อ่าน อิเหนา : สงสัย “บุษบง” ของ “บุษบา” คัพอะไร ?

“มาลีแรกแย้ม”
ประติมากรรมรูปสาวน้อยแรกรุ่นของ แสวง สงฆ์มั่งมี ที่บรรจงปั้นขึ้นมาแทนค่าสิ่งที่สวยงามที่สุดในโลก “นมนาง” หน่วยน้อยเพิ่งโผล่ผุดจากเนื้อนาง ไม่ต่างจาก “บัวแรกแย้ม” ที่เธอกำแน่นไว้ในมือข้างขวา ทั้งสองสิ่งล้วนแสดงสัญลักษณ์ “ความงามอันบริสุทธิ์” ปราศจากมลทินใดๆ “เหมือนโกมุทพึ่งผุดหลังชลา” (ขุนช้างขุนแผน)

ความงามในทัศนะของแสวง สงฆ์มั่งมี ไม่ใช่ทัศนะ “ส่วนตัว” แต่พ้องรูปพ้องร่างกับ “นางในวรรณคดี” เสียส่วนใหญ่ ที่ไม่ได้พรรณนาความงามด้วย “ขนาด” หากแต่เป็นความงามเหนือจินตนาการ คืองามอย่างนางฟ้า และ “บริสุทธิ์” ดั่ง “ดอกไม้แรกแย้ม” ทั้งสิ้น

ซึ่งถ้าหากถอดรหัสความงามดั่ง “ดอกไม้แรกแย้ม” ก็อาจจะได้ “ขนาด” ของความงาม แบบประหยัด ขนาดกะทัดรัด

แต่เหตุไฉนความงามของนางฟ้านางสวรรค์จากรูปประติมากรรมทั่วโลก ไม่ว่าจะแบบกรีก โรมัน อินเดีย นางอัปสรแห่งนครวัด นางต่างๆ ในภาพสลักนูนต่ำสมัยทวารวดี หรือแม้แต่ในภาพจิตรกรรมไทย จึง “บะลึ่มหึ้ม” ไม่ “ตระหนี่ขนาด” เหมือนในวรรณคดีเล่า

อาจเป็นเพราะขนาดและรูปทรงของ “นมนาง” ในงานประติมากรรมอิทธิพลแขก มีลักษณะสอดคล้องกับ
คัมภีร์พฤหัตสํหิตา ที่กล่าวถึงลักษณะของนมที่เป็นคุณไว้ว่า “เต้านมกลมอวบชิดกัน เท่ากันทั้งคู่ แข็งเป็นไต ตั้งขึ้นจากทรวงอก” ซึ่ง “นมนาง” ลักษณะนี้ โบราณของไทยเรียกว่า “นมพวง” คือมีลักษณะ ตูมเต่ง ชิดกัน คือ “ดังประทุมตูมเต่งเคร่งครัด จำปาทัดถันได้ไม่ลอดทรวง” (ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนพลายงามชมนางสนมพระเจ้าเชียงใหม่)

จะเห็นได้ว่างานประติมากรรม (อย่างแขก) นั้นคลี่คลายความงามมาจากคติความเชื่อเรื่อง “ความอุดมสมบูรณ์” เหนือความงามอันบริสุทธิ์ดุจ “ดอกไม้แรกแย้ม” ในวรรณคดี

ที่ “สงสัย” ย่อมไม่ใช่ที่มาที่ไปของการคลี่คลายคติความเชื่อต่างๆ ออกมาในรูปของงานจิตรกรรม ประติมากรรม หรือวรรณกรรม แต่ “สงสัย” ว่า “บุษบง” ที่แปลว่า ดอกไม้ ของนางบุษบาในบทละครเรื่อง อิเหนา นั้น เป็นดอกอะไรกันแน่ และมีรูปทรงแห่ง “ความอุดมสมบูรณ์” หรือว่าเป็นแบบบริสุทธิ์แรกแย้มกะทัดรัด

****