หวังว่าประชาชนคงเข้าใจ: ความฟุ่มเฟือยของความสูงส่ง (อันล่วงละเมิดมิได้)

สิบสามเรื่องสั้นอันประกอบด้วย: “จึงเรียนมาเพื่อทราบ”, “ข้างหอนาฬิกา”, “จากดอนลำดวนถึงสวนอัมพร”, “นางละคร”, “นอนสาหล่า”, “สมภารระดับ 8”, “เสื่อม”, “ทศนิยมไม่รู้จบ”, “เสาหลัก”, “เจ้า (หน้า) ที่”, “โอ๊ะ! แพรวา”, “บ่ม” และ “หวังว่าประชาชนคงเข้าใจ” เบียดเสียดกันอย่างดูดีมีชาติสกุล และเหมือนจะปลอดอ้อยสร้อยเสมออ้อยกลางกออยู่ในรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ของ “ทัศนาวดี” ชื่อ หวังว่าประชาชนคงเข้าใจ พวกมันทั้ง 13 เรื่องเบียดเสียดอัดแน่นร้องระงมราวกับอึ่งอ่างร้องอยู่ในข้องก็บ่ปาน

คำว่า “หวังว่าประชาชนคงเข้าใจ” อวดเอ้เด่นสะดุดตาอยู่บนหน้าปกด้วยตัวอักษรสีเหลืองและสีแดง ขณะชื่อของ “ทัศนาวดี” นั้นอวดอ้างด้วยสีขาว สีขาวอันปลอดอ้อยสร้อยมิมีเสมอใดเหมือน

ทัศนาวดีกล่าวไว้ใน “ความในใจคนเล่าเรื่อง” โดยข้าพเจ้าขออนุญาตสรุปมาเป็นกับแกล้มเพียงคร่าวๆ ดังนี้ เขาได้ถวิลถึงคะนึงหาอดีตอันแสนงาม, ความดีงามสูงส่งของรากเหง้า จารีต ประเพณีและวัฒนธรรมแต่เดิมดั้งเค้าของเขา และเขาก็เป็นกังวลอย่างแสนสาหัสเมื่อความสูงส่งดีงามและยิ่งใหญ่นี้นั้นกำลังถูกคุกคาม รุกรานด้วยโลกาภิวัตน์และวัฒนธรรมข้ามชาติและกำลังออกอาการจะรอดแหล่มิรอดแหล่ในนับวันนี้ เขายืนยันอย่างหนักแน่นว่า “...และยังยืนยันที่จะเปิดเปลือยปัญหาที่เกิดขึ้นกับชนบทบ้านนอกคอกนาที่สะท้อนถึงการล่มสลายทางวัฒนธรรมของชาติต่อไป…” (หน้า 12) และเขาก็ได้ทำหน้าที่ตามที่เขายืนยันแล้วด้วยความจริงใจ ด้วยความหวังดีอย่างหาที่สิ้นสุดมิได้ และด้วยความหมดจดงดงามโดยแท้ ด้วยความเจนจัดทางทักษะการประพันธ์ดั่งที่ สกุล บุญยทัต ได้ยืนยันไว้เป็นอย่างดีก่อนหน้านี้แล้ว และอีกทั้งในด้านเนื้อหาสรุปรวมที่ว่า “องคาพยพของสังคมไทย ณ วันนี้เต็มไปด้วยรอยบาดเจ็บของสิ่งที่เลวร้าย มันยับเยินย่อยยับในเชิงคุณธรรมจริยธรรมอยู่กับกมลสันดานของผู้คนที่ขายตัวตนแห่งจิตวิญญาณให้กับความชั่วร้ายอย่างตั้งใจโดยไม่ยำเกรงต่อบาปเคราะห์ โดยไม่ละอายต่อความดีงาม...” งานวรรณกรรมที่ถึงพร้อมทั้งรูปแบบและเนื้อหาเช่นนี้ เพียงแค่ปรากฏผ่านสายตาแม้เพียงครั้งเดียวก็สามารถดื่มด่ำซาบซึ้งได้อย่างอิ่มเอมล้นเอ่อแล้ว ฉะนั้นจึงสิ้นสุดความเย้ายวนใจของข้าพเจ้าจนไม่ขอกล่าวถึงให้เฝือเฝื่อนไปอีก ไม่ว่าจะเป็นความโดดเด่นด้านวรรณศิลป์ ชั้นเชิงการเล่าเรื่องที่กอปรไปด้วยแนวคิดสร้างสรรค์สังคม และอีกทั้ง “ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคมจึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้” (นพพร ประชากุล ได้กล่าวไว้อย่างดีแล้ว) แต่ประการใด- และข้าพเจ้าก็ขอยืนยันซ้ำอีกครั้งว่า ไม่เกินเลยใดๆ ทั้งปวงจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทัศนาวดีได้บอกผ่านเรื่องสั้นทั้ง 13 เรื่องของเขาอย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งปอกเปลือย ชี้ขาดตัดสิน เยาะหยัน สังเวชพฤติกรรมอันต่ำทรามและผิดจากจารีตวัฒนธรรมอันดีงามสูงส่ง เขาค่อยๆ นวดและโบยตี ก่อนจะถลกหนังออกมาตากแดดทั้งพระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา นักการเมือง (ที่มาจากการเลือกตั้ง) และเหล่านี้นั้นล้วนตกอยู่ภายใต้การชี้นำของโลกาภิวัตน์ ทุนนิยม บริโภคนิยมที่มองในมุมไหนก็ไม่ได้เป็นคนรู้ผู้ดีเอาเสียเลย