เรียมเหลือทนแล้วนั่น

“เรียมไม่บังอาจถึงเพียงนั้นหรอกค่ะ” แล้วเธอก็มองดูตัวเธอเอง
คนอ่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็สงสัย ดูแล้วเห็นอะไรหรือ

ปัญหาเรื่องตัวตนและการแสดงจุดยืนเป็นปัญหาโลกแตก มีอยู่แบบไหน มีแล้วผิดไหม มีแล้วแสดงออกได้ไหม มีอยู่จริงหรือไม่ คนที่ขบคิดกับมันไม่แตก ย่อมมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาต่อเนื่องตามมาในทุกระดับ เช่นกระทั่งจะเขียนบทความสักชิ้น จนป่านนี้มันก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะใช้สรรพนามแทนตัวว่าอย่างไร

มันขอใช้คำว่ามันไปก่อนก็แล้วกัน

บรรยากาศเผด็จการผู้ดีครองเมือง ท่ามกลางความหลงใหลได้ปลื้มจากมวลชนชั้นกลางอันไพศาลจนนำไปสู่การออกใบอนุญาตฆาตกรรมหมู่สังเวยเมืองเทวดา ทำให้มันมีปัญหากับตัวตนของมันมากขึ้นไปอีก ก็มันไม่ควรละอายใจหรอกหรืออย่างไร ที่จะยังอ้างตัวเป็นวารสารเพื่อการอ่านการวิจารณ์อยู่ในประเทศที่บัดซบถึงเพียงนี้ การที่มันยังดำรงอยู่ได้ ย่อมแปลว่าถ้าไม่ใช่ง่อยเปลี้ยเสียขา ก็สมควรควักลูกตาออกไปข้างหนึ่งได้แล้ว

ยังจะต้อง ‘อ่าน’ อะไรกันอีกหรือในสังคมนี้ที่เต็มไปด้วยฆาตกรที่ฆ่าคนได้อย่างมีการศึกษา ฆ่าได้อย่างมีมธุรสวาจา ฆ่าได้อย่างมี ‘decency’ ถึงเพียงนี้

เวลาพูดถึงฆาตกรในที่นี้ มันไม่ได้หมายถึงเพียงคนลั่นกระสุน แต่หมายรวมถึงผู้บงการทั้งทางตรงและกองเชียร์ทางอ้อม อีกทั้งการฆ่าที่พูดถึงในที่นี้ ก็ไม่ได้นับเอาเมื่อมีคนเสียชีวิตคนแรกในวันที่ 10 เมษา แต่มันหมายรวมถึงการฆ่าอย่างเป็นระบบที่โหมโรงมาก่อนหน้า ให้คนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยไม่มีที่ยืน ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่สิทธิเสียง ลดคุณค่าให้เหลือเพียงคำรวบยอดเหยียดหยันว่าควายแดง

เอาเถอะ จะเกลียดจะรักนักการเมืองบางคนบางพรรคนักหนาก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่ทำไมถึงไม่เหลือพื้นที่ให้คนที่เขามีหัวใจที่ต่างไปบ้าง จนสุดท้ายที่นำไปสู่การฆ่าหมู่กลางเมืองอย่างนั้น ต่อให้เอาเหตุผลว่าเกลียดมนุษย์เดินดินบางคนเข้ากระดูกดำอย่างไร หรือรักเทพยดาบางองค์เข้าไส้ขนาดไหน ก็ไม่มีใครมีสิทธิออกใบอนุญาตให้ทำเช่นนั้น ไม่มีใครมีสิทธิเย้ยหยัน ไม่มีสิทธิกระทั่งจะดูดาย

มันคิดงุ่นง่านพลุ่งพล่านอยู่อย่างนั้นในห้องที่รายล้อมตัวเองไว้ด้วยหนังสือ ภาพสุดท้ายที่มันเห็นบนหน้าจอก่อนตัดสินใจปิดทีวีไปชั่วกาล คือภาพอาคารหรูระยับแห่งนั้นถูกเพลิงโหมไหม้ หรือมันควรจะหอบเอาหนังสือพวกนี้ไปช่วยสุมเชื้อไฟเสียด้วยกัน ก็ในเมื่อมันสูญเปล่าและลวงโลกขนาดนั้น ให้มันวอดไปพร้อมกันทั้งตู้โชว์ทางปัญญาและตู้โชว์สินค้าประจำชนชั้นของมัน – ชนชั้นทั้งในความหมายของการศึกษา เศรษฐกิจ วิธีคิด วัฒนธรรม รสนิยม และ ‘กรุงเทพฯ’

นับจากวันนั้นมา อาการของมันยิ่งสาหัส มันเริ่มไม่อยากพูดจากับใคร – ไม่พบและไม่พูด มันคอยแต่จะหลบและหนีทุกแห่งทุกที่ที่บรรดาคนร่วมฐานันดรของมันขลุกกันอยู่ มันโหยหาถึงแต่อะไรก็ได้ที่ต่างออกไป อะไรก็ได้ที่ไม่เลือดเย็นและลวงโลกแบบนั้น

คนพวกนั้นหายไปแล้ว คนพวกที่มันยังไม่ทันได้รู้จักกันให้มากขึ้น คนพวกที่สวมเสื้อสีแดง ถ้าไม่เป็นศพอยู่กลางถนนชื่อหรูนั่น ก็ซมซานกลับบ้านอย่างคนที่ถูกย่ำยีศักดิ์ศรีจนหมดสิ้น ทั้งต้องหัวซุกหัวซุนหลบซ่อนจากแขนขาของพวกอีลีตอำมหิตที่ตามไประรานราวจะให้ครบเจ็ดชั่วโคตร ความผิดของพวกเขามันร้ายแรงเสียเต็มประดา จึงพิพากษากันโดยไม่ต้องไต่สวนและไม่มีสิทธิอุทธรณ์

ที่หัวเตียงของมันยังมีพระองค์หนึ่งที่บรรจุอยู่ในกล่องพลาสติคเล็กๆ – หลวงพ่อทวด มันได้มาจากหนึ่งในคนพวกนั้น เมื่อครั้งที่มันไปนั่งตากลมตรงช่องตึกหรู ณ สี่แยกนั่นในคืนอบอ้าว เขาเป็นชายร่างทะมัดทะแมงที่เดินเข้ามาทักคนแปลกหน้าอย่างมันด้วยอัธยาศัย เขาดูออกว่ามันไม่ใช่ ‘พวก’ แต่ก็ไม่มีมีทีท่าเดียดฉันท์ เขายินดีตอบคำถามโง่ๆ ของมันอยู่ด้านหน้าตู้โชว์ ‘หลุยส์ วิตตอง’ ด้านข้างเวที มันจำได้ดีว่าเขาดูภูมิอกภูมิใจเพียงใดที่ได้แนะนำตัวเองว่า “ผมเป็นการ์ดของพี่แรมโบ้” มันนึกหน้าแกนนำเลือดร้อนคนนั้นที่สำหรับมันแล้วบางทีคำปราศรัยของเขาก็ออกจะมั่วและบุ่มบ่ามหุนหัน แต่สำหรับชายคนนี้ “พี่แรมโบ้ – ของจริง” เขารื้อบางหน้าของหนังสือพิมพ์หัวสีหลายฉบับที่พับเก็บไว้อย่างดีออกมาจากกระเป๋าเป้ ชี้ให้ดูรูปของเขาเองที่เคียงข้างพี่แรมโบ้ในสถานการณ์คับขัน จะว่าเขาเป็นลูกผู้ชายขี้โอ่ตามแบบฉบับก็ได้ แต่แววตาที่แสดงความภูมิใจอย่างจริงจังนั้น ทำให้มันไม่กล้าตัดสินพล่อยๆ เราทุกคนก็มีประวัติศาสตร์ส่วนตัวที่อยากจะได้คุยโอ่ให้ใครฟังสักวันทั้งนั้นแหละ เพียงแต่บางคนสามารถทำได้อย่างแนบเนียนกว่า หรือสถาปนาให้กลายเป็นอะไรที่ ‘แห่งชาติ’ ขึ้นมาได้สะดวกดายกว่า ในขณะที่ประวัติศาสตร์บนหน้าหนังสือพิมพ์ของชายเสื้อแดงที่เป็นการ์ดเสื้อดำคนนั้น คงมีแต่คนเสื้อสีเดียวกันที่จะร่วมภูมิใจ มันนั่งฟังคำปราศรัยบนเวทีไปอีกพักใหญ่ ชายคนนั้นก็เดินมายื่นถุงกล้วยอบแห้งชิ้นกลมๆ ให้ มันตอบปฏิเสธตามวิสัย แต่ทันทีที่เขาบอกว่า “กล้วยณัฐวุฒินะ” สาวใหญ่สาวน้อยแถวนั้นก็พากันยื่นมือมาขอแบ่งด้วย เขาหัวเราะชอบใจ ยืนยันว่ากล้วยอบที่ณัฐวุฒิให้มานี้อร่อยจริงๆ มันรับมากินอยู่หลายคำแล้วก็ยอมรับว่าใช่ กล้วยณัฐวุฒิ…อร่อย

คืนนั้นเป็นอีกคืนหนึ่งทีี่ข่าวสะพัดว่าจะมีการสลาย หลายคนชี้ให้มันดูตึกเซ็นทรัลเวิลด์ บอกว่าเห็นทหารเข้าไปซ่อนอยู่ข้างในนั้น บนรางรถไฟฟ้าก็มีทหารซุ่มยิง บรรยากาศชวนให้ต้องตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไป แล้วชายคนนั้นอีกนั่นแหละที่เดินเข้ามาหามันอีกรอบ เขาแอบจุกพระที่อยู่ในกล่องเล็กๆ นั้นใส่มือมัน “หลวงพ่อทวด ศักดิ์สิทธิ์นะพี่ เอาไว้ คืนนี้ไม่รู้จะเป็นยังไง” มันพยายามปฏิเสธว่าไม่ต้องหรอก เขานั่นแหละดูท่าจะต้องอาศัยพระคุ้มภัยมากกว่ามัน แต่ครั้นจะโยกโย้ไปมาอยู่อย่างนั้นก็รังแต่จะทำให้เขาเสียน้ำใจ มันรับมาใส่กระเป๋าไว้ ตั้งใจว่าจะค่อยคืนให้ก่อนกลับ แต่พอถึงเวลา หันไปหาก็เห็นเขาหลับนิ่งในท่ากอดอกเสียแล้ว มันเกรงใจที่จะเข้าไปปลุก จึงเก็บพระไว้ ตั้งใจจะนำไปคืนในคืนต่อไป แต่คืนที่ว่านั้นก็ไม่ทันได้มาถึง

ในวันนี้มันอยากจะเอาพระไปคืนเขาแทบขาดใจ มันไม่รู้ว่าเขาอยู่ไหน ชื่ออะไร แต่มันรู้ได้ว่าเขาคงหนีหัวซุกหัวซุนอยู่ข้างนอกนั่น ข่าวแกนนำตามหัวเมืองและการ์ดเสื้อแดงถูกฆ่า ถูกตามจับในแต่ละวัน มันรู้เข้าก็ใจหาย มันคงรู้สึกผิดค้างคาจนตายถ้าดูรูปในหนังสือพิมพ์แล้วพบว่าเป็นเขาอีกจนได้ ใครจะรู้ – “หลวงพ่อทวด ศักดิ์สิทธิ์นะพี่” ทั้งมันยังรู้สึกผิดซ้ำสองที่ตัวเองโล่งใจเมื่อพบว่าคนที่ตายไม่ใช่เขา แต่เอาเข้าจริงมันก็ยังไม่เคยจะแน่ใจ บัดซบเอ๊ย! มันจำหน้าเขาไม่ค่อยจะได้แล้วด้วยซ้ำ

อะไรทำให้สัมผัสและสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในกรณีคนเสื้อแดงนี้ ไม่มีพื้นที่และไม่มีความหมายในสายตาเพื่อนร่วมชนชั้นส่วนใหญ่ของมัน ก็เขาล้วนเป็นผู้มีการศึกษา มีคุณธรรม รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (!) กันทั้งนั้นมิใช่หรือ อะไรทำให้พวกเขาไม่นึกอยากจะเข้าใจถึงวิธีคิดและหัวจิตหัวใจของคนที่ต่างออกไปกลุ่มนี้ ทั้งที่นั่นก็ดูจะเป็นรูปสมบัติพื้นฐานของกระฎุมพีผู้มีการศึกษาทั้งหลายที่พร่ำพูดกันไม่ขาดปากในทีวี นิตยสาร ห้องเรียน วงสัมมนา คอร์สปฏิบัติธรรม คำขวัญ คำปาฐกถา คำเทศนา งานศิลปะ บทกวีและวรรณกรรม ทำไมจึงยากเย็นนักหนาที่จะพยายามเข้าใจ เราไม่ต้องชอบนักการเมืองคนเดียวกัน ไม่ต้องสมาทานนโยบายเดียวกันก็ได้ แต่ไม่ควรเลยที่จะต้องไล่บี้ริบสิทธิในชีวิตกันขนาดนั้น ทำกันจนไม่เหลือตัวตนและไม่เหลือทั้งตัวทั้งตน ทำกันจนเป็นแค่ธุลีสีแดงจริงๆ

มันหวนนึกถึงคนอีกหลายกลุ่มที่เคยได้รู้จักซึ่งกันและกัน มันไม่เคยลืมคนเหล่านั้นที่สอนให้มันรู้จักชีวิตที่ต่างไป อันเนื่องมาจากวิธีคิด วิถีการผลิต และวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่าง มันนึกถึงงานบุญวันหนึ่งที่ครัวใต้ถุนศาลาวัด มันประจงปอกสับปะรดโดยกะน้ำหนักให้คมมีดนั้นปาดเปลือกออกแต่บางๆ แล้วจึงค่อยสกัดตาสับปะรดออกเป็นแนวเฉียงเรียงไล่กันไปตามก้อนลูกนั้น มองในทางหนึ่ง นั่นอาจเป็นวิธีแกะผลไม้ขั้นพื้นฐานที่มันเคยเรียนรู้มาบ้าง อีกทางหนึ่ง นั่นคงเป็นการแก้ปัญหาของคนเมืองที่จะกินสับปะรดสักทีต้องเอาอัฐเอาเบี้ยไปแลกมาจากตลาด ป้าแม่ครัวตัวจริงแกเห็นแล้วก็ขัน คว้ามีดเล่มใหญ่มาหั่นพรวดๆ โครมๆ ปาดเนื้อทิ้งไปอีกครึ่งค่อน “ไม่งั้นเมื่อไหร่จะได้กิน” จะบอกว่าแกหยาบ ไม่รู้จักขัดจักแกะเกลาก็ได้ แต่ถ้าคำนึงว่าวันๆ แกไม่ได้นั่งเจริญใจอยู่ว่างๆ เดี๋ยวต้องลุกไปทำโน่นนี่ และแกคงไม่เห็นว่าจะกินทั้งทีทำไมจะต้องประดิดประดอยนักหนา และที่อาจจะสำคัญกว่าก็คือ ในละแวกแห่งนั้น เขาปลูกสับปะรดส่งโรงงานกันเป็นอาชีพ จะหั่นเนื้อทิ้งติดเปลือกไปบ้างก็ไม่ต้องเสียดาย “กูมีเป็นไร่” นิทานเรื่องนี้สอนมันให้รู้ว่า ประสาอะไรกับเรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าการปอกสับปะรดนั่น

สายตาบรรยายแบบนี้คงเอาไปเขียนบทสารคดีออกทีวีช่องมีการศึกษาและรักชุมชนช่องนั้นได้สบาย เชื่อมโยงกันไปสุดๆ ให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของความต่างเพื่อสร้างความเข้าใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่คนที่ปอกสับปะรด หั่นผัก ซักผ้า ฯลฯ ด้วยวิธีการต่างออกไป บังเอิญสวมเสื้อแดงขึ้นมา ความต่างทั้งหลายก็จะหดสั้นเหลือแค่คำว่าพวกทักษิณ หนักข้อกว่านั้นก็พวกล้มเจ้า ไม่ต่างจากที่ บก. ใหญ่แห่งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของประเทศนี้ (ที่เหมือนมีไว้แค่พอกันตาย) ต้องออกมาแปลให้ว่าคนพวกนั้นมันไม่ใช่กระทั่ง “มวลชน” แต่เป็นแค่ “ม็อบ” และ “ม็อบ” ที่ว่านี้ก็คงเป็นอย่างเดียวกันกับที่ บก. นิตยสารไฮโซฉบับหนึ่งเอ่ยถึงอย่างรำคาญว่า “พวกผ้าเช็ดเท้า” มิน่า ก็ช่วยขยายความกันขนาดนี้นี่เองเล่า พวกเขาจึงถูกฆ่าทิ้งกันได้อย่างไม่ผิดไวยากรณ์

จริงอยู่ มันปล้ำหมกมุ่นเขียนถึงความต่างของผู้คนอยู่อย่างนั้น แต่มันก็ไม่ได้อยากจะให้ใครๆ ต้องมาทำโรแมนติคถึงขั้นยกย่องเป็นภูมิปัญญา (ในการปอกสับปะรด ?) และก็ไม่ต้องการให้มาเวทนาว่า โถ เพราะการศึกษาน้อย ข้อมูลน้อย จึงตกป็นเครื่องมือเขา คนเหล่านี้ตัดสินจากข้อมูลของเขาเองว่าจะรักหรือเกลียดใคร จะถูกผิดอย่างไรพวกเขาควรได้มีโอกาสถกเถียงอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันกับชุดข้อมูลและการตัดสินของผู้มีการศึกษาทั้งหลาย ซึ่งก็มีโอกาสถูก-ผิดได้เหมือนกัน พวกเขามีตัวมีตน และมี ‘ตัวตน’ ของเขาพอๆ กับที่เรามี (และเมื่อรวมกันหลายๆ คนเข้า เขาก็กลายเป็นมวลชนไม่ต่างจากที่เราทุกคนก็เป็นพสกเสียด้วย)

พี่สาวคนนั้นเป็นหม้ายเพราะสามีถูกกระสุนปืนยิงเข้าท้ายทอยเมื่อเวลาสองทุ่มกว่า ณ สี่แยกคอกวัวในคืนวันที่ 10 เมษา มันจำได้แม่นยำถึงถ้อยคำที่เธอใช้เมื่อบรรยายถึงภูมิหลังของตัวเองว่า “พี่เป็นคนจีนยากจนจากเยาวราช” สามีของเธอต่างหากที่เป็นคนบ้านนอกผู้มีการศึกษาสูงกว่าเพราะเคยมา “เรียนรามฯ” เธอบอกว่าสามี “ชอบพูดเรื่องการเมืองให้ฟัง” เขาเป็นคนสอนเธอเกี่ยวกับเรื่องปัญหาประชาธิปไตย และเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ “เดือนตุลา” ทั้งหลาย สองผัวเมียช่วยกันทำงานตัวเป็นเกลียว หาเงินพอกิน พอส่งลูกเรียนหนังสือได้แม้ไม่เหลือเก็บ เมื่อสูญเสียสามีไปแล้วอย่างนี้ เธอมีแต่ต้องดิ้นรนหนักขึ้น รับจ้างขายของรายวัน หาเลี้ยงลูกอยู่ตัวคนเดียว แต่มันจำได้ เมื่อเจอกันครั้งแรกในงานศพของสามีซึ่งมาสิ้นลมช่วงกลางเดือนพฤษภา เธอมีสีหน้าที่เข้มแข็งแม้ดวงตาสองข้างแดงก่ำ แทนที่จะฟูมฟายถึงความสูญเสียของตัวเอง เธอเฝ้าถามข่าวจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่มาร่วมงานว่า “พวกที่บ่อนไก่เป็นไงกันบ้างแล้ว” ภายหลังจากนั้นเมื่อพบปะกันอีก เธอเล่าให้มันฟังว่าเธอยังคงติดตามสถานการณ์การเมืองแม้ว่าวันนี้จะไม่มีสามีคอยช่วยอธิบาย เธอเป็นฝ่ายเล่าให้มันฟังถึงข้อมูลและการวิเคราะห์ในแบบต่างๆ แหล่งข้อมูลของเธอได้แก่ข่าวที่เล่ากันในตลาด วิทยุบางคลื่นบางรายการ ใบปลิวที่คนแถวบ้านไปเก็บมาจากงานปราศรัยหาเสียง ทั้งหมดนี้ฟังดู ‘บ้านๆ’ จนน่ากังขาอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แต่ละเรื่องที่เธอหยิบยกมานั้นเป็นเนื้อหาในระดับที่ใกล้เคียงกันกับแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่มันรับรู้มาในแบบ ‘หอคอยๆ’ ของมันเช่นกัน จนมันชักไม่แน่ใจว่าข้อสรุปอันกระท่อนกระแท่นของเธอนั้น เป็นผลมาจากความไม่น่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล หรือเป็นเพราะธรรมชาติของวิธีการสื่อสารแบบพรายกระซิบ

แต่พวกเขาจะต้องเรียนรู้อีกเท่าไหร่ จึงจะรู้หน้ารู้ใจเพื่อนมนุษย์ต่างชนชั้นเหล่านั้นได้ มันหวนนึกถึงสาธกวรรณคดีที่พวกเขาชอบฟังกันอยู่หน้าเวที มันพยายามจะลอง ‘อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน’ กับเขาเหล่านั้นที่เสพผ่านการฟัง และไปเสาะหาจนพบ สามก๊กฉบับวณิพก ของ “ยาขอบ” เปิดอ่านไปได้สิบกว่าหน้ามันก็ถอนใจในความโหดของท้องเรื่องตอนนี้ ที่เวทีปราศรัยแห่งนั้นยังไม่ทันได้เล่า

ระหว่างรอนแรมไปกับมิตรร่วมอุดมการณ์นามว่าตันก๋ง โจโฉได้ไปอาศัยพักบ้านชาวบ้านผู้มีน้ำใจ เขายินดีต้อนรับ ฆ่าไก่ฆ่าหมูมาปรุงอาหารให้ ทั้งจะออกไปตลาดหาซื้อสุราดีๆ มาปรนเปรอ ขณะนอนเคลิ้มรอสุราอาหาร โจโฉเกิดหูแว่ว ได้ยินไม่ทันได้ศัพท์ว่าคนในบ้านกำลังปรึกษากันเพื่อจะ “มัดให้แน่นเสียก่อนแล้วจึงค่อยฆ่า” เท่านั้นโจโฉก็ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ฉวยดาบออกไปฟันผู้คนในบ้านทั้งเด็กและผู้หญิงตายเกลี้ยงแล้วรีบเผ่นหนี ระหว่างทางสวนกันกับเจ้าของบ้านที่เพิ่งกลับจากตลาด สนทนากันสองสามคำจึงได้รู้ว่าที่เขาพูดกันว่าจะจับมัดแล้วฆ่านั้น หมายถึงหมูที่จะเอามาทำอาหาร พอรู้ความจริงดังนั้น แทนที่จะสำนึกเสียใจ โจโฉกลับตัดสินใจ “ฟันขวับเด็ดหัวผู้เฒ่าใจซื่อขาดออกไปจากกาย” อ่านมาได้ถึงเท่านี้มันก็ปิดหนังสือโครม บ๊ะ! ฆ่าครอบครัวเขาทั้งไม่มีความผิด แล้วยังฆ่าเขาซ้ำเพื่อปกปิดความชั่วร้าย แต่ที่น่าสะดุดใจกว่าคือปฏิกิริยาของตันก๋งที่ตื่นตะลึงกับความอำมหิตในตัวเพื่อนร่วมทางที่เขานึกว่าเป็นผู้มีจิตใจสูง คติทิ้งท้ายของตอนนี้จึงมาจากความในใจของตันก๋งที่ว่า “จริงอยู่ การฉกฉวยโอกาสเป็นคติของผู้คิดการใหญ่ แต่การ ‘รักษาตัวรอดเป็นยอดดี’ ถึงขนาดกับล้างผลาญชีวิตผู้อื่นเขานั้น” ตันก๋งถึงแก่รำพัน “โธ่! กูเอ๋ยกู!”

มันกลับมานึกถึงปัญหาเดิมของมัน คือการก้มลงมองดูตัวเองแล้วเห็นอะไร มันคงจะดู ‘เสียศูนย์’ ‘ไม่เป็นกลาง’ กระทั่ง ‘เปลืองตัว’ อย่างยิ่งแล้วหากจะให้วารสารฉบับนี้ออกอาการในทางหนึ่งทางใด แต่จะให้ทำอย่างไรได้ในเมื่อ มีคนตายที่ราชดำเนินและราชประสงค์ และการตายนั้นก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลบล้างได้จากความทรงจำของมัน แม้อาจไม่เป็นบาดแผลฝังลึกเท่าคนเหล่านั้น มันนึกถึงเด็กสาววัยรุ่นผู้รักษาความทรงจำถึงพ่อของเธอในฐานะฮีโร่ในดวงใจที่กลายเป็นวีรชน เธอเล่าให้มันฟังว่า ในวาระสุดท้าย พ่อนอนเป็นอัมพาตอยู่ในโรงพยาบาลโดยใช้เครื่องช่วยหายใจ พ่อไม่อาจพูดจากับเธอได้อีกต่อไป เธอบอกว่าเธอไม่เคยร้องไห้ เธอทำใจรับได้ แต่เธอบอกกับแม่ว่าเธอมีคำถามหนึ่งที่ยังค้างคา เธออยากถามพ่อว่าเขาเสียใจไหมที่ออกไปสู้แล้วลงเอยแบบนี้ แม่ว่าอย่าถามเลย แต่เธอทนไม่ไหว “พ่อเสียใจหรือภูมิใจที่ไปชุมนุม” พ่อพยักหน้า เธอไม่แน่ใจ “พ่อเสียใจเหรอ” คราวนี้พ่อส่ายหน้า “พ่อไม่เสียใจใช่ไหม” พ่อพยักหน้า เล่ามาถึงตรงนี้เธอก็น้ำตาไหลเป็นครั้งแรกตั้งแต่สนทนากับมัน “หนูดีใจ” และคำตอบนั้นของพ่อก็ทำให้เธอน้ำตาไหลอยู่ข้างเตียงเขาเป็นครั้งแรกเช่นกัน

ทั้งความทรงจำถึงผู้คนและความตายเหล่านั้น ความรู้สึกล้มละลายทางศีลธรรมและปัญญาของผู้คนในชนชั้นเดียวกัน ทำให้มันหวนนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่ง จำได้ว่าตอนที่มันอ่านถึงท่อนที่อีเรียมร้องเสียงหลงว่า “พี่ขวัญ พี่ขวัญตายแล้ว ผัวฉันตายแล้ว โอ้ผัวฉัน” แล้วทำอะไรโง่ๆ อย่างการกระโจนตามลงไปในห้วงน้ำอันมืดมิดนั่น มันไพล่ไปสะดุดใจว่าอ่านมาตั้งนานไม่เห็นมีตรงไหนที่บอกไว้ชัดๆ ว่าตกลงอีเรียมได้-เสียเป็นเมียผัวกับไอ้ขวัญจริงๆ แล้วหรืออย่างไร

แต่ที่แน่ๆ และไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป

อีเรียมมันเหลือจะทนไหว – มันเลือกข้างแล้ว

หมายเหตุ: เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างสี (?) มันถูกขอร้องให้เลิกใช้นามสกุลของตัวเองที่เคยใช้ในการเขียนบทบรรณาธิการนี้ ในระหว่างที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะใช้นามอะไรแทนตัวตนที่ไม่มีสกุลของมันต่อไป มันขอใช้นามสกุลร่วมกับคุณภัควดีและคุณอาดาดลไปพลางๆ