เราพบกันใหม่ในความมืด และแสวงหาแสงริบหรี่แห่งความหวังด้วยกัน : ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ผู้อื่น” และ “อนาคต” จากเรื่องสั้น “แสงสลาย” ของ ปราบดา หยุ่น”

ค้นหาตัวเอง
ด้วยการรู้จักตัวเอง
ค้นพบคนอื่น
ด้วยการเข้าใจผู้อื่น
ตัวฉันอาจอยู่หนอื่น
เธอเป็นตัวเอง ใช่หรือไม่
ไม่มีใครคนอื่นอยู่ในตัวเธอ ใช่หรือไม่
แล้วเธอรู้ได้อย่างไร ว่ามันใช่หรือมิใช่
เมื่อฉันไม่ได้เป็นตัวฉันอีกต่อไป
มีใครสักคนพูดแบบนั้น
ฉันกลายเป็นคนอื่น
เป็นผู้อื่นที่ฉันต้องทำความรู้จัก
และผู้อื่นนั้นอาจเป็นเธอก็ได้

“ฉันคือผู้อื่น”, ซะการีย์ยา อมตยา

ณ ปัจจุบันนี้ สมญานาม “ตัวแทนของคนรุ่นใหม่” ที่แวดวงหนังสือของไทยมอบให้แก่นักเขียนชื่อ ปราบดา หยุ่น
(ทั้งที่ตัวนักเขียนเองพยายามปฏิเสธที่จะยอมรับคำขนานนามนี้) คงหมดความหมายไปแล้วโดยสิ้นเชิง แน่นอน ไม่มีใครกล้าเรียกนักเขียนอายุย่างสี่สิบว่า “คนรุ่นใหม่” (และนักเขียนเองก็คงจะลำบากใจเช่นกัน)

ไม่แน่ใจว่าที่มาของวลี “ตัวแทนของคนรุ่นใหม่” เป็นอย่างไร แต่ผู้เขียนเข้าใจว่าคำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ประจำปี 2545 คงจะมีผลต่อความแพร่หลายของสมญานี้อยู่ไม่น้อย

ความน่าจะเป็น เป็นวรรณกรรมที่น่าจะถือได้ว่าเป็นตัวแทนความคิดของคนรุ่นใหม่ ปราบดา หยุ่น เป็นนักเขียนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ช่างสังเกตชีวิตและดูพฤติกรรมมนุษย์ วิพากษ์วิจารณ์สังคมและค่านิยมของยุคสมัย […]
ความน่าจะเป็น แสดงความสามารถของผู้เขียนในการนำเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องมาเขียนให้เป็นเรื่องที่น่าขบคิดหรือตั้งคำถามโดยไม่ให้คำตอบ เรื่องสั้นในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดนี้มีลีลาและกลวิธีการเขียนเฉพาะตัวและมีความหลากหลายแปลกใหม่ในด้านกลวิธีและขนบวรรณศิลป์ […]

ข้อความที่ผู้เขียนเน้น แสดงให้เห็นว่าทางคณะกรรมการฯพยายามเน้น “ความแปลกใหม่” หรือ “ความทันสมัย” ของผลงานปราบดาอย่างเห็นได้ชัด

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เคยเขียนว่า “นับตั้งแต่ปราบดาได้รางวัลซีไรต์ ปฏิกิริยาของนักวิจารณ์ นักเขียน และนักสื่อสารวรรณกรรมที่แสดงต่อสาธารณชน จะออกมาในลักษณะตรงกันข้าม” และยังเรียกปฏิกิริยาเหล่านี้ว่า “ปฏิกิริยาต่างขั้ว: ถ้าไม่ชอบก็ชัง” ผู้เขียนเข้าใจว่ามันเป็นปฏิกิริยาเชิงอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงและฉับพลันซึ่งมีต่อ “ความแปลกใหม่” ของปราบดา มากกว่าจะเป็นการวิจารณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มเช่นนี้เห็นได้ในงานวิจารณ์หนังสือ ความน่าจะเป็น

แต่แน่นอนว่า งานวิจัยหรืองานวิจารณ์ทุกชิ้นใช่ว่าจะเกิดจากปฏิกิริยารุนแรงฉับพลันดังกล่าว ยังมีงานบางชิ้นที่พยายามให้คำอธิบายและตีความ “ความแปลกใหม่” หรือ “ความทันสมัย” ของปราบดาจากมุมมองเชิงภววิสัย โดยส่วนใหญ่ใช้คำหรือแนวคิดที่เรียกกันว่า “หลังสมัยใหม่” (postmodern) (ซึ่งบางคนอาจเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายคำคำนี้ไปแล้ว)

หากมองในแง่องค์ประกอบซึ่ง “ทำลายและ/หรือท้าทาย” ขนบ (convention) และค่านิยมทางวรรณศิลป์หรือทางสังคม วรรณกรรมของปราบดาอาจเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมหลังสมัยใหม่ก็จริง แต่คำเรียกนี้มิได้เป็นอะไรที่มากไปกว่าการจำแนกประเภทวรรณกรรมหรือคำอธิบายที่ค่อนข้างผิวเผิน ในเมื่อความหมายของคำว่า “(ความเป็น)หลังสมัยใหม่” นั้นค่อนข้างกว้างและกระจัดกระจาย และไม่มีใครสามารถนิยามคำนี้ได้อย่างชัดเจน