ดุจบิดามารดรเปรียบได้: หนี้และจริยธรรมของการชดใช้หนี้

ในฐานะผู้เป็นทั้งลูกทั้งแม่ ผู้เขียนชิงชังเพลง “ค่าน้ำนม” มาตั้งแต่เด็กจนแก่ ยิ่งเมื่อเพลงนี้ถูกนำมาบูรณาการเข้ากับ “วันแม่แห่งชาติ” ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาและยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในช่วงยี่สิบปีมานี้ ผู้เขียนก็แทบทนฟังเพลงนี้ไม่ได้ทีเดียว ผู้เขียนไม่เข้าใจว่า ความรักที่ตั้งอยู่บนการทวงบุญคุณอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นสมควรถือเป็นความรักประเภทไหน

คนไทยที่เป็นพุทธศาสนิกคงไม่รู้สึกนึกคิดอย่างผู้เขียน ทั้งนี้เพราะการเกิดถือเป็น “บุญ” อย่างหนึ่ง ผู้ให้กำเนิดจึงนับว่ามี “บุญคุณ” อย่างเปรียบประมาณมิได้ แต่สำหรับผู้เขียนที่ไม่ได้นับถือศาสนา การเกิดคืออุบัติเหตุที่ผู้เกิดเลือกไม่ได้ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงเสรีของผู้ถือกำเนิด แต่ผู้ให้กำเนิดต่างหากที่เป็นผู้เลือกไม่มากก็น้อย ดังนั้น ผู้ให้กำเนิดจึงควรมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อลูกของตัวเองมากกว่า

ในทำนองเดียวกัน การที่ผู้เขียนเกิดมาเป็นคนไทยบนผืนแผ่นดินไทย ก็ไม่ใช่การเลือกของผู้เขียนเช่นกัน หากเลือกเกิดเป็นคนประเทศอื่นได้ ผู้เขียนก็คงไม่ลังเลหรืออาลัยอาวรณ์สักเท่าไร การเรียกร้องที่รัฐกระทำต่อคนในชาติอย่างเช่น “ทดแทนพระคุณแผ่นดิน” “สำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษผู้ปกป้องผืนแผ่นดินไทย” ฯลฯ จึงเป็นเรื่องไร้สาระในความรู้สึกของผู้เขียนเช่นกัน

แต่หากว่าการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมบนพื้นฐานของ “บุญคุณ” เป็นสิ่งที่ผู้เขียนชิงชัง การอธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมอีกแบบหนึ่งที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานของตลาด ก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนต่อต้าน การเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมพร้อมๆกับวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ตั้งสมมติฐานขึ้นมาเองตามอำเภอใจว่ามนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชอบการแลกเปลี่ยน กลายเป็นแนวคิดที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง – หากมิใช่มากที่สุด – ในปัจจุบัน การอธิบายความสัมพันธ์ทุกอย่างของมนุษย์ด้วยแนวคิดแบบตลาด กล่าวคือการแลกเปลี่ยนและการเป็นหนี้ แทรกซึมเข้าไปใจนแทบจะกลายเป็นสามัญสำนึกของมนุษย์

การอธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วย “บุญคุณ” อันเร้นลับ กับการอธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วย “หนี้” อันแห้งแล้ง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ หากการอธิบายอย่างแรกเป็นค่านิยมในสังคมแบบ “ศักดินา” และการอธิบายอย่างหลังเป็นค่านิยมในสังคมแบบ “ทุนนิยม” มันชวนให้เราคิดว่า “หนี้” และ “บุญคุณ” น่าจะขัดแย้งกัน ทั้งนี้เพราะ “หนี้” เป็นสิ่งที่ชดใช้ได้ และเมื่อชดใช้หมดสิ้นแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ก็เป็นอันขาดจากกัน ในขณะที่ “บุญคุณ” เป็นสิ่งที่ทดแทนได้ในระดับหนึ่งก็จริง แต่ไม่มีวันชดใช้ได้หมดสิ้น มันเป็นสิ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็คงอยู่ไปชั่วกัลปาวสาน แต่ในทุกสังคม ความสัมพันธ์ทั้งแบบหนี้และบุญคุณมักดำรงอยู่ควบคู่กัน ดังเช่นในสังคมทุนนิยม รัฐก็ยังเรียกร้องให้พลเมืองเสียสละเพื่อชาติ เป็นต้น ส่วนในสังคมกึ่งศักดินากึ่งทุนนิยมอย่างประเทศไทย แนวคิดของ “บุญคุณ” ที่ทดแทนไม่หมดสิ้นเป็นสิ่งที่รัฐไทยนำมาใช้ครอบงำและกำกับพฤติกรรมของคนในชาติอย่างใกล้ชิดละเอียดลออ

ผู้เขียนกำลังอ่านหนังสือเล่มใหม่ของเดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) นักมานุษยวิทยาอนาธิปไตย หนังสือเล่มนี้ชื่อ Debt: The First 5,000 Years (New York: Melville House, 2011) ในบทที่ 5 ซึ่งมีหัวข้อว่า “A Brief Treatise on the Moral Grounds of Economic Relations” (pp. 89-126) ได้กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับหนี้และพื้นฐานทางจริยธรรมของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไว้อย่างน่าสนใจ ถึงแม้ตัวอย่างของเกรเบอร์จะอ้างถึงสังคมบุพกาล แต่อ่านแล้วกลับรู้สึกใกล้เคียงกับสังคมไทยอย่างยิ่ง