ไถ่ถ้อย

กาลครั้งหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว ร่ำๆ อยากจะทำ อ่าน ฉบับพิเศษ ที่หวังจะให้เป็นคล้ายๆ คู่มือสำหรับประชาชนจำนวนมิใช่น้อยที่ดูเหมือนต้องการจะวิจารณ์ อภิปราย ถึงสถาบันอย่างที่เรียกกันทั่วไปว่าสถาบัน อันละไว้ในฐานที่เข้าใจกันว่าคือสถาบันกษัตริย์ของไทย (ราวกับว่าการเอ่ยถึงให้ครบถ้วนนั้นหากมิใช่จะทำให้คำศักดิ์สิทธิ์นั้นสามานย์ลงไป ก็จะเป็นการนำโทษภัยมาสู่ผู้เอ่ยถ้อยนั้นแทน) ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่ตระหนักว่าโทษทัณฑ์ของการวิจารณ์สถาบันอันเป็นเสาหลักแห่งมหากรุณาธิคุณของประเทศนี้นั้น เหี้ยมโหดเพียงใด จึงนึกเป็นห่วงกังวลว่าประชาชนจะมีความรู้เพียงพอหรือไม่ว่าอะไรคือสิ่งที่พูดได้หรือพูดไม่ได้ และหากจะพูด ต้องพูดอย่างไร ก็เลยตั้งชื่อฉบับกันไว้เล่นๆ ล่วงหน้าว่าเป็นฉบับ “How to Talk About Monarchy” (เห็นไหม แค่เริ่มต้นก็ต้องเลี่ยงไปใช้ภาษาอังกฤษแล้ว) และเริ่มติดต่อชักชวนบรรดาผู้มีความรู้และสถานะเพียงพอที่จะพูดเรื่องนี้ ให้ช่วยกันมาเขียนเป็นวิทยาทานและเป็นเสมือนอุปกรณ์นิรภัยให้แก่สาธารณชน

ถ้าไม่นับการไปขึ้นทะเบียนพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์เพื่อเตรียมรับมือไว้ การดำเนินการส่วนอื่นก็นับว่ายังขยับไปไม่ทันได้กี่น้ำ ในขณะที่กระแสการดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไหลบ่าไปทั่วอย่างล้นหลาม จนต้องถามตัวเองว่าวารสารต้วมเตี้ยมรายสามเดือนจะไปทันช่วยอะไรใครเขาได้ งาไหม้ไปหมดแล้วถั่วก็ยังไม่สุก บรรดานักวิชาการที่เริ่มติดต่อไว้ หลายรายก็ดูจะอยู่ในสภาพเสี่ยงภัยเสียเองแล้วอีกต่างหาก ไม่ต้องพูดถึงพสกทั่วไประดับราก ที่ทยอยถูกปิดปากจำขังเป็นจำเลยรัก เพราะไม่เดียงสาว่าพลานุภาพนั้นย่อมแผดเผาผู้อกหักที่ไม่อาจยับยั้งความทุรนทุราย ในสถานการณ์แบบนี้ วารสารปัญญาชนรายสามเดือนย่อมมีแต่ง่อยเปลี้ยเสียขา เพราะก็เฉกเช่นที่เด็กทุกคนเริ่มสนทนาคำแรกได้โดยยังไม่ทันต้องเรียนวิชาภาษาไทย การพูดจากหัวใจย่อมไม่อาจมัวรั้งรอคู่มือ

กระนั้นเองจึงเริ่มเจียมตัวเจียมใจ ว่าจะมาทำอะไรที่อาจกลายเป็นสายล่อฟ้าทำไม ในเมื่อฟ้าก็ผ่าต้นหมากรากไม้วายวอดกันไปเยอะแล้ว ดังนั้นจึงกลับสู่โหมดปกติของการเป็นวารสารที่เพียงแต่ อ่าน ปรากฏการณ์ทั้งหลายแบบไร้น้ำยากันต่อไป และคิดเข้าข้างตัวเองไปว่า เอาวะ ลดระดับจากปฏิบัตินิยมมาสู่ญาณวิทยาก็ได้ จาก how to ก็เลยจะเปลี่ยนมาเป็นอะไรคล้ายๆ ชื่อเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ Raymond Carver ที่ว่า “What We Talk About When We Talk About Love” ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มที่วงวรรณกรรมสากลฮือฮากันว่าโพสต์โมเดิร์นยิ่งนัก (โอ ไม่สิ อย่าพยายามจัดจำแนกอะไรที่เกี่ยวกับวรรณกรรมเลยดีกว่า ข้าพเจ้ากลัวความฉลาด [และ “แมน”] ฉิบหายของนักเขียนประเทศนี้ หลังจากกรณีการตอบโต้ต่อสิ่งที่ อ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เสนอไว้ใน อ่าน ฉบับที่แล้ว)

การเขียนบทบ.ก.ก็เป็นปัญหาต่อไป ว่าจะชี้แจงอย่างไรว่านี่มิใช่การแกว่งเท้าหาเสี้ยน ข้าพเจ้าตกลงใจเริ่มต้นจากการใช้สรรพนามแทนตัวในฉบับนี้ว่า “ข้าพเจ้า” อันเป็นสรรพนามเก่าที่ข้าพเจ้าเคยชอบใช้เวลาเขียนเรียงความส่งครูภาษาไทยสมัยเป็นเด็กประถม ข้าพเจ้าหวนนึกถึงสรรพนามนี้ขึ้นมาได้ในค่ำวันหนึ่งขณะกำลังสะลึมสะลืออยู่บนโซฟาหลังจากอดนอนมาหลายคืน เพื่อขืนสติให้ตื่นรับฟังพระราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ชอบคำนี้จัง) เมื่อวันที่ 12 สิงหา ด้วยพระสุรเสียงอ่อนช้อยแช่มช้า คำเรียกแทนพระองค์ “ข้าพเจ้า…ข้าพเจ้า…ข้าพเจ้า…” เข้ามาในสัมปชัญญะอันขาดห้วงของข้าพเจ้าอย่างแจ่มชัด การตามรอยพระยุคคลบาทในที่นี้จึงทั้งเนื่องมาจากแรงบันดาลใจทางทีวี และการหวนหาอดีตเมื่อครั้งที่คุณครูให้ข้าพเจ้าไปยืนอ่านเรียงความหน้าชั้นเรียนอยู่บ่อยไป ในสมัยที่ฮีโร่ (ที่เป็นผู้ชาย) ในดวงใจของข้าพเจ้านั้น ถ้าพ้นจากคุณปู่กับคุณพ่อแล้ว ก็เห็นจะมีแต่เชอร์ล็อค โฮล์มส์ กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช

คุณปู่กับคุณพ่อของข้าพเจ้าจะมีความเป็นฮีโร่ในสายตาของข้าพเจ้าอย่างไร คงไม่ใช่วิสัยที่จะนำมาอวดอ้างต่อสาธารณะ ข้าพเจ้าถือหลักว่ามันไม่งาม พอๆ กับที่ว่าหากทั้งสองท่านจะมีด้านของความเป็นปุถุชนที่เราทุกคนต่างก็มีอย่างไร ก็ไม่ใช่วิสัยที่ข้าพเจ้าจะต้องมาเล่าให้คนแปลกหน้าฟังเช่นกัน เพราะทั้งหมดนั้นเป็นปริมณฑลส่วนตัวที่ไม่จำเป็นต้องมาสาธยายให้คนหมั่นไส้ในข้อที่เป็นการยกย่องเชิดชู หรือติเตียนประณามซ้ำในข้อที่เป็นตำหนิ และทั้งสองท่านก็เป็นแต่เพียงผู้ชายธรรมดาที่ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งที่ที่จะต้องรับผิดชอบในทางสาธารณะแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงบุคคลธรรมดาที่มีความสำคัญเฉพาะต่อชีวิตของข้าพเจ้าที่เป็นคนธรรมดาเช่นกัน

ส่วนเชอร์ล็อค โฮล์มส์ นั้น ข้าพเจ้าก็อายๆ อยู่หรอกที่จะบอกว่าข้าพเจ้าปลื้มเขามาแต่เด็ก มิไยว่าเขาจะเป็นตัวละครต่างด้าวที่ไม่มีอยู่จริง แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ต่างไปจากผู้อ่านจำนวนมากที่ อิน กับเรื่องราวของเขา มิไยที่คุณเม่ของข้าพเจ้าจะเคยเล่าให้ฟังแต่เด็กถึงอาการเป็นเอามากของผู้อ่านที่ไปโวยวายกับเซอร์อาเธอร์ โคแนน ดอยล์ เมื่อเขาตัดสินใจยุตินวนิยายเรื่องยาวนี้ด้วยการให้โฮล์มส์ตาย ข้าพเจ้าก็หาได้สำนึกไม่ บ้านเลขที่ 221 บี.ถนนเบเกอร์ ของเขาที่นวนิยายว่าไว้ ข้าพเจ้าก็จำขึ้นใจถึงขนาดที่เมื่อทศวรรษที่แล้วที่ข้าพเจ้ามีโอกาสไปกรุงลอนดอน ข้าพเจ้าก็ยังตะลอนไปมองหาหลังคาบ้านของเขา

แต่ก็แน่ล่ะ ปูนนี้แล้ว ข้าพเจ้าก็ย่อมจะต้องรู้ประสีประสากว่าเมื่อแปดขวบ และผู้อ่านคนใดก็คงนึกออกว่า เมื่อเราโตขึ้นแล้วหยิบหนังสือเล่มเดียวกันกับที่เราเคยอ่านในวัยเด็กมาอ่านซ้ำใหม่ ในทางหนึ่งเราอาจสูญเสียวิธีการรับรู้บางอย่างที่เราใช้ในการเข้าถึงมันครั้งเยาว์วัย แต่ในอีกทาง เราย่อมมองเห็นอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนด้วย ข้าพเจ้าพบว่าผู้ชายเงียบขรึมช่างคิดและแสนฉลาดในวัยเด็กของข้าพเจ้าคนนี้ เมื่อมาอ่านดูอีกที ทำไมเขาถึงขี้โอ่ ยกตัว และปากคอเราะร้ายอย่างนี้นะ ยิ่งเมื่อมารับรู้ว่าในวงวิชาการวรรณกรรมนั้นได้วิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับตัวเขาไว้อย่างไร ข้าพเจ้าก็ทั้งตื่นเต้นและทั้งอายความหลังของตัวเอง

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าถึงกับอกหักแต่อย่างใด ก็ทำไมจะไม่ยิ่งรู้สึกน่าสนใจเล่า ที่จะได้ลองเข้าใจตัวละครโปรด หรือนวนิยายเรื่องโปรดของเราจากมุมต่างๆ แน่ล่ะ ความยากมันอยู่ตรงที่เราไม่อาจประเมินมันอย่างที่ประเมินนวนิยายเรื่องอื่นๆ ได้ เพราะมันได้พ่วงไปกับอาการ sentimental บวก nostalgia บางอย่างที่ชีวิตไม่เคยปล่อยให้ใครได้ละวางง่ายๆ ต่อให้พยายามจะ de-romaticize มันขนาดไหน แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้มันศักดิ์สิทธิ์ชนิดแตะต้องไม่ได้ และเราทุกคนควรจะได้โตพอที่จะยอมรับความจริงบางอย่างของชีวิตได้บ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ว่า ไม่มีใคร ไม่ว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีหรือเคยมีลมหายใจอยู่จริง หรือตัวละครในนวนิยาย ที่แบนแต๊ดแต๋จนไม่อาจพูดถึงได้จากหลายแง่มุม

ข้าพเจ้าจะทำอย่างเดียวกันนั้นได้ไหม กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช หรือกระทั่งกับสถาบันกษัตริย์ ?

ข้าพเจ้าไม่อยากรู้คำตอบต่อคำถามนี้ที่มาในรูปของหมายเรียกหรือหมายจับ หรือข้าพเจ้าควรจำกัดการพูดถึงไว้เฉพาะกับคุณพ่อที่เป็นพ่อจริงๆ ของข้าพเจ้าเท่านั้นดีกว่า (คุณปู่ด้วย ถ้าเพียงแต่ท่านจะยังอยู่) ส่วนเชอร์ล็อค โฮล์มส์นั้น อย่างไรเสียข้าพเจ้าก็ยังมีความสุขกับการวิเคราะห์วิจารณ์แง่มุมต่างๆ ของเขาต่อไปอย่างเขินๆ อายๆ และถึงที่สุดต่อให้วิเคราะห์กันเอาเป็นเอาตาย มันก็แค่นวนิยายเล่มหนึ่ง และยังดีที่มันก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันเป็นอะไรที่มากไปกว่าเรื่องแต่ง

ความยากของการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงนี้ล่ะ ตรงที่ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะเอาเกณฑ์ไหนมาตัดสิน ระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ระหว่างความเคารพต่อกันอย่างมนุษย์ต่อมนุษย์ กับสมมติเทพที่เอาเข้าจริงแล้วอยู่สูงกว่าเทพจริงๆ ทั้งหลายในเทพปกรณัมเสียอีก การยกย่องเชิดชูนั้นล้นพ้นเกินการพิสูจน์เสียยิ่งกว่าเทพ แต่การวิจารณ์นั้นก่อโทษทัณฑ์ที่จริงเสียยิ่งกว่าจริงเมื่อต้องสังเวยด้วยชีวิต อิสรภาพของผู้วิจารณ์ และสวัสดิภาพรวมถึงความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของครอบครัวของพวกเขา

ข้าพเจ้านั้น นอกจากที่มักจะถูกบุพการีบ่นอยู่เสมอว่าต้วมเตี้ยม และเป็นเด็กขี้แยแล้ว ญาติพี่น้องรวมถึงครูบาอาจารย์มักจะออกปากชมว่าเป็นเด็กเรียบร้อย พูดจาสุภาพอ่อนหวาน (ควรหมายเหตุไว้ด้วยว่า คำชมเหล่านั้นหมดอายุการใช้งานตั้งแต่เมื่อข้าพเจ้าเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนคำบ่นกลับเพิ่มขยายยาวเหยียดขึ้นเรื่อยๆ) ในวัยเด็กนั้น ข้าพเจ้าใช้ชีวิตภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในเรื่องการพูดจาและการใช้ภาษา เพิ่งไม่กี่ปีมานี้เองที่ข้าพเจ้าในที่สุดก็สามารถฝึกตัวเองให้สลัดคำว่า “ทาน” หลุดจากปากได้ และสามารถใช้คำว่า “กิน” อย่างเป็นปกติวิสัย ส่วนคำว่า “กู” หรือ “มึง” หรือกระทั่ง “แม่ง” นั้น ข้าพเจ้ารับเข้ามาเพาะเลี้ยงไว้พักใหญ่ จนสามารถพูดออกมาได้เองทุกครั้งที่นึกอยากจะพูด แต่คำขั้นสูงอย่าง “เหี้ย” นั้น แม้จะเขียนได้ แต่การจะพูดออกมายังไม่สู้จะคล่องปากนัก

คำเหล่านี้ข้าพเจ้าฝึกฝนมาจากการชอบไปนั่งฟังชาวบ้านร้านตลาดพูดคุยกัน ข้าพเจ้าประทับใจกับภาษาที่ถึงลูกถึงคนและถึงกึ๋นอีกสารพัดที่พวกเขาใช้กันเป็นปกติ และจะรู้สึกมีปมด้อยทุกครั้งหากว่าพวกเขาเปลี่ยนถ้อยคำเหล่านั้นให้เป็นภาษา “กลาง” ภาษา “สุภาพ” เมื่อพวกเขาหันมาเห็นว่าข้าพเจ้าฟังอยู่ ในที่ชุมนุมทางการเมืองครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าถึงกับอึ้งเมื่อหนึ่งในพี่ๆ ป้าๆ ที่กำลังเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขาให้ข้าพเจ้าฟัง ต้องหันมาถามข้าพเจ้าก่อนว่า “โทษนะ แต่งงานรึยัง” ข้าพเจ้างงว่ามันเกี่ยวกันอย่างไรกับสิ่งที่เขากำลังจะพูด เมื่อข้าพเจ้ายืนยันว่าแต่งไม่แต่งก็พูดมาเถอะ ป้าแกจึงได้พูดต่อเป็นชุดถึงพฤติกรรมของผู้มีอำนาจคนหนึ่งที่ “ยังมีแก่ใจจะไป เอา กับเมียได้ทั้งที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้” โถ ป้าล่ะก็ แค่นี้เอง

ผู้มีอำนาจคนที่ป้าแกพูดถึงนั้นเป็นนักการเมือง ที่ก็ไม่ได้ต่างไปจากนักการเมืองคนอื่นๆไม่ว่าพรรคไหน สมัยไหน ตรงที่ถ้อยคำซึ่งใช้กับพวกเขาได้นั้น มีตั้งแต่ “ท่าน” จนถึง “เหี้ย” โดยที่พวกเขาไม่ได้จะเอาผิดเอาโทษหรือตอบโต้ต่อประชาชนด้วยเหตุผลของการใช้ถ้อยคำได้ และต่อให้ประชาชนคนใดจะพูดหรือแสดงอาการที่เข้าข่ายอาฆาตมาดร้ายต่อเขาอย่างไร เขาก็ไม่มีสิทธิเอาผิดเอาโทษต่อประชาชนได้ ตราบใดที่การแสดงความอาฆาตมาดร้ายนั้นไม่ได้แปรเป็นรูปธรรมที่จะเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาท,ทำร้ายร่างกาย หรือพยายามฆ่า และโทษทัณฑ์ที่หากจะมีตามมา ก็ไม่ได้มากไปกว่าที่ควรแก่ความผิดนั้นๆ อยู่ดี

ข้าพเจ้าเสียดายที่ในวัยเด็กข้าพเจ้าไม่ทันได้มีนักการเมืองสักคนเป็นฮีโร่ เพื่อที่ข้าพเจ้าจะได้ลองทดสอบดูว่าเมื่อข้าพเจ้าเติบโตขึ้น ข้าพเจ้าจะพูดถึงเขาอย่างไร และข้าพเจ้าแน่ใจว่าหากข้าพเจ้าจะอยากวิจารณ์พวกเขาสักคน ข้าพเจ้าก็จะไม่อับจนถ้อยคำที่จะใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยนี้ที่ข้าพเจ้ามีคลังของถ้อยคำเพิ่มขึ้นมากมายแล้วด้วย

แต่ข้าพเจ้าก็อาจไม่สามารถใช้ถ้อยคำใดต่อพวกเขาได้ หากว่าพวกเขายังคงทำในสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าสับสนตลอดหลายปีหลังการรัฐประหารที่ผ่านมา ว่าพวกเขาเป็นอวตารหนึ่งของเหล่าเทพไปแล้วหรืออย่างไร

ข้าพเจ้านึกถึงคำปราศรัยของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ในวันครบรอบ 1 ปีที่ประชาชนถูกฆ่าตายบนถนนราชดำเนิน (แม้จะถูกฆ่าตายมาหลายรอบแล้วก็จริง แต่ในที่นี้ข้าพเจ้าหมายถึงการตายรอบวันที่สิบเมษา) ที่เป็นแต่เพียงการวิงวอนตัดพ้อต่อรัฐบาลในขณะนั้นและทหาร ให้ระมัดระวังต่อการกระทำใดๆ ที่อ้างว่ากระทำไปในนามสถาบันกษัตริย์ แล้วเขาก็มีอันถูกจับไปขังไม่ให้ประกันอยู่หลายเดือน หรือกรณีการอภิปรายในรัฐสภา ที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถูกเรียกร้องให้ “ถอนคำพูด” ที่เป็นแต่เพียงการวิงวอนในประเด็นไม่ต่างกัน

ข้าพเจ้าไม่ค่อยมีความหวังเลยว่าประชาธิปไตยของประเทศนี้จะช่วยไถ่อิสรภาพคืนให้แก่ถ้อยคำทั้งหลายได้ ดูแต่คนที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหลายก็ยังเป็นจำเลยมากพอๆ กับที่เป็นโจทก์

ยามถ้อยคำต่ำต้อยหยาบช้าเกินไป ทำอย่างไรได้
ปิดปากไว้มันก็ไหลพรากทางตา

เสี้ยวเศษบางส่วนจากบทกวีชิ้นหนึ่งที่ใครเขียนไว้ก็จำไม่ได้เสียแล้ว แต่ข้าพเจ้ามักจะนึกถึงมันอยู่บ่อยๆ เวลาที่ไม่รู้อีกแล้วว่าเราจะยังพูดอะไรได้อีกหรือไม่ในเมื่อไม่ว่าจะพูดอะไรก็ดูจะผิดไปเสียหมด แล้วจะให้จัดการกับความรู้สึกประดามีที่อัดอั้นอยู่อย่างไร

ก็จริงอยู่หรอกว่ามันมีปัญหาอยู่ในอีกระดับเช่นว่า มนุษย์รับรู้ “ความจริง” ผ่านภาษา ซึ่งอย่างไรเสียก็มีความจำกัดในตัวมันเองที่จะอธิบายถึงความจริงนั้นได้เท่าที่ภาษามีอยู่ ดังนั้นอะไรที่เราไม่อาจ “พูดถึง” ได้ ก็ควรละไว้ให้เป็นหน้าที่ของความเงียบ นั่นดูเป็นปัญหาของนักปรัชญาที่ชาวบ้านร้านตลาดอาจบิดไปพูดง่ายๆ ได้ว่า พูดไม่ได้ก็หุบปากไว้ หรือในอีกกรณีก็เช่นที่กวีโรแมนติคอย่างจอห์น คีตส์ เขียนไว้ท่อนหนึ่งว่า Heard melodies are sweet, but those unheard are sweeter (แปลเป็นไทยแบบสุนทราภรณ์ๆ สักหน่อยได้ว่า หวานนักยามยิน หวานกว่ามิรู้สิ้นคือที่มิอาจยินได้) หรือถ้าชาวบ้านร้านตลาดสักคนจะลากออกจากบริบทเดิมให้มาเข้าเรื่องนี้ ก็ต้องบอกว่า รู้กันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดหรอก

หรือเราควรจะปล่อยให้มันไหลพรากทางตากันอย่างเดียวต่อไป ทั้งที่ไหลด้วยความซาบซึ้ง และไหลด้วยความคับแค้นใจ ช่างปะไร คนร้องไห้ไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผล

แต่ข้าพเจ้าไม่อยากเป็นคนขี้แยอีกแล้ว