ปกรณัม (1)

เรื่องสุดท้ายมักเป็นเรื่องแรก เรื่องเริ่มต้นเกี่ยวพันกับจุดสุดท้าย ไม่ ไม่อาจเริ่มจากกำเนิด ขอเปลี่ยนมาเป็นตาย เมื่อย่างก้าวเข้าสุสานกลางเมืองปารีสพร้อมดอกไม้สองช่อ หนึ่งช่อเพื่อวางบนหลุมของมาร์เกอริต ดูราส อีกช่อเพื่อครูเก่า ถามหาที่พำนักของทั้งสองกับหน่วยงานประจำสุสาน เจ้าหน้าที่ตอบคำถามอย่างสุภาพ ให้ผังระบุตำแหน่งหมายเลขหลุมต่างๆ ของดูราสหาไม่ยากเพราะอยู่แถวทางเข้า แต่ก็เดินวนไปมากว่าจะเจอ ส่วนของครูเก่า คำถามกลับของเจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกความก้าวร้าวใด เพียงแต่ใจให้น้อยเนื้อชอบกล เขียนเล่าให้ศิลปิน อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

7 มิ.ย. 2555

สวัสดีครับ
ไม่รู้ว่า “ชีวิตความเป็นอยู่” ในสวน Documenta ราบรื่นดีหรือเปล่า แล้วเพื่อนตัวน้อยสำราญไปกับความแปลกหูแปลกตาดีด้วยหรือเปล่าครับ เสียดายไม่ได้แวะไป

เจนรู้สึกขอบคุณกับความช่วยเหลือของอาจารย์มาก คงเจอกันแล้วนะครับ กลับมาเราตั้งใจจะจัดเวทีพูดคุยเรื่องนี้กัน เดี๋ยวเจนคงเล่าให้อาจารย์ฟัง

ไปฝรั่งเศสคราวนี้ แวะไปวางดอกไม้ที่หลุมอาจารย์ที่ปรึกษา ถามเจ้าหน้าที่ว่าอยู่ตำแหน่งไหนเพราะจำไม่ค่อยได้ เขาถามกลับว่า “เป็นคนมีชื่อเสียงหรือเปล่า” ได้แต่ตอบในใจว่า “ทำไมการวางดอกไม้ให้ผู้ล่วงลับจึงต้องกำกับด้วยความมีหน้ามีตา”

คิดถึงอยู่ครับ
สายัณห์

6 มิ.ย. 2555

อาจารย์คะ
เล่าสู่กันมา เมื่อวานเจ้ยกับทีมติดตั้งงานในสวนฝนตกเลยแวะมาหุงข้าวเที่ยงในบ้านป่า เจียวไข่ ผัดผัก กำลังเคี้ยวคำสุดท้าย ขบวน สศร. นำโดย ดร. อภินันท์แห่แหนกันมา (มี น.ศ. คัดเลือกมาสามคน แต่จากจิตรกรรมทั้งหมด?) ผอ. สศร. และใครๆ มายืนถ่ายรูปหน้าบ้าน เป็นทัวร์ลง บรรยากาศเปลี่ยนไป เจนมาตอนนั้น เข้าสัมภาษณ์อภินันท์ทันใด

งับแย่มาก ยังไม่ฟื้นเลย กายไม่เป็นไรแต่ใจยังไม่ดีขึ้น ตื่นกลัวขดอยู่ในที่นอน มีฉากสะเทือนใจที่เอาเขา(อุ้ม)ออกไปนอกบ้านแต่ในรั้ว แล้วเขารู้สึกตระหนก วิ่งวนแบบไม่มีใคร ไม่รู้หนไหน วนเป็นสิบรอบเร็วๆ จนน้ำตาไหล ผู้หญิงเยอรมันมากับหมาบอกว่าให้กอดเขามากๆ เลยลากกรงที่เขาขังตัวเองออกไปเมื่อสบโอกาส พายุมาโดยพลัน สาดกรงเอนระเนนอยู่หน้าบ้าน หนาว

ไม่มีใครอยู่ในปาร์คใหญ่มหึมานอกจากเราสองตนตอนกลางคืน
สงัดจริง
แต่กลางวันมีคนมาดูไม่ขาดสาย มีเสียงเหรียญขอรับบริจาคหล่นกราวในตู้

(มีเรื่องสภาพน่าสะเทือนใจ คนของด๊อคฯ ไปรับผิดไฟลท์ หมากับคนหลังเดินทางและรอเครื่องและพิธีการ สิบแปดชั่วโมง นั่งอยู่บนเก้าอี้เดี่ยวโยงเป็นแถวข้างผนัง (มีโซฟาใหญ่กลางห้องขาออกสองชุดที่เราไม่บังอาจนั่ง) เจ้าหน้าที่ สีชุดคล้ายตำรวจมาตะโกนใส่ว่าที่นี่ที่เยอรมันห้ามหมานั่งเก้าอี้ เข้าใจมั้ย อย่างก้าวร้าว หมาสั่น คนกอดหมาไว้ นึกว่าไปรถไฟคงไม่ไหว สภาพหมาอย่างนี้ ตกลงใจเรียกแท็กซี่สนามบิน จากฟรังเฟิร์ตไปคาสเซล สองชั่วโมง สองร้อยห้าสิบยูโร ไม่ได้เอามือถือมา ขอแท็กซี่โทรหาเจ้าหน้าที่ด๊อคฯ คำถามแรกที่แท็กซี่ตอบคือ ผู้หญิงที่เรียกมาบอกว่าจะเป็นคนจ่าย แปลว่าคำถามจากด๊อคฯ คือใครจ่าย จึงไม่ถามและไม่พูดเรื่องนี้เลย มาทราบจากคนช่วยงานว่าเขาตกใจกันมาก เพราะคนไปรับบอกว่าไฟลท์นี้ไม่มีอารยากับหมา ความตระหนักถึงชีวิตอยู่สูงกว่าการเอาคืนหรือขอคืนกำไรขาดทุนมากนัก เทียบกันไม่ได้เลย เหตุที่สนามบินต่อหน้าคนมากมายอยู่ในเนื้องานอยู่แล้ว เช้านี้นักข่าวหญิงว่าศิลปินชายอยู่ในบ้านกับCoyote เธอมาอยู่กับหมาอีก บอกว่าไม่ใช่การเผชิญหน้า แต่โอบกอด ไม่รู้เข้าใจมั้ย)
เมื่อวานสามทุ่มกว่ายังไม่มืด เอางับไปเดินในทุ่งหญ้าสูง นักข่าวตามไปจะเอาภาพ หมากลัวจนนั่งงออยู่จมหญ้าต้องอุ้มกลับ ซึ่งหนักขึ้นทุกที (อยู่ในช่วงของนักข่าวล้นเมือง)

เล่ามายาว เดี๋ยวใครๆ ก็กลับกันในอาทิตย์นี้ ก็จะเป็นความสงบสงัดลำพังตัว
อ้อมีศิลปินทำด๊อก เพลย์กราวด์??? อยู่ในสวนเดียวกัน แต่ห่างกัน ผู้หญิงที่จูงหมามาตอนเช้าพบไปสามคน เธอว่าไม่มีหมาไปเล่น มีแต่คนทำความสะอาดเครื่องเล่นที่จัดไว้ นึกว่าผิดวิถีของคนที่ปฏิบัติกับหมาที่นี่ ศิลปะเอาสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ถูกใช้เข้ามาให้ใช้อย่างนั้นใช่มั้ย (ได้ยินเสียงเหรียญบริจาคหล่นในกล่องรั่ว) แต่นักข่าวตื่นเต้นมาก มาถามว่าที่นี่เป็นด๊อก เพลย์กราวด์ใช่มั้ย บอกว่าที่นี่เป็นบ้านคนกับหมา
(หลังจากนั้น ระหว่างพำนักอยู่เดินไปที่สนามหมาเล่นสองครั้ง แต่ละครั้งมีเด็กวัยรุ่นพาหมาไปอยู่ท่ามกลางเครื่องเล่น คนเฝ้าบอกว่าเธอต้องมีหมาจึงจะเข้าได้ เด็กวัยรุ่นให้ยืมหมา จึงได้เข้าไปเล่นกับหมา ในสนามหมาเล่น)

เรื่องที่ อ. ไปวางดอกไม้ลาอาจารย์ที่สุสาน กับคำถามจากคนเฝ้าว่าเป็นคนมีชื่อเสียงหรือเปล่า… บางทีการห้ามหมานั่งบนเก้าอี้ กับการเป็นหลุมของคนมีชื่อเสียง เป็นเรื่องเดียวกัน
ลาอาจารย์นะคะ

2
งัวเงียตื่นจากนอนกลางวัน เปิดหนังสือพิมพ์ เจอข่าวหน้าศิลปวัฒนธรรม อ้าว! ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช มาโชว์งานที่ปารีส แค่ 1 วัน ยาวจากเที่ยงวันยันเที่ยงคืน วันไหนหว่า ไม่เคยร่วมงานจริงกับเขาเสียที เหมือนชาตินี้เกิดมาไร้บุญวาสนาจะได้ชิมผัดไท/ไข่ทอด/ต้มยำ /แกงเขียวหวาน ฯลฯ จากศิลปินฝีมือระดับนานาชาติ (เชียวนะวุ้ย!) ดูเวลา 7 เม.ย. มันวันไหนกัน แว้ก! วันนี้เอง ตาลีตาเหลือกนุ่งห่มคลุมผ้ามิดชิดเพราะอากาศลดต่ำ ไม่เป็นไร ข่าวว่า แจกซุป คงอุ่นขึ้นมั้ง งานชื่อ Soup/No soup จัดแสดงสถานที่โอ่โถงมโหฬารของ Grand Palais ซึ่งใช้จัดพวกมหกรรมงานช้าง ประเภทงาน Monumenta คราวนี้จัดแจกซุป… ไม่มีคิวทางเข้าเพราะขืนเก็บตังค์ คงโดนผู้เข้าชมเขวี้ยงถ้วยซุปแหง ตื่นเต้น ตื่นเต้น (ดัดจริตไปเอง) ตอนข้าวแดงแกงเหลืองอะไรนั่นที่ราชประสงค์ ก็พลาดไม่ได้ไปชิมแล้วที คราวนี้ละวุ้ย จะซัดให้ท้องกาง เจ้าหน้าที่ค้นตรวจสัมภาระก่อนเข้า อู้ย ไม่ไปวางระเบิดประทุษร้ายหรอกพ่อคู้น ซุปอินเตอร์แบบนี้เป็นอาหารสงวนหายาก ทำเองก็คงไม่อร่อย ซ้ำไม่มีใครประทับตราศิลปินหรือศิลปะให้ ต้องเชิญมาแจกกันในหอศิลป์มหึมานี่จึงจะเท่ห์จ้า โต๊ะยาวและม้านั่งวางต่อเนื่องยาวตามความยาวของโถงพื้นที่ ใต้โดมโครงเหล็กและกระจกที่สูงลิบ อีกฟากหนึ่งเป็นฝั่งบริจาค หม้อซุปวางเป็นระยะพร้อมผู้คอยตักให้ ผู้คนไม่อัดเบียดแน่น สงสัยยังไม่ถึงเวลา ก็ปิดตั้งเที่ยงคืนโน่น บ้านอยู่ใกล้ก็หอบลูกหลานมาได้นะ ไม่เสียตังค์ หนาวๆ ยังงี้ ได้ซุปศิลปะสักถ้วย ท่านจะปรีดิ์เปรมไปชั่วชีวิต กองถ้วยกระดาษ ขวดน้ำ กระดาษเช็ดปาก วางซ้อนด้านซ้ายให้บริการหยิบเองก่อนไปรับซุป Soup/No soup นั่นสินะ ชักลังเลว่าจะรับหรือไม่รับดี ได้ไง อุตส่าห์ดั้นด้นแหวกอณูหนาวมาชิมศิลปะ เอาเสียหน่อยวะ ใครรู้จะได้อวดกะเขาได้ว่าชิมแล้วเฟ้ย ตูชิม esthéétique relationnelle อันลือชื่อมาแล้ว อย่าหาว่าไม่เคยแล้วเขียนส่งเดชล่ะ บางคนตีความไกลว่าการกลืนลงท้องคือการรับรองหรือยอมรับไปโดยปริยายนะนั่นน่ะ โอ้ย อย่าเพิ่งลงลึก อย่าเพิ่ง ไวไป ไวไป พวกนักชิมอาหาร ชิมไวน์ หรือชิมอะไรต่อมิอะไร ก็ใช่ว่าจะเออออยกดาวติดยศให้เลยนี่ ศิลปะเหมือนกัน ใครๆ ชอบเปรียบเป็นอาหารด้วยสำนวนเสพศิลปะ ชิมศิลปะ รสชาติศิลปะ และอะไรเกร่อๆ เทือกนี้ ไม่จ้า No (soup) ใช่ว่า anything goes ผัดไทไม่ได้อร่อยทุกเจ้า มันจนเลี่ยนก็มี แฉะเหมือนใส่ปลาร้าด้วยก็มี ซุปขมๆ ก็หาได้ไม่ยาก ศิลปะที่ไม่ต่างจากขยะก็ถมเถ แล้วเจ้า Soup/No soup เนี่ยคืออะไรหว่า? วางถ้วยกระดาษใส่ซุป น้ำขวดหนึ่ง ทิชชูเช็ดปากลงบนโต๊ะ จ้องมองสัก 2-3 นาที พยายามบิ๊วอารมณ์สุน-ทรีย์ จับกล้องมาถ่ายหนึ่งแชะ เออ! ถ่ายรูปแล้วโล่งอกดีนิ ภาพน่าจะชื่อว่า “ซุปของฉัน” แต่รวบรัดไปเพราะอาจแปลว่าฉันเป็นเจ้าของหรือผู้ทำซุป ไม่ได้ ไม่ได้ ผิดกรรมสิทธิ์ ต้องเป็น “ซุปที่ฉันได้รับบริจาคมา” อืม เข้าท่าหน่อย เอ แล้วรสชาติเป็นไงหว่า เห็นข้างๆ ทิ้งค้างไว้เต็มถ้วย เสียดายจัง เขาอุตส่าห์แจกนะคุณพี่ทอดทิ้งไปได้ง่ายๆ ยังไง ไม่ซาบซึ้งเลยคนพวกนี้ ช่วย in หน่อยไม่งั้นตกเทรนด์นะเออ Soup/No soup คืออะไรหว่า ปรุงด้วยอะไรนอกจากมะเขือเทศ เห็ด เต้าหู้ ที่โผล่แพลมปริ่มน้ำซุปข้น สูตรมีบอกไว้ในโพยที่แจก มีตั้งแต่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิวาทะ สังสรรค์ พบปะ ความเอื้ออารีที่ไม่ผ่านวัตถุใด (อ้าวแล้วซุปในถ้วยล่ะคุณ!) เหล่าเครื่องปรุงที่พบดาษดื่นสำหรับตำ รับอาหารแบบ esthétique relationnelle ที่เจ้าตำราพูดย้ำไปมา (ตอนนี้คงไปกรอกโสตประสาทที่ École des beaux-arts...) รสชาติยังไม่แจ่มแจ๋พอ ต้องเติมคำศิลปะอะไรบางอย่างชูรสไปด้วย โพยบอกต่อว่าในพื้นที่ปฏิสัมพันธ์เช่นนี้ “ผู้เยี่ยมชมจะสร้างงานที่ประหนึ่งสถาปัตยกรรมของความเอื้ออาทรและประติมากรรมเชิงสังคม” เหลียวซ้ายแลขวา ก็เห็นแค่โครงเหล็กและกระจกโดมของ Grand Palais อยากจะทักแม่สาวหัวแดงโน่น หรือพ่อหนุ่มหัวทองคนนี้ ต่างก็เจ๊าะแจ๊ะกับกลุ่มที่มากันเอง อภิปรายวิธีทำซุปหรือคุณ? มาแลกเปลี่ยนกันเหอะ นะ นะ ก้มมองซุปในถ้วย จะหมดไหมเนี่ย เอ้า เติมชื่อคนและเติมทฤษฎีอีกนิด รสจะเข้มขึ้นอีกหน่อย โพยบอกก่อนหน้าฤกษ์ฤทธิ์ มี Gordon Matta–Clark ที่เคยเปิดร้านอาหารมาแล้ว แว้ก! จะบอกว่าซุปนี่ค้างปี ไม่ได้สดใหม่ถอดด้ามรึไง ยอมไม่ได้นะกลัวท้องร่วง แต่โพยก็เตรียมยาแก้ไว้ให้ล่วงหน้า แหมรอบคอบจัง ยาแก้นามว่า Marcel Mauss นักสังคมวิทยารุ่นเดอะผู้มีชื่อกับผลงานเรื่อง “การให้” (Le don) การแลกเปลี่ยนคุณค่า การรับ ให้รู้สึกโง่ขึ้นมาทันใดว่าเคยได้ยินแต่ชื่อโดยไม่เคยอ่าน เลยพลาดไปว่าซุปที่แจกนี่คือน้ำใจ คือทาน คือการทำให้ผู้คนมาด้วยกันและคุยกันเอง แลกเปลี่ยนกันเอง ซาบซึ้งชะมัดยาด ลึกซึ้งซะไม่มี พล่ามอยู่นาน แล้วรสชาติมันเป็นไง หน้าตาเหมือนต้มข่า เผ็ดเล็กๆ ปลายลิ้น แต่พอมีลูกเต๋าเต้าหู้ เลยเฉียดไปทางซุปมิโซะญี่ปุ่น แต่ปรุงระคนจนโทนออกแบบที่ฝรั่งกินได้ รสเลยปะแล่มๆ ไร้ทิศทางแน่นอน เพราะศิลปินเลี่ยงการขาย “exotisme” แต่เน้น “มิติที่จับต้องไม่ได้และปฏิสัมพันธ์ของประสบการณ์ที่แบ่งปันกัน” โพยว่างั้น กลืนไปอ่านไปเกือบหลุดมิติไปแชร์ประสบการณ์กับ E.T. เอาวะ ในเมื่อซดซุปเขาไปแล้ว จะมัวแต่เหน็บแนม เสียดสี ประชดประชัน กระทบกระเทียบ เยาะเย้ย ก็ไม่ได้ทำ ให้ซุปถ้วยนั้นมันข้นหรือใสขึ้น การเสียดเย้ยบางคราวก็มันส์ฮา บางทีท่าก็ทุเรศในตัว วิจารณ์กันตรงๆ ดีกว่าว่าปัญหามีสองประเด็น (โอว! ซีเรียสมาเลย น่ากริ่งเกรงจัง กลัวแล้วจ้า) แรกเลย พื้นที่โอ่โถงมหึมาบะเริ่มเทิ่มเสียดฟ้า ยาวกว้างเกือบสนามบอล ทำให้พื้นที่การแจกซุปโหวงเหวงโหรงเหรงเป็นโรงทาน ขาดลักษณะเป็นกันเองและการปิดแคบหดตัวแบบในหอศิลป์อื่นที่เคยทำมา ความเป็นส่วนตัวของกิจกรรมที่เน้นการพูดคุยพบปะแบบใกล้ชิดเลยจางเจือไปกับสัดส่วนของพื้นที่ การยืนแจกเป็นจุดๆ ยิ่งแปรสภาพการให้เป็นการทำทาน เป็นซุปเอื้ออาทรที่ไม่แยกประเภท (และดูเหมือนโปรแกรมก็เอื้อให้คนเร่ร่อนเข้ามาได้ด้วยอยู่แล้ว) โถ ก็อย่าทำตัวหัวสูงสิจ๊ะคุณผู้ชม หัดเป็นขอทานมาขอซุปซะบ้าง อ้าว ซุปศิลปะเชียวนา… ประเด็นถัดมาคือ การต้มยำ ทำ แกง ผัดไท ผัดปลาไหล น้ำซุปใส ไข่ข้น หรืออะไรต่ออะไรเนี่ย ศิลปินเองทำมาเป็นทศวรรษแล้วกระมัง ไฉนยังจะ recycle ฉายาเดิมที่ปักหลักชื่อเสียงให้ ทำไมยังคงทำแกงเหลืองแกงแดงพร้อมเนื้อหาการเมืองกร่อยๆ แถวราชประสงค์อยู่อีก ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปตำ ส้มตำ ยำ เห็ด เป็ดย่าง หรืออะไรสุดแล้วแต่ นั่นก็ไม่ต่างจากผัดไทเมื่อสิบปีก่อน ในบาตรของสุนทรียศาสตร์เชิงปฏิสัมพันธ์ ข้าวติดก้นบาตรมันแข็งจนกระเดือกไม่ลงอีกต่อไป ซุปไม่แซ่บอีกแล้ว หรือไม่เคยแต่ไหนแต่ไร อีกทฤษฎีที่เคยขุนนั้นไซร้ ตำเป็นน้ำพริกละลายลงแม่น้ำไหนก็จางหายในพริบตา

Soup/No soup
เป็นสุสานซุปที่ทึกทักชื่อคนดังแล้วคิดว่าผู้ชมจะมาวางหรีดดอกไม้ ใช่ มาไว้อาลัยให้กับชื่อ แต่ผู้ชมก็ไม่ได้แวะเวียนมาสุสานเฉพาะเพื่อคนมีชื่อ ไม่ใช่หรือ?