ปลักตมแห่งความเฉื่อยทางจริยธรรม ในภาพยนตร์ของลูเครเชีย มาร์เตล

มันเป็นฤดูร้อนอันหนืดเนือยในบ้านพักตากอากาศหรูหราของสาวใหญ่ เมชา  พวกเขาทั้งหญิงและชายในชุดว่ายน้ำนอนแซ่วอยู่บนเก้าอี้ผ้าใบริมสระที่ไร้การดูแล  น้ำเป็นสีขุ่นและทับถมด้วยซากใบไม้ดินโคลนจนไม่อาจลงไปเล่นได้  พวกผู้ใหญ่ซึ่งเมามายตลอดกาลกับเหล้าที่พร้อมเสิร์ฟตลอดเวลา กำลังสมคบคิดกันจะขับรถไปโบลิเวียเพื่อซื้อของใช้ของลูกๆ  เด็กๆ ที่กำลังปิดเทอมส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวไม่หยุดนิ่ง  บางคนแบกปืนเข้าไปในป่าทำทีล่าสัตว์ ก่อนจะเจอเข้ากับวัวที่กำลังติดหล่มโคลนและดิ้นรนเอาชีวิตรอดอย่างทุกข์ทรมาน  เด็กน้อยอีกคนหนึ่งมีฟันงอกจากเพดานปาก ชอบหยุดหายใจไปดื้อๆ และเอาแต่เฝ้าครุ่นคิดเรื่องหนูกินแมวที่ใครบางคนแกล้งหลอก  ส่วนกลุ่มหนุ่มสาววัยรุ่นรวมตัวกันอยู่ในบ้าน  เด็กสาวแสดงความสนใจหญิงรับใช้อินเดียนพื้นเมืองอย่างไม่ปิดบัง และพยายามหาเรื่องเข้าไปกอดก่าย ขณะที่ฝ่ายหญิงรับใช้นั้นก็พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะหาทางไปพบแฟนหนุ่ม  ส่วนลูกชายคนโตซึ่งเพิ่งมาถึงหลังจากแม่เป็นลมล้มทับแก้วเหล้า ก็ถูกสาวใหญ่ที่เป็นเพื่อนของแม่ (และอาจจะเป็นชู้รักของพ่อรวมถึงเขาด้วย) โทรตามตัวตลอดเวลา ขณะที่เขาก็ให้ความสนใจสาวอินเดียน และเล่นเอาเถิดเอาล่อเชิงอีโรติกกับน้องสาวตัวเองไปด้วยพร้อมๆ กันในบ้านเล็กอีกหลังของทาลีผู้เป็นน้องสาวของเมชา  สรรพสิ่งดำเนินไปอย่างไร้ทิศทางท่ามกลางเสียงพูดไม่รู้จบของสมาชิกมากหลาย มีเพียงความหนืดเนือย  ความชั่วร้ายรอคอยอย่างเงียบเชียบซ่อนเร้นอยู่ในทุกอณูของอากาศหนาหนักอบอ้าว ละอองน้ำที่อัดแน่นบนท้องฟ้ามืดครึ้ม และเสียงคำรามหลังภูเขา

เราไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าอะเมเลียเป็นเด็กสาวเคร่งศาสนาหรือไม่ เพราะแม้เธอจะเข้าชมรมคาทอลิกและท่องคำสวดตลอดเวลา แต่เธอกับเพื่อนสนิทก็ชอบแอบกระซิบกระซาบเรื่องตลกลามก  เช่นเดียวกับฮันนาห์แม่ของเธอ ที่เราไม่อาจบอกได้ว่าเป็นหญิงแกร่งหรือหญิงไร้สุขในชุดเปิดหลังสีแดง ผู้คอยดูแลกิจการโรงแรมและอาศัยห้องหนึ่งในนั้นเป็นบ้าน  ส่วนคุณหมอโฮนาก็เช่นกัน เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าเขาเป็นคุณหมอเฉพาะทางหู-คอ-จมูกผู้แสนสุภาพที่เดินทางมาประชุมวิชาการ หรือเป็นคนลามกที่ชอบถูไถในฝูงชนกันแน่  อะเมเลียนั้นพบหมอโฮนาครั้งแรกขณะเธอกำลังยืนดูการแสดงดนตรีอยู่ในหมู่ฝูงชน  เขาเข้ามายืนประชิดและลวนลามเธอจากข้างหลัง พอเธอรู้ตัวเขาก็หลบหนีไป  อะเมเลียไม่ได้อยากประณามเขา เธอออกจะพึงใจกับการกระทำนั้นเสียด้วยซ้ำ และกำหนดให้เขาเป็นพันธกิจที่เธอพึงมีต่อพระเจ้า  นับจากนั้นมาเธอเฝ้ามองเขา แอบสะกดรอยตามเขา และมองเห็นร่องรอยจางๆ ว่าเขาอาจจะชอบแม่ของเธอ ขณะที่แม่ของเธอก็ดูเหมือนจะเล่นด้วย  ท่ามกลางความเอาแน่นอนไม่ได้เหล่านี้ พวกเขาและเธอในโรงแรมประหลาดที่ดูมืดๆ เก่าๆ เหมือนตั้งอยู่ปลายขอบโลก อาจจะทำหรือไม่ทำอะไรเลย  ท่ามกลางความคลุมเครือของภาพและเหตุการณ์ในมุมกล้องอันจำกัด ความหวาดหวั่นก่อตัวขึ้นเงียบๆ เหมือนคลื่นใต้น้ำที่มองไม่เห็น ค่อยๆ กดดันทั้งตัวละครและคนดู  เหตุการณ์ที่ดูไร้ความสลักสำคัญ กลับอาจก่อชนวนความสะพรึงกลัวส่งต่อไปเป็นทอดๆ กดทับท่ามกลางความไม่แน่นอน ไม่มั่นใจ และความหวาดผวา ราวกับเหตุการณ์ร้ายซุ่มซ่อนอยู่ในทุกอณูของมัน

หลังกลับจากบ้านญาติ เวโรตัดสินใจหักเลี้ยวรถของเธอเข้าทางลัดเลียบคลองชลประทาน  ถนนแห้งผากร้างไร้เงาผู้คน เธอเปิดเพลงเสียงดังอย่างสบายอารมณ์  ทันใดนั้นเธอรู้สึกว่ารถปะทะเข้ากับบางสิ่งอย่างแรง มันกระเด้งกระดอนสองครั้ง เธอเหยียบเบรกฉับพลัน นิ่งอึ้งอยู่ในรถ ก่อนจะค่อยๆ รวบรวมสติแล้วสตาร์ทรถอีกครั้งด้วยความสับสนมึนงง  เธอขับรถมาจนถึงทางแยก แวะจอดตั้งสติก่อนจะลงไปเดินดูรอบๆ รถ  ตอนนั้นเองฝนก็เริ่มตกลงมา แทนที่จะกลับบ้าน เธอแวะพักที่โรงแรมระหว่างทาง และเปิดห้องเข้าไปหลับใหลไม่ได้สติข้ามวันข้ามคืนในช่วงสุดสัปดาห์ที่พายุโหมกระหน่ำ  เธอตื่นขึ้นมาพร้อมความสำนึกผิดอันคลุมเครือว่าเธออาจจะชนใครสักคน  เธอฆ่าคนตายโดยที่ไม่รู้ว่าคนตายคือใคร ไม่รู้กระทั่งว่าเธอได้ฆ่าใครไปจริงๆ หรือเปล่า  ท่ามกลางความมึนงงที่อาจเป็นผลจากการที่ศีรษะกระทบกระเทือน เธอจมลงในความสำนึกบาปที่คลุมเครือไม่ชัดแจ้ง หวาดผวาวิตกจริตถึงผลพวงของมัน และใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ อย่างมืดบอด

เรื่องเล่าของ เมชา, อะเมเลีย และเวโร นั้นมีความคล้ายคลึงกันอยู่หลายส่วน เช่นในแง่ที่ว่าพวกเธอล้วนคือผู้คนที่จมอยู่ในโลกอันคลุมเครือไม่แน่ชัด อันอาจมีเหตุทั้งจากสุรา ศาสนา หรืออุบัติเหตุ แต่แทนที่พวกเธอจะหยุดเพื่อค้นหาหรือแก้ไข พวกเธอกลับเลือกเดินหน้า “ทำเนียน” ใช้ชีวิตต่อไป  ภายใต้บรรยากาศอึมครึมทั้งจากดินฟ้าอากาศ และจากความสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ของพวกเธอกับบรรดาผู้คนรอบข้าง ความลับที่ต้องปกปิดและความสำนึกบาปที่ค่อยๆ เจือจางลง ในที่สุดก็ผลักให้พวกเธอผลิตสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้พวกเธอกลายเป็นอื่น หากทำให้พวกเธอกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เธอสังกัด ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่มันจะหมายถึงสังคมของชนชั้นกลางในอาร์เจนตินา หรืออาจเป็นที่ไหนในโลกก็ได้

แท้จริงแล้วพวกเธอเป็นเพียงตัวละครจากหนังยาวสามเรื่องของผู้กำกับหญิงชาวอาร์เจนตินา ลูเครเชีย มาร์เตล (Lucrecia Martel)  มาร์เตลเกิดในปี 1966 ในครอบครัวคนชั้นกลาง และถูกนับเป็นหนึ่งในผู้กำกับกลุ่ม New Argentine Cinema ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้กำกับที่มาจากโรงเรียนภาพยนตร์ซึ่งบูมมากในอาร์เจนตินาในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง และเป็นยุคที่มีการผ่านกฎหมายเพื่อให้มีการผลิตภาพยนตร์หลากรูปแบบอย่างแพร่หลาย  อย่างไรก็ตาม กลุ่ม New Argentine Cinema เองกลับไม่ได้เป็นตัวแทนของยุคเฟื่องฟู เพราะผู้กำกับกลุ่มนี้เรียนจบออกมาและทำหนังในยุคที่เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาล่มสลายไปแล้ว  หนังในกลุ่มนี้จึงมักสะท้อนภาพการล่มสลายทางเศรษฐกิจเสียมากกว่า   อย่างไรก็ตาม มาร์เตลกลับรู้สึกว่าเธอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนี้แม้จะจบมาจากโรงเรียนภาพยนตร์เหมือนกัน (เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า เธอเข้าเรียนในโรงเรียนภาพยนตร์แห่งหนึ่ง แต่มันปิดตัวลงก่อนที่เธอจะเรียนจบ และแม้เธอจะย้ายไปเรียนต่อที่อื่น แต่สำหรับเธอแล้วครูที่แท้จริงคือการดูหนังและการอ่านหนังสือต่างหาก)

หนังทั้งสามเรื่องของเธอวนเวียนพูดถึงชีวิตของชนชั้นกลางในอาร์เจนตินา อันเป็นชนชั้นที่เธอสังกัดอยู่ ภายใต้กรอบเรื่องที่ดูสามัญ หลวมโพรก มาร์เตลสร้างสรรพสิ่งขึ้นจากองค์ประกอบพื้นฐานของภาพยนตร์ นั่นคือ ภาพและเสียง เรื่องเล่าที่สามารถเล่าสั้นๆ และคาดคะเนตอนจบได้ไม่ยาก หรือบางทีก็เล่าไม่ได้เพราะไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นเลย