เยาวราชกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม: วัฒนธรรมเมืองในชุมชนจีนกรุงเทพฯ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ถนนเยาวราชเริ่มต้นที่โรงภาพยนตร์นิวโอเดียนไปสิ้นสุดที่วังบูรพา ระยะทางยาวประมาณหนึ่งกิโลเมตรเศษ ถนนสายนี้ดูเหมือนกับถนนสายอื่นๆ ในกรุงเทพฯ แต่ที่พิเศษกว่าก็คือการเป็นย่านชุมชนจีนหรือ “ไชน่าทาวน์” ที่เป็นแบบฉบับที่สุดของชุมชนชาวจีนโพ้นทะเล มีชาวจีนตั้งแต่ระดับสูงสุดจนถึงระดับต่ำสุดอาศัยอยู่ ดูจากภายนอกจะเห็นบริษัทห้างร้านอันใหญ่โตโออ่า มีป้ายบอกยี่ห้อร้านเป็นภาษาจีนตั้งเรียงรายอยู่สองฟากถนน แสดงถึงฐานะอันมั่งคั่งสุดยอดของผู้เป็นเจ้าของอาคารร้านค้าเหล่านั้น แต่ลึกเข้าไปในตรอกเล็กซอยน้อย ในอาคารบ้านพักแบบหยาบๆ โทรมๆ กลับเป็นที่อยู่อาศัยของมหาชนชาวจีนผู้หาเช้ากินค่ำหรือหาเช้าไม่พอกินค่ำ อยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด ณ ที่นั้นมีคณะงิ้วแต้จิ๋วคณะต่างๆ ที่ยังหลงเหลือ มีร้านขายหนังสือจีนที่ย่านอื่นๆ ไม่มี มีโรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งที่ฉายเฉพาะภาพยนตร์เสียงภาษาจีนกลาง จีนกวางตุ้งและจีนแต้จิ๋ว มีโรงแรม โรงน้ำชาที่คงเอกลักษณ์แบบจีนอย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนตร์ที่ฉายเฉพาะภาพยนตร์ฝรั่ง ภาพยนตร์ญี่ปุ่น ภาพยนตร์อินเดีย และภาพยนตร์ไทยมีคณะระบำโป๊หรือระบำจ้ำบ๊ะ มีบาร์ ไนท์คลับ ภัตตาคารใหญ่ ไปจนถึงแผงลอยริมฟุตปาธที่ขายของ “เลหลัง” ฯลฯ

ข้อความข้างต้นมาจากบทนำในนวนิยายภาษาจีนเรื่อง เยาวราชในพายุฝน ซึ่งเคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหน้าวรรณกรรมของหนังสือพิมพ์หัวเฟิงรายสัปดาห์ (Huafeng Zhoubao) ระหว่างปี ค.ศ.1963-1964 โดยนักเขียนไทยเชื้อสายจีนเก้าคน ซึ่งตั้งใจใช้ชุมชนจีนเป็นฉากหลักในงานประพันธ์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าชุมชนจีนที่ถูกนำเสนอและกลายเป็นชื่อนวนิยายเรื่องนี้ก็คือเยาวราช ซึ่งถือเป็นหนึ่งในชุมชนจีนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แม้ว่าคนทั่วไปอาจจะนึกถึงชุมชนจีนเก่าแก่เช่นเยาวราชในฐานะศูนย์กลางของวัฒนธรรมจีน ที่ซึ่งมีศาลเจ้า สมาคมจีน และโรงเรียนจีนตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภาพแทนของเยาวราชที่ปรากฏในนวนิยายเรื่อง เยาวราชในพายุฝน นั้นกลับต่างออกไปจากภาพที่คนทั่วไปคุ้นเคย กล่าวคือ มีการนำเสนอภาพของเยาวราชในฐานะพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยชี้ให้เห็นว่าชุมชนจีนนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่การแสดงออกทางวัฒนธรรมจีน (เช่น ร้านหนังสือจีน สมาคมจีน โรงภาพยนตร์จีน และโรงน้ำชาจีน) เท่านั้น หากยังประกอบด้วยกิจกรรมทางวัฒนธรรมสมัยใหม่ (เช่น โรงภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ไนท์คลับ และโรงระบำโป๊ เป็นต้น) ซึ่งสัมพันธ์กับการพัฒนาชุมชนจีนไปสู่ความเป็นเมือง

แม้ว่าการนำเสนอภาพชุมชนจีนในงานวรรณกรรมสามารถนำไปสู่การตีความที่หลากหลาย แต่มุมมองเรื่องชุมชนจีนในฐานะชุมชนที่มีพลวัตด้านการค้าและวัฒนธรรมก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม บทความนี้จึงมุ่งแสดงภาพพัฒนาการของชุมชนจีนย่านเยาวราช ผ่านการศึกษากระบวนการสร้างความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ภายใต้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา โดยมีชุมชนจีนย่านเยาวราชหรือที่เรียกกันว่าไชน่าทาวน์ ของกรุงเทพฯ เป็นกรณีศึกษา บทความนี้เสนอว่าชุมชนจีนย่านเยาวราชมีลักษณะต่างไปจากแนวคิดเรื่องไชน่าทาวน์ที่งานวิชาการก่อนหน้านี้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ กล่าวคือ เยาวราชไม่ได้เป็นชุมชนที่โดดเดี่ยวทางชาติพันธ์ุและวัฒนธรรม ทว่ากลับเปิดกว้างและเปิดรับวัฒนธรรมจากภายนอก ทำให้เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ และผลผลิตของพลวัตในชุมชนการค้าและวัฒนธรรมเช่นเยาวราชที่เปิดกว้างติดต่อกับโลกภายนอก ทำให้เยาวราชกลายเป็นชุมชนจีนที่มีวัฒนธรรมเมือง ซึ่งมีการเสพ/บริโภควัฒนธรรมที่ต่างไปจากวัฒนธรรมจีนเชิงจารีตนั่นเอง