King Lear : ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นในพื้นที่ว่างเปล่า ความรักก็เช่นกัน

ในบทความเรื่อง “ไยเรียกร้องรัก จึ่งเหี้ยมหักหาญ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลียร์ (King Lear)” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร อ่าน ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 รศ. ดร. ไชยันต์ รัชชกูล ได้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดจาก “ความรัก” ในบทละคร King Lear ของวิลเลียม เชคสเปียร์ และกล่าวถึงข้อคิดที่ได้จากการอ่านบทละครในประเด็นที่ว่า “ความตั้งใจกับผลจากความตั้งใจนั้นไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกัน” ซึ่งสามารถสะท้อนสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยได้อย่างน่าสนใจ สองปีผ่านไป ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะล้มเหลวในการทำความเข้าใจข้อคิดของอาจารย์ไชยันต์ ยังคงปล่อยให้คำพูดสวยงามว่า “รักชาติ” ปกปิดอันตรายที่ประชาชนต้องเผชิญเมื่อไม่มีเครื่องมือต่อรองกับรัฐ และมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ระบอบรวมศูนย์อำนาจนั้นเอง คือตัวบั่นทอนการพัฒนาระบอบการเมืองที่ยุติธรรม

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเห็นในประเด็นความรักและข้อมูลเกี่ยวกับบทละคร King Lear ที่ต่างออกไป ซึ่งจะได้นำเสนอผ่านบทความนี้ ส่วนแรกจะกล่าวโดยย่อถึงประวัติของบทละคร King Lear ในยุคก่อนสมัยใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างบทละครกับสังคมที่เชคสเปียร์อาศัยอยู่ ส่วนที่สองจะวิเคราะห์ “ความรัก” ระหว่างเลียร์กับผู้ใต้ปกครอง โดยผู้เขียนเสนอว่า “ความรัก” นั้นไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ถูกสร้างและดำรงอยู่ตามกฎแห่งอำนาจ ส่วนที่สามเป็นประเด็นต่อเนื่องจากส่วนที่สอง โดยจะอภิปรายเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมชาติของอัตลักษณ์