Hospitel

หากใครเฝ้าติดตามทิศทางการออกแบบโรงพยาบาลเอกชนสมัยใหม่ในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด เชื่อแน่ว่าจะต้อง
สังเกตเห็นปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่ดูเสมือนกำลังเป็นกระแสนิยมไปเสียแล้ว นั่นก็คือ การออกแบบ
โรงพยาบาลโดยลอกเลียนรูปลักษณ์โรงแรมหรูระดับห้าดาว
*
และมิใช่เพียงแค่รูปลักษณ์ การลอกเลียนบางครั้งไปถึงขั้นจำลองโครงสร้างความสัมพันธ์บางด้านระหว่าง “ลูกค้ากับพนักงานโรงแรม” มาใช้เป็นตัวแบบโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง “คนไข้กับบุคลากรในโรงพยาบาล”
*
อย่างไรก็ตาม แนวคิดว่าด้วยการออกแบบโรงพยาบาลให้ใกล้เคียงโรงแรมมิใช่เรื่องใหม่ เท่าที่ผมรู้ เราเจอความคิดนี้ในหมู่ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งย้อนกลับไปได้อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 และแนวคิดนี้ก็ถูกพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับจนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และจนเกิดรูปแบบของโรงพยาบาลชนิดที่จำลองรูปแบบโรงแรมอย่างตรงไปตรงมา
*
อะไรคือปัจจัยที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์นี้ อะไรคือสาเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เอื้อให้การออกแบบโรงพยาบาลด้วยเปลือกของโรงแรมสามารถเป็นไปได้ คำถามนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผมเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้น ผมเคยถามคำถามนี้แก่เพื่อนฝูงบางคน และพบว่าหลายคนมองการออกแบบโรงพยาบาลเหมือนโรงแรมว่า เป็นเพียงการสร้างสรรค์ในเชิงปัจเจกบุคคลของสถาปนิก หรือเป็นความต้องการของผู้บริหารตลอดจนฝ่ายการตลาดของ
โรงพยาบาลเพื่อใช้สร้างความแปลกใหม่ในการดึงดูดลูกค้ามีฐานะเพียงเท่านั้น
*
ไม่ปฏิเสธหรอกครับว่ามีส่วนถูก แต่ผมคิดว่าเป็นคำตอบที่ไม่ครอบคลุมนัก เพราะนอกเหนือจากคำตอบในมิติเชิงปัจเจกบุคคล ผมค่อนข้างเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมมากกว่าปรากฏการณ์ของปัจเจกบุคคล
*
ในทัศนะของผม หากปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมไม่เอื้อ โรงพยาบาลที่เป็นโรงแรมก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าสถาปนิกคนนั้นจะยิ่งใหญ่มาจากไหนก็ตาม
*
การลอกเลียนภาพลักษณ์แบบโรงแรมมาใช้กับโรงพยาบาลเป็นเรื่องใหญ่นะครับ และไม่สามารถจะทำได้ง่ายๆ เพียงแค่สถาปนิกต้องการหรือเจ้าของโรงพยาบาลอยากได้
*
เหตุผลที่ทำให้เชื่อเช่นนั้นก็เพราะผมคิดว่า สังคมไทยในอดีตได้มอบบทบาทและภาพลักษณ์ (ทั้งด้วยความเต็มใจและไม่เต็มใจ) ของความเป็นสถาบันอันสูงส่งน่าเกรงขามให้แก่โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์มาตั้งแต่
การแพทย์สมัยใหม่สามารถยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จได้ในสังคมไทย ภาพลักษณ์เช่นนี้มิใช่ภาพลักษณ์ธรรมดาๆ
แต่เป็นสิ่งที่นำมาซึ่ง “อำนาจ” อย่างสูงยิ่งแก่โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์
*
ประเด็นก็คือ บทบาท ภาพลักษณ์ และสถานะเชิงอำนาจดังกล่าว สอดคล้องไปกับการออกแบบพื้นที่และตึกอาคารภายในโรงพยาบาลอย่างชัดเจน หากเราสังเกตโรงพยาบาลในยุคก่อนให้ดีจะพบว่า รูปแบบตึกอาคารก็มักแสดงลักษณะความเป็นสถาบันและแลดูมีอำนาจเหนือคนไข้ที่เข้ามาใช้สอยอยู่ตลอดเวลา
*
ดังนั้น ตราบที่สังคมยังมอบสถานะสูงส่งให้แก่โรงพยาบาลและแพทย์อยู่เช่นเดิม โรงพยาบาลทั้งหลายย่อมไม่ปล่อยให้ตึกอาคารซึ่งทำหน้าที่เป็นฉากเสริมที่สำคัญของการดำรงสถานะเชิงอำนาจดังกล่าวสูญเสียไปด้วยการออกแบบโรงพยาบาลให้มีบรรยากาศเหมือนโรงแรมอย่างชัดเจนโดยเด็ดขาด
*
ต้องยอมรับนะครับว่า ภาพลักษณ์แบบโรงแรมซึ่งมีโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจาก
โรงพยาบาล จะต้องเข้าไปทำลายชุดโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเดิมที่บุคลากรทางการแพทย์มีอำนาจเหนือคนไข้อย่างมหาศาลลง และทำให้สถานภาพความเป็นสถาบันอันทรงภูมิของโรงพยาบาลถูกลดทอนลงไป
ไม่มากก็น้อย
*
แต่ในช่วงทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมได้เปลี่ยนแปลงไป (คืออะไรจะอธิบายต่อไป
ข้างหน้า) จนทำให้มุมมองต่อบทบาทและสถานะของโรงพยาบาลตลอดจนกระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ในสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนตามไปด้วย และเปลี่ยนไปจนทำให้การยึดติดกับภาพลักษณ์แบบเดิมๆ ของโรงพยาบาลไม่สามารถทำได้
*
ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังเกี่ยวโยงกับโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างวิชาชีพแพทย์กับคนไข้ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปด้วย ส่งผลให้อำนาจทางสังคมของบุคลากรทางการแพทย์หรือตัวโรงพยาบาลในสถานะของความเป็นสถาบันอันสูงส่งไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปมากเท่าในอดีต และส่งผลกระทบต่อเนื่องมาสู่การออกแบบลักษณะทางกายภาพของโรงพยาบาล จากที่เคยทำหน้าที่เป็นฉากการแสดงอำนาจของแพทย์เหนือคนไข้ เปลี่ยนมาสู่การเป็นฉากในการแสดงบทบาทในรูปแบบอื่นๆ แทน
*
ทั้งหมดนี้ทำให้การลอกเลียนรูปลักษณ์อาคารตลอดจนการพยายามจำลองชุดโครงสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในโรงพยาบาลตามแบบเดียวกับโรงแรมห้าดาวอย่างเต็มที่เริ่มสามารถจินตนาการถึงได้ สามารถยอมรับได้ อีกทั้งยังเริ่มเป็นผลดีแก่โรงพยาบาลมากกว่าผลเสีย
*
ที่เกริ่นมาคือทัศนะของผมที่มีต่อปรากฏการณ์การออกแบบโรงพยาบาลให้เป็นโรงแรมในปัจจุบัน อันเป็นความพยายามที่จะมองปรากฏการณ์นี้ในแง่ผลผลิตทางสังคมวัฒนธรรมมากกว่าผลผลิตของปัจเจกบุคคล
*
ด้วยทัศนะแบบนี้เท่านั้นที่ผมคิดว่าจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ทางสถาปัตยกรรมนี้ได้อย่างตรงเป้า
เข้าประเด็นที่สุด
*
น่าสังเกตด้วยนะครับ ปรากฏการณ์นี้นับวันดูจะกลายเป็นที่นิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่โรงพยาบาลเอกชน จนผมอยากจะคิดเล่นๆ ว่า แนวโน้มการออกแบบเช่นนี้อาจจะกลายเป็น Building Type อย่างใหม่ในวงการสถาปัตยกรรม
*
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็ขอเสนอนิยาม Building Type โรงพยาบาลในรูปแบบใหม่นี้ว่า Hospitel [Hospital + Hotel]
****