แวร์เนอร์ แฮร์โซกและฟิตซ์การ์รัลโด: ผู้พิชิตความสูญเปล่า

ฮอลลีวู้ดชอบโม้ไปเรื่อยว่าหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้มีโปรดักชั่นอลังการงานสร้างอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เอาเข้าจริงความอลังการที่ว่ามักอลังการอยู่บนจอคอมพิวเตอร์เสียกว่าครึ่ง ทุนสร้างมโหฬารส่วนใหญ่ก็หมดไปกับเรื่องไร้สาระ เช่น รถเทรลเลอร์ เครื่องบินส่วนตัว ค่าตัวดาราที่แสดงได้เรื่องบ้าง ไม่ได้เรื่องบ้าง (ไม่ได้เรื่องเสียเป็นส่วนใหญ่) บทหนังสูตรสำเร็จน้ำเน่าเดาเรื่องได้ตลอด ลงท้ายก็ได้หนังตลาดดาดๆ สักเรื่อง แล้วค่อยมาปั่นกระแสข่าว (ที่เรียกว่า hype) จนทุกคน (รวมทั้งผู้เขียน) รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ดูไม่ได้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะจ่ายตังค์ดูในโรง จ่ายตังค์น้อยกว่าหน่อย ดูแผ่นผี หรือจ่ายแค่ค่าไฟแล้วโหลดบิตเอา
**
หากจะพูดถึงภาพยนตร์ที่มีโปรดักชั่นอลังการงานสร้างอย่างแท้จริง ชนิดว่าฮอลลีวู้ดควรหลีกทางชิดขวาและก้มหน้าด้วยความละอายใจ (หากยังพอมีเหลืออยู่บ้าง) ผู้เขียนเชื่อว่าภาพยนตร์หลายเรื่องของผู้กำกับแวร์เนอร์ แฮร์โซก น่าจะติดอันดับต้นๆ
**
ความอลังการที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ทุนสร้างมโหฬาร หนังหลายเรื่องของเขาใช้ทุนสร้างที่คงเอาไปสร้างหนังฮอลลีวู้ดได้ไม่ถึง 10 นาทีด้วยซ้ำ แต่หนังของแฮร์โซกทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้และสร้างภาพบนเซลลูลอยด์ที่ทำให้สายตามนุษย์ต้องตื่นตะลึง อึ้ง ทึ่ง เต็มตา อย่างที่นักวิจารณ์บางคนคงเรียกว่า “งานเฉลิมฉลองทางสายตา” (visual feast)
**
ถึงแม้แวร์เนอร์ แฮร์โซกจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด แต่ความชอบที่ผู้เขียนมีต่อหนังของเขาก็แตกต่างออกไป ผู้เขียนไม่ได้รู้สึกรักใคร่สนิทชิดเชื้อกับหนังของเขาเหมือนที่รู้สึกต่อหนังของสัตยาจิต เรย์ หรือเปโดร อัลโมโดบาร์ ไม่ได้รู้สึกว่าแก่นของหนังเป็นหนึ่งเดียวกับสภาวะการดำรงอยู่ของตัวเองเหมือนหนังของมิเคลันเจโล อันโตนิโอนี ไม่ได้ทั้งรักทั้งเกลียดเหมือนหนังของไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสส์บินเดอร์ ไม่ได้ดูแล้วงงเป็นไก่ตาแตกเหมือนหนังของฌอง – ลุค โกดาร์ หนังของแฮร์โซกทำให้ผู้เขียนรู้สึกชื่นชม แต่ถ้าหากเปรียบเป็นคน ก็เป็นคนที่เราปลื้มมาก แต่ขออยู่ห่างๆ ดีกว่า !
**