จากกรุงเทพฯ ถึงมะนิลา: มีอะไรในการเดินทางไป ตระเวนมะนิลา ของ วิตต์ สุทธเสถียร

เกริ่นนำ
เรื่องสั้นและนวนิยายของไทยที่ใช้ฉากต่างประเทศอาจนับได้ว่าเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เขียนเรื่อง ละครแห่งชีวิต ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายและส่งทอดรูปแบบดังกล่าวไปสู่นักเขียนรุ่นหลัง จนเกิดงานเขียนประเภทวรรณกรรมต่างแดนออกมาจำนวนมาก นักวิชาการและนักวิจารณ์มักเรียกงานเขียนร้อยแก้วทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายที่ใช้ฉากต่างประเทศว่า “วรรณกรรมต่างแดน” “ไพรัชนิยาย” หรือ “นิยายพันธุ์เทศ” มากกว่าจะเรียกว่าวรรณกรรมการเดินทาง สุภา ศิริมานนท์ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ในทศวรรษ 2480 ได้อธิบายความหมายของวรรณกรรมที่ใช้ฉากต่างประเทศไว้ในบทความ “อย่างไรหนอที่เรียกนิยายพันธุ์เทศ?” ด้วยการให้ความสำคัญกับฉากในการจัดประเภทให้เป็นนิยายพันธุ์เทศว่า

นิยายพันธุ์เทศ (Exotic Story) นั้นนอกจากความสมจริงแล้ว ‘ข้อเท็จจริง’ เป็นอีกสิ่งที่สำคัญนัก… และต้องให้กรณีแวดล้อมทุกสิ่งทุกอย่างตลอดจนเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นไปอย่างสมจริงตามกาละที่ใช้อยู่ในท้องเรื่องด้วย ทั้งนี้เพราะเมืองเหล่านี้มันมีอยู่จริงในแผนที่และในภูมิศาสตร์และทั้งมีประวัติการณ์มีบรรยากาศของมันโดยชัดตระหนักเป็นหลักฐานอยู่ (น. 469)

ฉากจึงเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดประเภทวรรณกรรมต่างแดนซึ่งสุภาเน้นที่ความสมจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเรื่องดำเนินไปในฉาก “จะแต่งเรื่องที่ใช้กรุงปารีสก็ต้องให้มันเป็นกรุงปารีส จะใช้กรุงลอนดอนก็ต้องให้เป็นกรุงลอนดอน จะใช้ปักกิ่งก็ต้องให้เป็นกรุงปักกิ่งหรือจะใช้กรุงโตเกียวก็ต้องให้เป็นกรุงโตเกียว” อย่างไรก็ตาม สุภาได้ตั้งข้อสังเกตไว้เช่นกันว่า แม้นักเขียนจะใช้ฉากจากประเทศเดียวกัน การให้ภาพเมืองของนักเขียนแต่ละคนก็มีความ
แตกต่างกันได้ ดังที่เขายกตัวอย่างวรรณกรรมต่างแดนที่ใช้ฉากในโตเกียวเรื่อง ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา และ ไม่มีข่าวจากโตเกียว ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ว่า แม้เรื่องแรกจะให้ทัศนียภาพของโตเกียวไว้อย่างละเอียด แต่เรื่องหลังกลับมีความเป็นนิยายพันธุ์เทศมากกว่า ซึ่งสุภาไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดจึงจัดให้ ไม่มีข่าวจากโตเกียว มีความเป็นวรรณกรรมต่างแดนมากกว่า อย่างไรก็ดี หากใช้ฉากเป็นตัวจัดประเภทวรรณกรรมต่างแดนแล้ว จะทำให้เห็นว่าในช่วงทศวรรษ 2470-2490 มีวรรณกรรมต่างแดนที่ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางหลายเรื่อง อาทิ ละครแห่งชีวิต ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ที่ใช้ฉากในลอนดอนและสหรัฐอเมริกา, ความรักของวัลยา ของเสนีย์
เสาวพงศ์ ที่ใช้ฉากในปารีส, ปักกิ่งนครแห่งความหลัง ของสด กูรมะโรหิต ที่ใช้ฉากในรัสเซียและจีน, ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพาที่ใช้ฉากในโตเกียว เป็นต้น จะสังเกตเห็นได้ว่าวรรณกรรมที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มวรรณกรรมต่างแดนเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ฉากในประเทศนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในช่วงทศวรรษ 2480 ก็ยังมีวรรณกรรมที่ใช้ฉากในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะวรรณกรรมที่ใช้ฉากในประเทศฟิลิปปินส์นั้นมีหลายเรื่อง เช่น นักบุญคนบาป ของอิศรา อมันตกุล, ตะวันตกที่อ่าวมนิลา ของเจอด สรคุปต์ รวมทั้ง ตระเวนมะนิลา ของวิตต์ สุทธเสถียร การที่นักเขียนหลายคนเลือกใช้ฉากในประเทศฟิลิปปินส์ทำให้มองเห็นว่าประเทศฟิลิปปินส์มีความสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ผู้เขียนนำเรื่อง ตระเวนมะนิลา มาเป็นกรณีศึกษาเนื่องจากวิตต์ใช้ฉากในประเทศฟิลิปปินส์ตลอดทั้งเรื่อง ต่างจาก นักบุญคนบาป ที่ใช้ฉากในฟิลิปปินส์เพียงครึ่งเรื่อง และ ตะวันตกที่อ่าวมะนิลา ที่เน้นการเล่าเรื่องซึ่งย้อนคิดจากเมืองไทยมากกว่าเน้นเรื่องที่ดำเนินไปในฟิลิปปินส์

หน้าปก 1 เอื้อเฟื้อภาพโดย Sakchai Phanawat(1)