เพลงแดงและเพลงเหลือง: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการใช้ดนตรีของ นปช. และพันธมิตรฯ

การชุมนุมประท้วงในประเทศไทยที่ปรากฏมากขึ้นนับแต่ปี 2548 นั้น น่าสนใจว่ามีการใช้ดนตรีในบริบทการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ที่คนไทยมักเรียกว่า “พันธมิตรฯ” หรือคนเสื้อเหลือง) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.หรือคนเสื้อแดง) ต่างก็ใช้ดนตรีแทบทุกประเภทที่พบได้ในไทย อันผิดแผกไปจากขบวนการฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2510 ซึ่งปลูกฝังทัศนะที่ว่าแนวดนตรีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นแนวดนตรีประท้วงของไทยนั้นคือ “เพลงเพื่อชีวิต” น่าสังเกตว่าเสียงแห่งการต่อต้านเหล่านี้แผดดังขึ้นมาท่ามกลางการทวีขึ้นของการจำกัดควบคุมข้อมูลข่าวสารหรือการเซ็นเซอร์โดยรัฐ, การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อและบริษัทบันทึกเสียง และการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหตุใดปรากฏการณ์เช่นนี้จึงเป็นไปได้นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะตอบได้ง่ายๆ ตรงๆ แน่นอนว่าความก้าวหน้าของโทรทัศน์ดาวเทียม อุปกรณ์บันทึกเสียงตามบ้าน และอินเตอร์เน็ต ได้ช่วยให้ปัญหาการถูกจำกัดควบคุมข้อมูลข่าวสารนั้นลุล่วงไปได้ง่ายขึ้น และขบวนการเคลื่อนไหวที่ขับเคี่ยวกันอยู่นั้นต่างก็ได้พัฒนาสารพัดยุทธวิธีประท้วงอันจัดเจนผ่านการเรียนรู้จากกันและกัน อย่างไรก็ดี บทความนี้เสนอว่า คำตอบส่วนหนึ่งนั้นอยู่ที่เนื้อหาและความทรงจำ ซึ่งสื่อสารออกมาทั้งทางเนื้อร้องและทำนอง ผ่านบทเพลงและดนตรีที่แต่ละกลุ่มใช้ ทั้งที่โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

เพลงลูกทุ่ง
จุดสนใจหลักของบทความนี้คือเพลงลูกทุ่ง ลูกทุ่งเป็นแนวดนตรีลูกผสมที่ผสานจังหวะเต้นรำแบบตะวันตกและละตินจากคริสต์ทศวรรษ 1940 และ 1950 เข้ากับทำนองของไทย แต่เดิมเพลงลูกทุ่งมีสถานะทางวัฒนธรรมที่ต่ำต้อย หลักๆ แล้วก็เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องค่อนข้างมากกับคนอีสาน เพลงลูกทุ่งเริ่มได้รับการยกย่องเป็นศิลปะประจำชาติหลังมีการจัดการแสดงอย่างต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนจากราชสำนักในปี 2532 ครั้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 ลูกทุ่งก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นแนวเพลงยอดนิยมที่มีความเป็นไทยของแท้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น กระบวนการฟื้นฟูวัฒนธรรมอีสานและการเติบโตทางการเมืองของอีสานก็กำลังขยับขยาย และความพยายามอันสืบเนื่องที่จะผนวกกลืนลูกทุ่งไปเป็นตัวอย่างหนึ่งของความเหนือกว่าของไทยภาคกลาง ก็มีแต่จะยิ่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการดังกล่าว ลูกทุ่งนั้นถูกถือเป็นวัฒนธรรมอีสานไปแล้ว และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หมอลำ และลูกทุ่งก็ได้ถูกนำมาผสมข้ามพวกกลายเป็นสารพัดชื่อไม่ว่าจะเป็นลูกทุ่งประยุกต์ อีสานลูกทุ่ง และหมอลำซิ่ง กว่า 40 ปีมาแล้ว ลูกทุ่งได้กลายเป็นดนตรีที่คนจนในเมืองไทยชอบฟัง เกษตรกรในชนบทและผู้ใช้แรงงานในเมืองต่างรู้สึกมีฐานร่วมกันกับเรื่องราวและท่วงทำนองของเพลงแนวนี้ ดังที่อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ได้แสดงให้เห็นในบทความสำคัญของเธอเกี่ยวกับเพลงแนวนี้ว่า ลูกทุ่งนั้นแฝงฝังอยู่ในบริบทการเมืองโดยผ่านดนตรี เนื้อร้อง และเนื้อหาของเพลง อย่างไรก็ตาม การขาดเนื้อหาประท้วงสังคมตามแบบฉบับแนวเพลงของชนชั้นกรรมาชีพ ก็ทำให้เพลงลูกทุ่งไม่ใคร่จะได้รับความสนใจจากนักวิชาการตะวันตก และยังความประหลาดใจแก่นักเขียนไม่กี่คนที่ศึกษาเกี่ยวกับดนตรีซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทย เครก ล็อคคาร์ด ได้สำรวจแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมของไทยเพื่อหาวาทกรรมต่อต้านอำนาจนำ และสรุปว่าเพลงลูกทุ่ง “อาจไม่สามารถเป็นตัวแบบสำหรับนักดนตรีผู้สนใจในดนตรีที่มีลักษณะประท้วงอย่างชัดแจ้งกว่า เนื่องจากการจัดเวทีที่มักจะฟู่ฟ่าอลังการ เกือบจะเหมือนเวทีละครสัตว์ (คือมักต้องมีหางเครื่องแต่งตัวหวือหวา) ความเป็นตลาดที่ทวีขึ้นทุกที (และอาจรวมถึงลักษณะที่ถูกดูดกลืนเข้าสู่ระบบมากขึ้นเรื่อยๆ) และการอวดบริโภคของนักร้องซูเปอร์สตาร์รวยๆ” บทความนี้แสดงให้เห็นว่าล็อคคาร์ดไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการต้านอำนาจนำของเพลงลูกทุ่ง รวมถึงการที่องค์ประกอบสารพัดของลูกทุ่งทั้งที่เสริมอำนาจนำและต่อต้านอำนาจนำ (รวมถึงกระทั่งส่วนที่เอาใจตลาดมากที่สุด) ล้วนถูกนำมาใช้ในการประท้วงในสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบัน ทั้งนี้ ในบริบทของไทย อำนาจนำ (hegemony) หมายถึงสถาบันหรือระบอบสถาปนา (the establishment) อันประกอบด้วยกองทัพ ราชสำนัก รัฐบาล และสถาบันสงฆ์ ขณะที่การต่อต้านอำนาจนำ(counterhegemony) คือการคัดค้านต่อต้านใดๆ หรือทางเลือกอื่นใด ที่นอกเหนือไปจากสถาบันหรือระบอบสถาปนานั้น