อ่านพระลอ: สงสัยปู่เจ้าสมิงพรายเป็นใคร?

มีคำแนะนำมากมายจากครูบาอาจารย์ในการอ่าน ลิลิตพระลอ เพราะจัดเป็นประเภทวรรณคดีมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นวรรณคดี “ติดเรต” วรรณคดีศักดินา รวมทั้งปัญหาว่าใครแต่ง แต่งเมื่อไหร่ ก็ยังคงเรื่องปิดแฟ้มไม่ลงมาถึงปัจจุบัน
**
พ. ณ ประมวญมารค ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการอ่าน ลิลิตพระลอ ว่า “ในการอ่านวรรณคดี เราควรมุ่งเน้นแต่ตัวบทเป็นสำคัญ” แต่ท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่เอาเป็นเอาตายกับการสืบหาผู้แต่งและ เวลาที่แต่ง
**
ฝ่ายข้างซ้าย “อินทรายุธ” ก็วิจารณ์ ลิลิตพระลอ จนไม่เหลือชิ้นดีว่าเป็นวรรณคดี “ลามก” สำหรับ “บำเรอกษัตริย์” ดังนั้นจึงให้เลือกเอาแต่เพียง “ลีลาและแบบคำประพันธ์ อันมีคุณค่าบางอย่าง โวหารและเนื้อหาบางอย่างส่วนน้อย ที่มีประปรายอยู่ใน ลิลิตพระลอ
**
ชลธิรา กลัดอยู่ ในฐานะคนรุ่นเก่า เห็นต่างจากคนรุ่นใหม่ฝ่ายซ้ายว่า “ลิลิตพระลอ อาจจะเป็นการแต่งเพื่อ ‘ถวายบำเรอท้าวไท้ ธิราชผู้มีบุญ’ ก็จริง เป็น ‘กิจกรรมส่วนตัว’ ก็จริง แต่ผู้แต่งก็ได้เสนอ ‘สัจจธรรม’ อันเป็นแก่นแท้ของเรื่องออกมาว่า มนุษยชาติมีความใคร่ ความปรารถนา ความพึงพอใจในรูปรสกลิ่นเสียง และพยายามทำให้ความใคร่นั้นได้สมปรารถนา แต่บางครั้งหนทางในการทำให้สมปรารถนานั้นก็อาจจะมีผู้ขัดขวาง เหตุการณ์ทำนองนี้อาจจะเกิดขึ้นกับใครที่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดว่าจะเกิดขึ้นกับท้าวพระยามหากษัตริย์เท่านั้น”
**
และมีข้อแนะนำสำหรับอ่าน ลิลิตพระลอ ว่า “สิ่งใดเป็นกระพี้ใน ลิลิตพระลอ…ผู้เขียนมีความ เห็นว่าในการอ่านวรรณคดีเรื่องหนึ่งๆ เราไม่ควรจะจำกัดขอบเขตความคิดเพียงว่าตัวละครเป็นใคร มาจากไหน ตรงตามเนื้อเรื่อง แต่ควรจะมีความนึกคิดไกลไปถึงขั้นว่าโดยเหตุที่เป็น ‘ตัวละคร’ เพราะฉะนั้นตัวละครเหล่านี้ได้เป็นตัวแทน หรือเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลประเภทใด ที่มีพฤติกรรมหรือบุคลิกลักษณะอย่างไร หรือมีปัญหาชีวิตอย่างไร”
**
สรุปก็คือการอ่านวรรณคดีควรจะเสพ รูป – รส – เรื่อง – เสียง เป็นสำคัญ ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นถือเป็น “กระพี้” ไม่ว่าจะเป็นใครแต่ง แต่งเมื่อไหร่ เรื่องจริงหรือไม่ เหล่านี้ไม่ถือเป็น “แก่น” วรรณคดี
**
ดังนั้นเรื่องที่จะ “อ่าน” ต่อไปนี้เป็นการค้นหาคำตอบว่าปู่เจ้าสมิงพรายเป็นใคร ไม่ได้ตามหา “แก่น” แต่เป็นการตามหา “กระพี้” ใน ลิลิตพระลอ โดยแท้
*****