พ้นหรือให้ข้ามพ้นให้มากไปกว่าเทคนิคโบราณเหล่านั้น พร้อมชุดคำอธิบายว่าการทดลองใหม่ๆ จะทำให้เข้าใกล้ความจริงของชีวิตได้มากกว่าอย่างไร สิ่งที่ศิลปินไม่ควรลืมก็คือ ยิ่งคุณเลือกใช้วิธีการและเครื่องมือที่ซับซ้อนขึ้นในทางคอนเส็ปต์และในทางเทคนิคมากเท่าไหร่ คุณยิ่งต้องแน่ใจว่าเนื้อหาของมันต้องเสมอหน้าสมมาตรได้ในระดับความซับซ้อนเดียวกันนั้น หากล้มเหลวเสียแล้วทางเนื้อหา และได้แต่อาศัยความหวือหวาของข้ออ้างทางเทคนิคบังหน้า ก็เป็นอันว่าเราต้องมาทนดูความล้มเหลวทั้งสองอย่างนั้น ทั้งเทคนิคและเนื้อหา ทั้งชีวิตและศิลปะ … หมดกัน

อรุณธาตี รอย ยังเคยแจกแจงไว้อีกว่า “นักขียนที่ดีหรือยิ่งใหญ่นั้น อาจปฏิเสธที่จะยอมรับความรับผิดชอบหรือศีลธรรมใดๆ ที่สังคมอยากจะยัดเยียดให้ กระนั้นนักเขียนที่ดีที่สุดหรือยิ่งใหญ่ที่สุดก็รู้ว่าถ้าพวกเขาใช้เสรีภาพที่ได้มาอย่างยากเย็นนี้ไปในทางที่ผิด มันก็มีแต่จะนำไปสู่ศิลปะที่เลว ศิลปะและงานเขียนนั้นมีข่ายใยอันประณีตซับซ้อนของศีลธรรม ความเข้มงวด และความรับผิดชอบที่กำหนดบังคับต่อตัวนักเขียนอยู่แล้ว มันอาจจะเป็นปัจเจก เฉพาะตัว แต่ถึงอย่างไรมันก็ดำรงอยู่ ในขั้นดีที่สุด มันเป็นสิ่งผูกมัดอันงดงาม ระหว่างตัวศิลปินกับสื่อที่เขาใช้ ในขั้นที่พอรับได้ มันเป็นคล้ายๆ การร่วมงานกันอย่างสมเหตุสมผล ในขั้นเลวที่สุด มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีความเคารพต่อกันและหาประโยชน์จากกัน” อีหนูนึกเติมเข้าไปอีกขั้น ในกรณีของงานเหล่านั้นที่เกิดขึ้นภายหลังการสังเวยชีวิตอันแสนสั้นของผู้คนสามัญมากมาย ว่าในขั้นที่เลือดเย็นที่สุด มันไม่ต่างอะไรจากการ living off the dead [จะแปลก็ได้ แต่ไม่อยากแปลให้สะเทือนใจ]

วันที่เขาจัดงานรำลึกแปดเดือนของเหตุการณ์สังหารหมู่ อีหนูถือสมุดบันทึกเดินไปเดินมาตามถนนราชประสงค์ เชยกว่าถือกล้องถ่ายรูปสักหน่อยก็ไม่เป็นไร มันบันทึกถ้อยคำได้ ตอนที่อีหนูมาถึงตั้งแต่บ่าย แล้วเดินขึ้นไปหาที่ยืนมองลงมาจากทางเดินรถไฟฟ้าเพื่อหาทัศนวิสัยใหม่ๆ มีป้าสองคนมายืนจับจองที่ข้างๆ แล้วแกก็เริ่มคุยกัน ผลัดกันก่นด่าถึงความไม่เป็นธรรมนานาที่ทั้งคู่รู้สึก และแลกเปลี่ยนข้อมูลความฉ้อฉลหลอกลวงที่ต่างฝ่ายต่างได้รู้มาเกี่ยวกับผู้มีอำนาจบารมีของประเทศนี้ “นี่กูก็เพิ่งรู้” ก่อนจะสรุปราวกับเป็นการทวงบุญคุณด้วยความเจ็บใจ “กูทำเลี้ยงมันทั้งนั้น”

คำพูดคล้ายๆ กันนี้ยังมาจากป้าอีกคนหนึ่ง ต่างกรรมต่างวาระกัน ในห้องสัมมนาว่าด้วย “สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย” ที่จัดในรั้วมหาวิทยาลัย ป้าร่างเล็กคนนั้นที่นั่งติดกันยังคงมีอัธยาศัยแบบเดียวกันกับป้าคนอื่นๆ ในหลายวาระที่อีหนูเคยเจอมา คือฟังไปสะกิดไป ออกความเห็นไป ก่อนจะได้เวลาลุกกลับบ้าน แกก็บอกอีหนูเป็นการทิ้งท้ายโดยไม่รอให้ถาม “ป้าน่ะมาจากอุตรดิตถ์ คนบ้านนอก การศึกษาน้อย แต่ป้ารู้หมดนะ ไม่ใช่ไม่รู้อะไร ป้าตาสว่างแล้ว” อีหนูฟังแล้วพยายามท่องจำไว้ในใจ กะว่าเดี๋ยวจะไปจดลงสมุดบันทึก แต่นึกแล้วก็หนักใจ แหม ป้าช่วยพูดใหม่ให้มันเก๋กว่านี้ได้ไหมคะ นี่มันตรงไปตรงมาเกินไป ต้องซ่อนนัยอันคมคายย้อนแย้งกว่านี้ ต้องมีศิลปะกว่านั้น ป้าเล่นพูดง่ายๆ ตรงๆ แค่นี้ นอกจากจะดู cliché แล้ว ประโยคแบบนี้ขืนเอาไปใช้ใครเขาจะว่าเอาได้ว่าหนูกำลังแต่งนิยายดราม่าเพื่อชีวิต แทนที่จะเขียนบทบรรณาธิการประจำหอคอย

แต่ป้าแกลุกกลับไปแล้ว จะบอกให้พูดใหม่ก็คงไม่ได้ อีหนูได้แต่นั่งจินตนาการเอาเองว่าแกจะตอบอย่างไร “โอ๊ย นั่นไม่ใช่ปัญหาของป้านี่อีหนู ป้าไม่ใช่ศิลปิน และชีวิตป้าก็ไม่ใช่งานศิลปะ ทำไมป้าจะต้องมาช่วยคิดแก้ปัญหานี้ให้ ป้าไม่ได้มีเวลาเหลือในชีวิตนักหนา ชีวิตของคนอย่างพวกป้ามันแสนจะไร้ราคาและแสนสั้น

ศิลปะมันสั้นกว่านั้นไหมล่ะอีหนู”

หมายเหตุ: ข้อความที่เขียนโดย อรุณธาตี รอย คัดมาจาก จุดจบแห่งจินตนาการ (2548), สนพ. สวนเงินมีมา ส่วนเรื่องราวของเจ้าชายพิการในหอคอย มาจากหนังสือชื่อ เจ้าชายง่อย (2520) สนพ. ประพันสาส์น ที่ ปิยตา วนนันทน์ แปลจาก The Lame Prince and His Travelling Cloak (1875) แต่งโดย Dinah Maria Mulock