อ่าน แพทริค โจรี อ่าน (ผิด) มาร์กซิสต์/จักรวรรดิ/การเมืองไทยร่วมสมัย

“บาป” และ “ความไร้น้ำยา” ของ มาร์กซิสต์ ???
ในฐานะนักเรียนมาร์กซิสต์ งาน “ปริทัศน์หนังสือ ว่าด้วยความรุ่งเรือง – ล่มสลายของจักรวรรดิและปัญหาว่าด้วยจักรวรรดินิยมเสรี” ของ แพทริค โจรี  หรือที่ผู้เขียนจะเรียกต่อไปว่า พีเจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอเกี่ยวกับ “บาป” และ “ความไร้น้ำยา” ของมาร์กซิสต์คลาสสิค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อสรุปของงานปริทัศน์หนังสือชิ้นนี้ ได้กระตุ้นให้ผู้เขียนสนใจที่จะร่วมสนทนากับพีเจใน 2 ประเด็นดังนี้

ประการแรก พีเจเริ่มต้นวิพากษ์วิจารณ์พวก “ฝ่ายซ้าย” ซึ่งรวมไปถึงพวกมาร์กซิสต์ว่ามีลักษณะที่มองความจริงด้านเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลทางวิชาการของมาร์กซิสต์ต่อการศึกษาจักรวรรดินิยม ส่งผลให้ปัญญาชนฝ่ายซ้ายมองเห็นแต่ “ด้านลบ” ของจักรวรรดินิยม (และทุนนิยม)  โดยพีเจได้ยกงานของ ไนล์ เฟอร์กูสัน มาหลายชิ้นเพื่อพิสูจน์ว่าการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิได้นำมาซึ่งความก้าวหน้าจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาซึ่งประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและอื่นๆ ซึ่งพวกมาร์กซิสต์ได้ละเลย “ด้านบวก” ที่ก้าวหน้าของจักรวรรดินิยมและทุนนิยมดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง (หน้า 176 – 177, 187)  นำไปสู่การที่พีเจได้ตั้งคำถามเชิงท้าทายสามัญสำนึกเกี่ยวกับความชั่วร้ายของจักรวรรดินิยมที่ว่า “เราเป็น หนี้บุญคุณ อะไรบ้างต่อจักรวรรดิอังกฤษซึ่งครั้งหนึ่งเคยครอบคลุมประชากรโลกกว่าหนึ่งในสี่ และกินพื้นที่อาณาบริเวณโลกในสัดส่วนเดียวกันมายาวนานกว่า 300 ปี ?” (เน้นเอนโดยผู้เขียน) (หน้า 178)  แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ จักรวรรดินิยมอเมริกาในปัจจุบันไม่มีความเข้มแข็งหรือไม่มุ่งมั่นเพียงพอ (เฉกเช่น จักรวรรดินิยมอังกฤษในอดีต) ที่จะขยายอิทธิพลความเป็นจักรวรรดินิยมของตนเอง อันจะนำมาซึ่งความก้าวหน้าของโลก (หน้า180)  นัยยะดังกล่าวของพีเจก็คือ การต่อต้านจักรวรรดิอเมริกาในปัจจุบันจึงเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้อง และเราต้องสนับสนุนให้สหรัฐอเมริกาขยายอิทธิพลความเป็นจักรวรรดินิยมของตนเอง (ซึ่งมีด้านบวกๆ มากมาย) มากกว่าที่เป็นอยู่

และประการที่สอง สำหรับพีเจ ความคิดมาร์กซิสต์ (และฝ่ายซ้าย) ที่หมกมุ่นกับการวิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมและจักรวรรดินั้น (พีเจใช้คำว่า “มาร์กซิสต์” และ “มาร์กซิสต์คลาสสิค” ในบทความนี้ถึง 6 แห่ง) เป็นปัจจัยให้เกิด/ไปกันได้/สอดรับกับ/เป็นฐานคิดให้กับการเกิดขึ้นและการเคลื่อนไหวของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามวิกฤต “มันกระทุ้งให้นักวิชาการฝ่ายซ้าย เอ็นจีโอ ฝ่ายนิยมเจ้าและสถาบันกษัตริย์ร่วมมือกันต่อต้านจักรวรรดินิยมใหม่แบบอเมริกัน/ ‘ตะวันตก’ อันเป็นรากฐานให้กับการสร้างพันธมิตรที่ตามมาในยุคทักษิณ” (หน้า 176)  คำถามก็คือ (1) จริงแค่ไหนที่ว่าการเกิดขึ้นของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นขบวนการล้าหลังคลั่งชาตินั้น ได้รับอิทธิพลทางความคิดในการต่อต้านจักรวรรดินิยมจากพวกมาร์กซิสต์ และ (2) สถาบันกษัตริย์เป็นปฏิปักษ์หรือมีผลประโยชน์ตรงกันข้ามกับจักรวรรดินิยม/ทุนนิยมมากน้อยแค่ไหน