ลัทธิสมานฉันท์นิยม กับ เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ในปี พ.ศ. 2476 มีการตีพิมพ์เผยแพร่ เค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งร่างโดยมันสมองแห่งคณะราษฎรคือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อสามัญชนว่า ปรีดี พนมยงค์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสุขสมบูรณ์ให้กับพลเมืองทุกคนในประเทศ ตามเจตนาที่ระบุไว้ในประกาศข้อที่สามของคณะราษฎรเมื่อมีการยึดอำนาจจากกษัตริย์ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ที่ว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคน จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

ในช่วงเวลาที่ เค้าโครงการเศรษฐกิจ ออกเผยแพร่สู่สาธารณชนนั้น เป็นห้วงเวลาเพียงหนื่งปีหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อและเกิดความรุนแรงน้อยมาก อย่างไรก็ตามการไม่เกิดเหตุปะทะรุนแรงระหว่างฝ่ายขั้วอำนาจเก่าและฝ่ายอภิวัฒน์ก็ส่งผลให้กลุ่มอำนาจเก่าและผู้นิยมระบอบเก่าไม่ได้ถูกถอนรากถอนโคนและยังคงมีความเข้มแข็งในการเมืองไทยสมัยนั้นซึ่งพร้อมจะก่อการโต้อภิวัฒน์ได้ตลอดเวลาและในหลายรูปแบบ หนึ่งในรูปแบบการโต้อภิวัฒน์คือการต่อสู้ทางความคิด และการลดความชอบธรรมของความคิดตามระบอบใหม่ โดยเฉพาะการวิจารณ์ เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของพระปกเกล้าฯ ใน บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์

เค้าโครงการเศรษฐกิจ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า คำชี้แจงเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ และเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรกับเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ เนื้อหาประกอบด้วยสามส่วนคือ คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจ, ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร, และร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ ความขัดแย้งระหว่าง เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของหลวงประดิษฐ์ฯ กับ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ ของพระปกเกล้าฯนั้น เป็นความขัดแย้งด้านความเห็นที่แตกต่างกันในเนื้อหาของเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยฝ่ายสนับสนุนมองว่าเป็นการสร้างสหกรณ์เต็มรูปแบบ ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยมองว่าเนื้อหาใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ นั้นเป็นคอมมิวนิสม์

ความขัดแย้งทางความคิดที่มีต่อเนื้อหาของ เค้าโครงการเศรษฐกิจ ถูกนำไปขยายผลเพื่อตอบสนองจุดประสงค์ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยม อันนำไปสู่วิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มคณะราษฎรกับรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ผลที่ตามมาคือมีการปรักปรำปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นผู้ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสม์ จนเป็นเหตุให้ปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ส่วนเอกสาร เค้าโครงการเศรษฐกิจ ได้กลายเป็นเอกสารต้องห้ามไป

ผลพวงอีกประการหนึ่งของกรณี เค้าโครงการเศรษฐกิจ คือมีการประกาศ พ.ร.บ. ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ และคอมมิวนิสม์กลายเป็นสิ่งต้องห้าม จนกลายเป็นภาพของความน่ากลัวและชั่วร้ายในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน ส่วนปรีดีเองก็ถูกวาทกรรมผลิตซํ้าของฝ่ายอนุรักษนิยมสร้างความทรงจำว่ามีความแนบแน่นกับลัทธิคอมมิวนิสม์ เพื่อให้เกิดภาพที่ตัดกับภาพของพระปกเกล้าฯ ในฐานะบิดาประชาธิปไตย

การปะทะกันระหว่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ปรีดี พนมยงค์ ของพระปกเกล้าฯ นั้น เป็นการปะทะกันที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยไม่ใช่เพียงในช่วงเวลานั้น แต่ยังส่งผลกระทบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีการนำเสนอและการเผยแพร่เอกสารทั้งสองชิ้นเพื่อช่วงชิงความทรงจำของสาธารณชนระหว่างกลุ่มนิยมปรีดีกับกลุ่มอนุรักษนิยมจวบจนปัจจุบัน มีการถกเถียงและพาดพิงถึงเอกสารทั้งสองชิ้นรวมกันถึง 30 ครั้งเป็นอย่างต่ำ ทว่ากลับไม่มีการค้นคว้าตรวจสอบกับเอกสารต้นฉบับอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการอ้างอิงสืบต่อกันมา

ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของปรีดี พนมยงค์ ในปี 2543 ผนวกกับการที่ยูเนสโกยกย่องให้ปรีดีเป็นบุคคลสำคัญของโลก ได้เริ่มเกิดกระแสของการประเมินสถานะและบทบาทของปรีดีใหม่ในลักษณะที่มุ่งประนีประนอมระหว่างชุดคำอธิบายของฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายนิยมปรีดี โดยพยายามลบภาพลักษณ์ความเป็นคอมมิวนิสต์ของปรีดี พนมยงค์ และสร้างภาพความเป็นรัฐบุรุษอาวุโสขึ้นมาแทน อันนำไปสู่การประเมินและตีความนัยยะของเค้าโครงการเศรษฐกิจที่ต่างไปจากเดิม หนึ่งในการตีความใหม่ก็คือข้อเสนอที่พยายามชี้ว่าเนื้อหาใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ นั้น มิได้เป็นลัทธิคอมมิวนิสม์ดังที่ฝ่ายอนุรักษนิยมในอดีตโจมตี แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นสังคมนิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมนิยมแบบโซลิดาริสต์หรือลัทธิสมานฉันท์นิยมของสาธารณรัฐที่สามของฝรั่งเศส

หากพิจารณาจากชีวประวัติของปรีดี พนมยงค์ ที่ได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาวิชานิติศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศส และได้รับปริญญาเอกทางกฎหมายด้วยเกียรตินิยมดีมากจากมหาวิทยาลัยปารีส จากนั้นยังสำเร็จประกาศนียบัตรชั้นสูงในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง (Diplôme d’Etudes Supérieures d’Economie Politique) ก็พอจะเข้าใจได้ว่ทำไมจึงมีการนำเค้าโครงการเศรษฐกิจ ไปเชื่อมโยงกับลัทธิสมานฉันท์นิยม เนื่องจากช่วงที่ปรีดีพำนักและศึกษาในฝรั่งเศสเป็นเวลาหกปี คืิอระหว่าง ค.ศ. 1920-1926 หรือ พ.ศ. 2463-2469 นั้นเป็นยุคสาธารณรัฐสมัยที่สามของฝรั่งเศสที่กำลังสร้างชาติบนฐานแนวคิดเรื่องความสมานฉันท์ (La Solidarité) ในที่นี้
ผู้เขียนจะลองเทียบเคียงแนวนโยบายทางเศรษฐกิจที่ปรากฏใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ ว่ามีความเหมือนหรือต่างกับลัทธิสมานฉันท์นิยมมากน้อยเพียงใด หรือมีความใกล้เคียงกับลัทธิสมานฉันท์นิยมหรือไม่ อย่างไรก็ดี เพื่อจะประเมินว่าแนวคิดด้านนโยบายสาธารณะของสมานฉันท์นิยมมีอิทธิพลต่อแนวนโยบายทางเศรษฐกิจของ เค้าโครงการเศรษฐกิจ จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด การศึกษาปรัชญาความคิดที่เป็นจุดกำเนิดอุดมการณ์สมานฉันท์นิยมในสาธารณรัฐที่สาม ตลอดจนบริบททางประวัติศาสตร์และการเมืองของฝรั่งเศส จึงมีความสำคัญและสามารถช่วยให้เข้าใจว่าเหตุใดนโยบายสาธารณะที่ผลิตออกมาในช่วงสาธารณรัฐที่สามจึงมีหน้าตาเช่นนั้น และส่งผลกระทบต่อการร่าง เค้าโครงการเศรษฐกิจ บ้างหรือไม่และอย่างไร