Come out and “play” ! อ่านการเมืองสีรุ้งในภาพยนตร์เรื่อง Milk

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 องค์กรบางกอกเรนโบว์ กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแห่งบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ร่วมมือกับเอ็มพิคเจอร์ส และเมเจอร์ ซีเนเพล็กซ์ จัดฉายภาพยนตร์อันเกี่ยวเนื่องกับการเรียกร้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางเพศโดยตรง เรื่อง Milk (2008)  ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานแสดงของฌอน เพนน์ ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชาย (ที่แสดงเป็นคนรักเพศเดียวกัน) ยอดเยี่ยมในการมอบรางวัลออสการ์ครั้งที่ 81  พร้อมกับที่ภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire (2008) โดยผู้กำกับผิวขาวแดนนี่ บอยล์ (Danny Boyle) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตเยาวชนในชุมชนแออัดในประเทศอินเดีย ก็คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม การมอบรางวัลออสการ์ปีนี้จึงคึกคักด้วยเรื่องเล่าชีวิตของกลุ่มคนที่อยู่นอกกระแสหลักอีกคราวหนึ่ง

จังหวะเวลาออกฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ ช่างเหมาะเจาะกับสถานการณ์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและไทย ซึ่งอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยที่เรื่องความหลากหลายทางเพศก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องรณรงค์เรียกร้องเพื่อความเปลี่ยนแปลงกันต่อไป แม้ว่าระดับของการต่อสู้และความเข้าใจในประเด็นนี้ของสังคมไทยและอเมริกันจะต่างกันอยู่พอสมควรก็ตาม

เมื่อ “นำเข้า” มาสู่ประเทศไทย หน้าหนังของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ถูกปกปิด อำพรางหรือสร้างความคลุมเครือแต่อย่างใด ว่าตัวเรื่องมุ่งบอกเล่าชีวประวัติของชายรักเพศเดียวกันผู้หนึ่ง รวมถึงประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนรักเพศเดียวกันในสหรัฐอเมริกา  ผู้ชมจึงไม่น่าจะถูกชักนำให้เข้าไปชมภาพยนตร์ด้วยภาพลวงตาที่อำพรางประเด็นความหลากหลายทางเพศดังที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์ไทยหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา  Milk จึงน่าจะเป็นตัวบ่งชี้อย่างมีนัยสำคัญอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อคอหนังในสังคมรักต่างเพศอย่างบ้านเรา รู้ว่าเป็นภาพยนตร์ “แบบนี้” แล้วจะมีการตอบรับหรือปฏิกิริยาอย่างไร  เป็นที่น่าสังเกตว่า คำที่แบกรับความหมายแง่ลบในภาษาไทยเช่นคำว่า “ฉาว” ถูกใช้ในคำโปรยว่า “ชีวประวัติที่อื้อฉาวที่สุด” ส่วน “ผู้ชายฉาวโลก” ก็ถูกใช้เป็นชื่อภาษาไทยเพื่อตีตราภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Milk บอกเล่าประวัติชีวิตของฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk, 1930-1978) (ฌอน เพนน์) นักการเมืองคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ที่เปิดเผยรสนิยมรักเพศเดียวกันของตนต่อสาธารณชน ทั้งยังทำงานรณรงค์และต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมให้แก่ชนกลุ่มน้อยทางเพศภายในประเทศ ก่อนจะถูกสังหารในขณะที่เขามีอายุไม่ถึง 50 ปีโดยนักการเมืองท้องถิ่นนามว่า แดน ไวท์ (Dan White, 1946-1985) (จอช โบรลิน)

ชีวประวัติของมิลค์เคยได้รับการนำเสนอผ่านสื่อมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น The Mayor of Castro Street (1982) หนังสือชีวประวัติของเขาที่เขียนโดยแรนดี ชิลทฺส์ (Randy Shilts)  และภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับรางวัลออสการ์เรื่อง The Times of Harvey Milk (1984) โดย ร็อบ เอ็บชไตน์ (Rob Ebstein) และริชาร์ด ชมีช (Richard Schmiech)  เรื่องของมิลค์ในภาพยนตร์ฉบับล่าสุดนี้เป็นผลงานของกัส แวน แซนต์ (Gus Van Sant) ผู้กำกับในกลุ่ม “New Queer Cinema” ซึ่งเคยมีผลงานกำกับภาพยนตร์เกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมาแล้ว เช่น Drugstore Cowboy (1989) และ My Own Private Idaho (1991)  ชีวิตของฮาร์วีย์ มิลค์ฉบับเล่าใหม่ เป็นภาพยนตร์สีรุ้งของแวน แซนต์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจมีกลวิธีการเล่าเรื่องและการนำเสนอต่างกับผลงานที่เขาเคยสร้างมาก่อนอยู่บ้าง  บทความนี้ขอเสนอการประมวลความหมายทางการเมืองในภาพยนตร์เรื่อง Milk โดยกล่าวตามลำดับดังนี้