ปัญหา “S” เรื่อง “เพศ” ในละคร แรงเงา

ช่างดูเหมือนเป็นทางถนัดของช่องน้อยสีในการจัดการแต่งแต้มสีสันฉูดฉาดให้แก่ตัวละครเอกหญิงที่จะแสดงออกทางอารมณ์อย่างสุดขีดและตอกย้ำ ภาพผู้หญิงร้ายออกมาในละครชื่อดังมากมาย ไม่ว่า ระบำดวงดาว มงกุฎ
ดอกส้ม ดอกส้มสีทอง
มาจนถึง แรงเงา ที่หยิบกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้งหลังจากที่เวอร์ชั่นเก่าๆสร้างชื่อไว้ไม่น้อย
เรียกว่าหยิบกลับมาทำทีไรก็กอบโกยคะแนนนิยมจากประชาชนทั่วบ้านทั่วเมืองราวกับเป็นละครใหม่ที่คนไทยไม่เคยดูมาก่อน เราเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือเปล่า? แต่ก็นะ ของมันอร่อย กินบ่อยๆก็ไม่เบื่อใช่ไหมล่ะ?

โครงเรื่องของ แรงเงา ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก รวมถึงถ้อยบทสนทนาเด็ดๆบาดจิตบาดใจผู้ชมของทั้งพระเอก นางเอก และตัวละครอื่นๆ ไม่ต่างจากเวอร์ชั่นก่อนๆ อย่างไรก็ดี การกลับมาของ แรงเงา ครั้งนี้มีีความพยายามปรับเนื้อหาบางส่วนให้เข้ากับยุคสมัยจนแทบจะเป็นสื่อกลางเผยแพร่วัฒนธรรมหรือนวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ เช่น การใช้แคมฟร็อก การถ่ายคลิปและการเผยแพร่คลิปวิดีโอหนังโป๊ และคลิปโป๊ออนไลน์

แต่ประเด็นหนึ่งที่เด่นชัดกว่าเวอร์ชั่นก่อนๆคือการปรากฏตัวของเกย์ หรือคนรักเพศเดียวกัน

แม้เรื่องราวของเกย์ใน แรงเงา จะเป็นประเด็นรอง เพราะแก่นหลักคือเรื่องผัวๆ เมียๆ แต่การหยิบยกเอาบริบทของสังคมและวัฒนธรรมเกย์ร่วมสมัยมาใส่ในละครมากขึ้นก็อาจเป็นดัชนีชี้วัด การตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของคนรักเพศเดียวกันที่ดูจะเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นสำหรับสังคมไทยก็เป็นได้ สิ่งที่น่าสนใจคือการตระหนักรู้ที่ว่านี้เป็นการตระหนักรู้ในลักษณะใด