อ่านบทเห่เรือ : สงสัยเจ้าฟ้ากุ้งนั่งเรือลำไหน ?

“พระราชโอรสองค์โตได้ปฏิบัติพระองค์ไปในทางที่ต่ำ ซึ่งเป็นเหตุผลเพียงพอที่ขัดต่อการสืบราชบัลลังก์ ซึ่งทำให้พระองค์เสียพระทัยและประชวรด้วยโรคที่สังคมรังเกียจ”

ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง กล่าวให้เห็นภาพที่ชัดเจนที่สุดของ “เจ้าฟ้ากุ้ง” องค์รัชทายาทในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้ทรงเป็นยอดกวีในยุคที่ “บ้านเมืองยังดี” ยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา และก็เป็นยุคที่การเมืองภายในวุ่นวายที่สุดยุคหนึ่งเช่นกัน

ความจริงการเมืองในยุคปลายกรุงศรีอยุธยาเป็นเรื่องสนุกตื่นเต้นน่าติดตาม (มากกว่าการเห่เรือเป็นไหนๆ) คือมีทั้งการแย่งชิงอำนาจ ความอิจฉาริษยา ความอาฆาตพยาบาทถึงขั้นประหัตประหารกันในครอบครัว มีแม้กระทั่ง “เปิดมุ้ง” เล่นการเมือง ไม่ต่างจากละครหลังข่าว

โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างเจ้าฟ้ากุ้งกับ “เจ้าพี่เจ้าน้อง” ซึ่งมีเป้าหมายหลักอยู่ที่อำนาจ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องเด่นในพระราชพงศาวดารไทย คือไทยรบไทย กับไทยรบพม่า แต่การพ่ายแพ้ทางการเมืองของเจ้าฟ้ากุ้งในกรณีถูก “เปิดมุ้ง” ได้นำไปสู่จุดจบอันน่าเศร้าของพระองค์ และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาก่อนการเสียกรุงครั้งที่ 2 เพียงไม่กี่ปี

โชคยังดีที่คุณสมบัติความเป็น “ยอดกวี” ของพระองค์ได้เบี่ยงเบนความสนใจ “เรื่องฉาว” และความอิจฉาริษยาทางการเมืองของพระองค์ไป จนกระทั่งความทรงจำเกี่ยวกับเจ้าฟ้ากุ้งผุดมาเรื่องเดียว (หรือประโยคเดียว) คือ “สุวรรณหงส์ทรงภู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์” ในบทเห่ชมเรือกระบวน

จะเห็นได้ว่าการเมืองสมัยเจ้าฟ้ากุ้งเป็นเรื่องสำคัญและควร “อ่าน” อย่างยิ่ง เพราะถือเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเสียกรุงครั้งที่ 2

ในขณะที่เรื่องความเป็น “เพลย์บอย” ของเจ้าฟ้ารัชทายาทพระองค์นี้ ก็เป็นเรื่องน่าสอดรู้สอดเห็นอย่างยิ่งเช่นกัน

ดังนั้น เราจึงควรทำทีไปดูเจ้าฟ้ากุ้งนั่งเรือ แล้วหาโอกาสเหมาะๆ “ปาปารัสซี่” เรื่องอื่นไปพร้อมกัน
****