อำนาจของผู้อ่านใน Mister Pip

เรารู้สึกผ่อนคลายเสมอเมื่อกลับเข้าไปในโลกของ Great Expectations มันช่างเป็นโลกที่สมบูรณ์
และสมเหตุสมผล ไม่เหมือนกับโลกของเรา

ความเห็นของมาทิลดา เด็กสาวชาวเกาะวัย 13 ปีซึ่งเป็นผู้บรรยายในนวนิยายเรื่อง Mister Pip
แสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจของ “นวนิยาย” หรือ “เรื่องเล่า” ได้เป็นอย่างดี หากคำนิยามของ
“ความจริง” คือความสมเหตุสมผล จับต้องได้ เข้าใจได้ อธิบายได้ อาณาจักรของเรื่องเล่านั้นก็ดูจะ
“เหมือนจริง” ยิ่งกว่าโลกที่เราอาศัยอยู่เสียอีก และความเหมือนจริงนี้เอง ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกมั่นคง
ปลอดภัย เพราะสามารถทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีระบบ มีตรรกะที่ชัดเจนจน
ดูเหมือนแทบไม่มีอะไรอยู่เหนือการควบคุมไปได้ เพราะแม้แต่เรื่องเล่าที่พลิกผันตลอดเวลาหรือ
หักมุมในตอนจบ ก็ยังต้องมีเหตุผลมารองรับความเปลี่ยนแปลงหรือความ “คาดไม่ถึง” ดังกล่าว

เราจึงอาจพูดได้ว่า มนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของเรื่องเล่า ก็คือการที่มันช่วยพาผู้อ่านหลุดไปจากโลกในชีวิตจริง
ซึ่งควบคุม คาดการณ์ หรืออธิบายไม่ได้ และเข้าสู่โลกแห่ง “ความสมเหตุสมผล” ภายในกรอบของ
เรื่องเล่า การอ่านจึงเป็นการหลีกหนีชั่วคราว เพื่อจะกลับมาเผชิญโลกแห่งความจริงที่ขาดๆ วิ่นๆ ได้อย่าง
ไม่อึดอัดขัดสนจนเกินไปนัก

ปัญหาก็คือ ผู้อ่านจะทำอย่างไรหากไม่มีเรื่องเล่าให้ได้อ่านหรือฟังอีกต่อไป จะหนีไปที่ไหนได้อีกหรือไม่
และหากไม่ได้ จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริงต่อไปอย่างไร

คำตอบของคำถามข้างต้นอยู่ในนวนิยายของลอยด์ โจนส์ (Lloyd Jones) เรื่อง Mister Pip
เจ้าของรางวัล Commonwealth Writers’ Prize และหนึ่งในผู้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัล Man Booker Prize
ประจำปี 2007