นิทานวรรณคดี: สดุดีฮีโร่ในสังคมซาบซึ้ง

หมายเหตุ: เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสี ทำให้ผู้เขียนถูกขอร้องให้เลิกใช้นามสกุลเดิมที่เคยใช้ในการเขียนหนังสือ จึงเรียนผู้อ่านมาเพื่อทราบ ณ ที่นี้ด้วย

“เรื่องนี้เกี่ยวกับความเป็นพ่อ ก็พูดถึงพ่อนิดนึงก็แล้วกัน พ่อเป็นเสาหลักของบ้าน บ้านของผมหลังใหญ่นะฮะ ใหญ่มาก เราอยู่กันหลายคน ผมเกิดมาในบ้านหลังนี้ก็สวยงามมาก สวยงามและอบอุ่น แต่กว่าจะเป็นแบบนี้ได้นะครับ บรรพบุรุษของพ่อ เสียเหงื่อ เสียเลือด เอาชีวิตเข้าแลก กว่าจะได้บ้านหลังนี้มานะครับ จนมาถึงวันนี้ พ่อคนนี้ก็ยังเหนื่อยที่จะดูแลบ้าน และก็ดูแลความสุขของทุกๆ คนในบ้าน ถ้ามีใครสักคน โกรธใครมาก็ไม่รู้ ไม่ได้ดั่งใจเรื่องอะไรมาก็ไม่รู้ แล้วก็พาลมาลงที่พ่อ เกลียดพ่อ ด่าพ่อ คิดจะไล่พ่อออกจากบ้าน ผมจะเดินไปบอกคนๆ นั้นว่า ถ้าเกลียดพ่อไม่รักพ่อแล้ว จงออกไปจากที่นี่ซะ เพราะที่นี่คือ บ้านของพ่อ (เสียงปรบมือลั่น) เพราะที่นี่คือแผ่นดินของพ่อ (เสียงปรบมือและโห่ร้อง) ผมรัก ในหลวงครับ (เสียงเพลงบรรเลงเริ่มขึ้นและคลอไปจนจบคำพูด) และผมเชื่อว่าทุกคนที่อยู่ที่นี่รักในหลวงเหมือนกัน พวกเราสีเดียวกันครับ ศีรษะนี้มอบให้… พระเจ้าแผ่นดิน”
*
พลันที่พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ประกาศคำพูดข้างต้นกลางงานแจกรางวัล “นาฏราช” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ก่อนเหตุการณ์พฤษภาอำมหิตเพียงไม่กี่วัน ดารานักแสดงหนุ่มใหญ่คนนี้ก็กลายเป็นวีรบุรุษชั่วข้ามคืนสำหรับคนไทยจำนวนหนึ่ง กระทู้เชิดชู – สรรเสริญ – เทิดทูนอ๊อฟ พงษ์พัฒน์ตกกระจายเรี่ยราดไปทั่วทั้งโลกไซเบอร์ เฉพาะในเว็บไซต์พันทิปดอทคอมเว็บเดียวก็นับแทบไม่หวาดไม่ไหว ชนชั้นกลางผู้อ่อนไหว (แต่ไม่ละเอียดอ่อน) พากันหลั่งน้ำตาซาบซึ้งตื้นตันในคำพูดและในความจงรักภักดีอันโดดเด่นของดาราหนุ่มใหญ่ผู้นี้
*
“นาทีนั้น เราน้ำตาไหลเลยค่ะ… มันทำให้เรารู้สึกประทับใจจนไม่รู้จะเอ่ยออกมาได้อย่างไร เป็นความรู้สึกประทับใจจนจุกในอกจริงๆ ค่ะ”
“The best speech of the year”
“นั่งนิ่งไปเลย… ซักพักลืมตัวน้ำตาไหลพราก”
“เราฟังแล้วน้ำตารื้น… พร้อมกับขนลุกทั้งตัว”
“ขอบคุณค่ะ คุณพงษ์พัฒน์ ที่ได้พูดแทนพวกเราทุกคนที่รักพ่อ… ร้องไห้คนเดียวและรอบเดียวไม่พอ ไปเรียกคุณสามี มาน้ำตาซึมด้วยอีกคน คุณคือ ‘ฮีโร่’ ของพวกเรา”
“คุณพงษ์พัฒน์ คุณคือสุดยอดคนไทยจริงๆ”

*
นี่คือข้อเขียนในกระทู้หนึ่งของพันทิป ถึงแม้จะมีคนตั้งกระทู้แสดงความเห็นแย้งบ้าง กระทู้ที่ “ไม่ซาบซึ้ง” เหล่านั้นก็ถูกตามลบหายไปเป็นอากาศธาตุในเวลาอันรวดเร็ว หรือหากไม่ถูกลบ ก็จะถูกโจมตีว่า เป็นพวก “ร้อนตัว” บ้าง พวก “วัวสันหลังหวะ” บ้าง
*
คงเพราะสังคมไทยเคยชินและชื่นชมการแสดงอารมณ์ดราม่าในที่สาธารณะ ในรายการทอล์กโชว์หรือสนทนา พิธีกรจึงต้องพยายามเค้นแขกรับเชิญให้ร้องไห้ให้ได้ แขกรับเชิญเองก็พยายามเค้นตัวเองให้น้ำตาไหล เราจึงมักได้ยินคำถามพิลึกๆ ประเภท “ตอนคุณพ่อตายรู้สึกยังไง ?” (จะให้ตอบว่ารู้สึกขำหรือ ?) “ตอนคุณยายป่วยรู้สึกยังไง ?” (คงจะมีความสุขหรอก)
*
ความรู้สึกซาบซึ้งอ่อนไหวแต่ไม่ละเอียดอ่อนจำพวกนี้ หากเป่าให้มันพองโตขยายมากๆ มันย่อมไปเบียดเนื้อที่สมองของมนุษย์ ทำให้บางครั้งลืมฉุกใจคิดหลายๆ เรื่อง หรือลืมนึกถึงความไม่สมเหตุสมผลของเจ้าต้นตอที่ทำให้เราหวั่นไหวซาบซึ้ง
*
บางทีคติจากวรรณคดีอาจช่วยเราได้บ้าง ไม่มีอะไรใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์ดวงนี้และไม่มีอะไรที่เก่าเกินไป เพราะมนุษย์ก็ยังใช้มุขเดิมๆ โวหารเดิมๆ และประวัติศาสตร์ก็กลับมาเดจาวูอยู่ร่ำไป พอเห็นพงษ์พัฒน์ขึ้นไปเอ่ยเอื้อนวาจาสุดแสนรักพ่อและชาวประชาพากันน้ำตาไหล ผู้เขียนก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงบทละครเรื่อง King Lear ของเชกสเปียร์ขึ้นมาทันที
****