ปริทัศน์หนังสือว่าด้วยความรุ่งเรือง-ล่มสลายของจักรวรรดิและปัญหาว่าด้วยจักรวรรดินิยมเสรี

…ผมไม่รู้มาก่อนเลยว่าจักรวรรดิอังกฤษกำลังจะตาย
ยิ่งไม่รู้ไปกันใหญ่ว่ามันยังนับว่าดีกว่าจักรวรรดิรุ่นหลังๆ ที่จะมาแทนที่อยู่มากโขนัก…

George Orwell, “Shooting an Elephant”

 

เมื่อไม่กี่ปีก่อน หนังสือเอ็มไพร์ (Empire, 2000) ของไมเคิล ฮาร์ดท์ กับอันโตนิโอ เนกรี ได้สร้างความฮือฮาในแวดวงนักวิชาการไทยไม่น้อย มีการจัดสัมมนากันครั้งแล้วครั้งเล่า วารสารหัวเอียงซ้ายฟ้าเดียวกัน ถึงกับเคยนำเนื้อหาจากการอภิปรายทางวิชาการครั้งหนึ่งมาตีพิมพ์เป็นเรื่องเด่นในฉบับแรก ๆ วารสารรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์หลายฉบับก็มีบทความเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เช่นกัน เมื่อเร็วๆ นี้ เนื้อหาโดยย่อของหนังสือพร้อมชีวประวัติของผู้เขียนหลักก็ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เอ็มไพร์ เป็นความพยายามในเชิงทฤษฎีที่จะปรับมาร์กซิสต์ให้เข้ากับสภาพเงื่อนไขของทุนนิยมปลายศตวรรษที่ 20 โดยอัดแน่นไปด้วยการสร้างทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับ “ชีวอำนาจ” (biopower) ของฟูโกต์ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดถึงกับขนานนามหนังสือที่ตนพิมพ์เล่มนี้ว่าเป็น “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ฉบับใหม่” เลยทีเดียว

ข้อถกเถียงของ เอ็มไพร์ ก็คือว่า โลกาภิวัตน์และการแผ่ขยายของทุนนิยมทุกวันนี้ แทรกซอนไปอย่างทั่วถึงเสียจนรูปรอยใดๆ ที่แสดงว่ารัฐชาติยังคงยึดกุมอธิปไตยอยู่นั้นกำลังเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องผิดถนัดที่จะไปเชื่อข้อถกเถียงแนวเสรีนิยม (ที่ถูกรวบความไว้ในหนังสือชื่อดังของฟรานซิส ฟูกูยามา The End of History and the Last Man) ที่ว่าโลกกำลังอยู่ในยุคแห่งเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ อันที่จริง “จักรวรรดิ” ใหม่นี้แผ่ไพศาลเสียยิ่งกว่าบรรพบุรุษของมันในศตวรรษที่ 19 เสียอีก และรูปแบบการครอบงำก็มีความแยบยลกว่ามาก ในขณะที่จักรวรรดินิยมแบบเก่ามีศูนย์กลางอยู่ในยุโรป จักรวรรดิใหม่นี้มีลักษณะครอบโลกทั้งใบ “มันทั้งอยู่ในทุกที่และไม่อยู่ที่ไหนเลย” (“it is both everywhere and nowhere” หน้า 190) หากถามว่าใครเป็นผู้ควบคุมจักรวรรดิใหม่นี้ ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่ทั้งสหรัฐอเมริกาและตะวันตก แม้ว่าการมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบทุนนิยมจะทำให้แนวคิดและแนวทางปฏิบัติของตะวันตกมีอิทธิพลอยู่โดยปริยายก็ตาม เนื่องจากจักรวรรดินั้นประกอบด้วย “องคาพยพในระดับชาติและข้ามชาติจำนวนหนึ่งที่หลอมรวมเอกภาพขึ้นภายใต้ตรรกะการปกครองชุดเดียวกัน” ทุกวันนี้ด้วยความที่รัฐชาติเสื่อมสลายลงอันเนื่องมาจากระบบทุนนิยมระดับโลก ทำให้ “จักรวรรดิเป็นอำนาจอธิปัตย์ที่ปกครองโลก” (หน้า xi) อย่างไรก็ตาม ความหวังยังมีอยู่เสมอ เนกรีและฮาร์ดท์พยายามโหมกระพือเชื้อไฟความคิดที่โรแมนติคของมาร์กซิสต์อย่าง “การต่อต้าน” และ “การต่อสู้” ที่ยังเป็นที่ชื่นชอบของนักกิจกรรมทางสังคมและเอ็นจีโอทั่วโลกขึ้นมา (หน้า 324) นั่นคือ “ระเบียบของจักรวรรดิที่เราเห็นอยู่ไม่ได้เป็นโลกที่มิอาจสูญสลายลงได้ หากแต่ยังมีโอกาสให้กับความเป็นไปได้ที่จะล้มล้างระเบียบนี้ลงและให้กับศักยภาพใหม่ๆ สำหรับการปฏิวัติ” (หน้า 324)

ความสนอกสนใจต่อ เอ็มไพร์ นี้ประจวบเหมาะกับความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของโลกวิชาการต่อทฤษฎีว่าด้วยหลังอาณานิคม (post-colonialism) เป็นเรื่องแปลกที่แนวคิดหลังอาณานิคมดูจะได้รับความนิยมมากขึ้นในแวดวงรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ไทยในสหัสวรรษใหม่นี้ ก็ต่อเมื่อผ่านพ้นช่วงรุ่งเรืองของมันในแวดวงวิชาการตะวันตกในทศวรรษ 1980 และ 1990 มาแล้ว

… เอ็มไพร์ ยุคหลังอาณานิคมและทฤษฎีฝ่ายซ้ายต่างๆ ว่าด้วยจักรวรรดินิยม จึงหล่นอยู่บนเนื้อดินอันอุดมของปัญญาชนแวดวงสังคมศาสตร์ของไทยในช่วงปีแรกๆ ของสหัสวรรษใหม่ การต่อต้านจักรวรรดินิยมดำเนินไปตามสูตรสำเร็จที่ถือว่ามีความถูกต้องทางการเมือง (politically correct) ที่ว่าจักรวรรดิเป็นสิ่งชั่วร้าย ในขณะที่การต่อต้านและประท้วงเป็นสิ่งดีงาม

หนังสืออีกเล่มที่ได้รับการตอบรับน้อยกว่านักในแวดวงวิชาการไทย (อันที่จริงแทบไม่ได้รับความสนใจเลย) เป็นของไนล์ เฟอร์กูสัน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษผู้มากผลงาน มีชื่อว่า เอ็มไพร์ เช่นเดียวกัน (ชื่อรองคือ How Britain Made the Modern World ) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2003 เหตุผลที่ เอ็มไพร์ ของเฟอร์กูสันไม่ได้รับการต้อนรับแบบเดียวกับเอ็มไพร์ ของเนกรีกับฮาร์ดท์นั้นอธิบายได้ง่ายมาก กล่าวคือ เฟอร์กูสันเสนอว่าจักรวรรดินิยมแบบอังกฤษและอเมริกันนั้น เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว เป็น “สิ่งที่ดี” ข้อถกเถียงของเขาในเอ็มไพร์ และหนังสือเล่มต่อๆ มาตลอดจนสารคดีโทรทัศน์จำนวนมาก เป็นหนึ่งในการให้เหตุผลสนับสนุน “จักรวรรดินิยมเสรี” ที่มีพลัง นั่นคือเป็นจักรวรรดินิยมใจบุญที่ทำให้โลกปลอดภัยสำหรับระเบียบทางเศรษฐกิจและการเมือง ความแตกต่างของน้ำเสียงในหนังสือทั้งสองเล่มนั้น ส่วนหนึ่งอาจอธิบายได้จากภูมิหลังที่แตกต่างกันของผู้เขียน