เมื่อวรรณกรรมไทย (อาจจะ) กลายเป็นวรรณกรรมโลก : มุมมองจากญี่ปุ่น

ในความเป็นวรรณกรรมโลก
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เกิดกระแส “วรรณกรรมโลก” ในประเทศญี่ปุ่น และมีการแปลวรรณกรรมหลากหลายภาษาจากประเทศและภูมิภาคต่างๆ เป็นภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น หากมองย้อนกลับไปพิจารณาจะพบว่า ตั้งแต่สมัยโบราณและ
โดยเฉพาะหลังจากญี่ปุ่นเปิดประเทศและคนญี่ปุ่นจำนวนมากตั้งอกตั้งใจเรียนรู้วัฒนธรรมของโลกตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นั้น คนญี่ปุ่นแปลวรรณกรรมภาษาต่างประเทศออกมาอย่างกระตือรือร้น แต่อาจกล่าวได้ว่า
ในท่ามกลางกระแสการแปลวรรณกรรมโลกในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ คนญี่ปุ่นแปลวรรณกรรมต่างประเทศด้วยมุมมองที่แตกต่างจากยุคก่อนหแต่ก่อนอื่นเราต้องพิจารณาว่า “วรรณกรรมโลก” คือวรรณกรรมแบบใด

กล่าวกันว่า คำและแนวคิดเกี่ยวกับ “วรรณกรรมโลก” นั้น ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดยนักเขียนชาวเยอรมัน Johann Wolfgang von Goethe (โยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่) คำคำนี้ปรากฏในบันทึกการสนทนาระหว่างเกอเธ่กับ
ลูกศิษย์และเลขานุการของเขาชื่อ Johann Peter Eckermann ใน ค.ศ. 1827 วันหนึ่ง เกอเธ่แสดงความสนใจนิยายของจีน แต่ลูกศิษย์ของเขาซึ่งไม่ให้ความสำคัญกับวรรณกรรมจากแดนบูรพา และประหลาดใจกับรสนิยมการอ่านหนังสือของเกอเธ่ บอกว่า “มัน [นิยายของจีน] น่าจะดูประหลาดไม่น้อย” แต่เกอเธ่กลับปฏิเสธทัศนะของ Eckermann และยังบอกกับเขาว่า “บทกวีคือทรัพย์สมบัติของมนุษยชาติ และมันแสดงตัวให้เป็นที่ประจักษ์ต่อคนหมู่มากได้ทุกที่ทุกเวลา” และในที่สุดเขาประดิษฐ์คำว่า “วรรณกรรมโลก” ขึ้นในการสนทนาครั้งนี้ โดยบอกว่า “ปัจจุบันนี้ คำว่าวรรณกรรมชาติ (National literature) เป็นคำที่ไม่ใคร่จะมีความหมายแล้ว และยุคแห่งวรรณกรรมโลก (Weltliteratur = World literature) อยู่ใกล้แค่เอื้อม”

แม้สำหรับเกอเธ่ คำว่าวรรณกรรมโลกนั้นอาจมีความหมายไม่ต่างกับคำว่า “วรรณกรรมต่างประเทศ” นัก แต่
หลังจากการประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมา การถกเถียงเกี่ยวกับความหมายหรือนิยามของวรรณกรรมโลกก็เกิดขึ้น และมีหลายคนแสดงความคิดเห็นต่อคำนี้ หากมองอย่างคร่าวๆแล้วแนวคิดเกี่ยวกับวรรณกรรมโลกอาจแบ่งออกเป็นสองประการ บางคนให้เอกสิทธิ์กับวรรณกรรมจากโลกตะวันตก ทั้งที่ตัวเองก็ให้ความสนใจกับวรรณกรรมจากโลก “นอก” ตะวันตกด้วย เกอเธ่เองก็บอกกับ Eckermann ว่า

ทว่า แม้เราให้ความสำคัญกับวรรณกรรมต่างประเทศ เราต้องไม่ผูกมัดตัวเองกับสิ่งที่มีความเฉพาะตัวหนึ่งๆ และต้องไม่ถือว่าสิ่งนั้นเป็นตัวแบบ […] แต่ถ้าหากเราต้องการแม่แบบอย่างจริงจัง เราต้องย้อนกลับไปถึงกรีซโบราณ ซึ่งผลงานของพวกเขาแสดงให้เห็นถึงความงดงามของมนุษยชาติอยู่เสมอ

แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกบางส่วนที่ปฏิเสธลักษณะแบบคู่ตรงข้ามซึ่งเปรียบเทียบโลกตะวันตกกับโลก “นอก” ตะวันตก และพยายามเสนอมุมมองที่กว้างกว่านี้ แนวคิดประการหลังนี้ดูเหมือนจะเป็น “กลาง” และเหมาะสมกับยุคโลกาภิวัตน์มากกว่า

แน่นอนว่าเราควรให้ความสำคัญกับวรรณกรรมจากทุกพื้นที่ของโลกใบนี้อย่างเสมอภาค (ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมจากโลกตะวันตกหรือวรรณกรรมจากโลกนอกตะวันตกก็ตาม) แต่ขณะเดียวกัน เราก็ควรระมัดระวังด้วยว่ามีวรรณกรรมที่มีลักษณะต่างๆอยู่กระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ และไม่ได้มีสหสัมพันธ์ต่อกัน และเรายังต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่างและความหลากหลายในวรรณกรรมเหล่านั้นด้วย ไม่ควรให้ลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมชิ้นต่างๆสูญเสียไปในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราควรนิยามและให้ความหมายกับวรรณกรรมโลกอย่างไรดี?

ความเห็นของ David Damrosch นักวิจัยวรรณกรรมเปรียบเทียบแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอาจช่วยเราได้บ้าง Damrosch เขียน What is World Literature? ขึ้นใน ค.ศ. 2003 โดยเขาพยายามสรุปข้อถกเถียงต่างๆ เกี่ยวกับวรรณกรรมโลก และยังเสนอให้เราเห็นขั้นตอนการพัฒนาความคิดของเขาเกี่ยวกับวรรณกรรมโลกอย่างน่าสนใจโดยยกตัวอย่างต่างๆ มาประกอบ เขาเขียนไว้ว่า

วรรณกรรมโลกไม่ใช่บรรดาผลงานขึ้นทำเนียบวรรณกรรมชิ้นเอก (canon) ที่ยิ่งใหญ่ไร้ขอบเขตจำกัดและซับซ้อนเข้าถึงยาก แต่มันคือวิถีของการเผยแพร่และการอ่าน […] ความผันแปรได้เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่ขาดไม่ได้ของความเป็นวรรณกรรมโลก และยังกลายเป็นจุดแข็งเมื่อผลงานนั้นได้รับการนำเสนอและตอบรับเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ยังกลายเป็นจุดอ่อนเมื่อมันถูกจัดแจงหรือถูกฉวยใช้แบบผิดๆ โดยมิตรสหายใหม่ๆจากต่างแดน

กล่าวโดยสังเขป เราควรมองวรรณกรรมโลกในแง่ที่ว่าผลงานวรรณกรรมต่างๆ แพร่หลายและถูกยอมรับอย่างไรในพื้นที่ต่างๆของโลก กล่าวคือเราควรมองเงื่อนไขและสภาวะที่ทำให้วรรณกรรมนั้นๆได้รับการแปลเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่ใช่ถิ่นกำเนิดของวรรณกรรมเหล่านั้น ผู้เขียนเห็นว่าความคิดและนิยามที่ยืดหยุ่นเกี่ยวกับวรรณกรรมโลกของ Damrosch มีผลในการวิเคราะห์วรรณกรรมโลกในยุคปัจจุบัน และเราอาจหยิบยืมกรอบความคิดของเขามาใช้ในการพิจารณากรณีวรรณกรรมต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่นได้บ้าง