เรื่องชวนคิด เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมตึกโดม

รูปแบบและความหมายของสถาปัตยกรรมหลังปี 2475 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง ดังที่งานศึกษาของชาตรี ประกิตนนทการ จำนวนหลายชิ้น พยายามเสนอให้เห็นอยู่เสมอว่า สถาปัตยกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เน้นขยายการก่อสร้างให้กว้างออกไปในแนวราบ โดยปฏิเสธการสร้างงานให้ดูชะลูดแหลม สูงขึ้นไปในแนวดิ่ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงให้เข้ากับอุดมการณ์ใหม่ของคณะผู้ทำการอภิวัฒน์ ที่ต้องการทำลายสัญลักษณ์อันแสดงออกซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ลง ดังที่ได้มีปรากฏให้เห็นอยู่ตามอาคารเรือนฐานันดร (ฐานานุศักดิ์) สูงต่างๆที่มักทำยอดอาคารให้ชะลูดแหลมขึ้นไป และในขณะเดียวกัน คณะผู้ทำการอภิวัฒน์ก็ยังได้สถาปนาระบบสัญลักษณ์ชุดใหม่ของกลุ่มคณะตนขึ้นแทนที่ ซึ่งสัญลักษณ์ใหม่ดังกล่าวนี้จะสัมพันธ์อยู่กับเหตุการณ์วันอภิวัฒน์ในปี 2475 โดยที่เลข 6 จากหลัก 6 ประการ, เลข 24 จากวันก่อการอภิวัฒน์, เลข 3 จากเดือนมิถุนายน (นับตามแบบเก่าที่เดือน 1 คือเมษายน), และเลข 2475 นั้น จะได้กลายเป็นแนวคิดหลักในการกำหนดความกว้าง ความสูง และองค์ประกอบอื่นๆของงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ เป็นต้น

แต่กรอบวิธีคิดดังกล่าวข้างต้นกลับไม่สามารถนำมาใช้อธิบาย “ตึกโดม” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เนื่องจาก “ตึกโดม” เป็นอาคารในยุคคณะราษฎรเพียงแห่งเดียวที่ยังคงสร้างสูงชะลูดขึ้นไปในแนวดิ่ง ทั้งๆ ที่ถือได้ว่าตึก
ดังกล่าวเป็นผลผลิตโดยตรงจากหลัก “6” ประการ ข้อที่ “6” ที่ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” แต่กลับไม่พบการใช้เลข “6” เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบสร้างตึกโดมแต่อย่างใด หลังคาที่หลายคนเข้าใจกันว่ามี 6 เหลี่ยมนั้น แท้ที่จริงกลับมี 8 เหลี่ยม จนในที่สุดจึงได้เกิดความพยายามใหม่ในการเชื่อมโยงหลักทั้ง 6 ประการให้เข้ากับจำนวนหน้าต่างของตึก ซึ่งมีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 6 บานด้วยกัน

เพื่อทบทวนและพยายาม “อ่าน” ตึกโดมใหม่ เราลองมาสำรวจกันดูอีกครั้งว่า สถาปนิกผู้ออกแบบ ได้เจตนาให้อาคารแห่งนี้สะท้อนแนวคิดหลักของคณะผู้ทำการอภิวัฒน์ด้วยหรือไม่ หากสะท้อน อะไรคือระบบสัญลักษณ์ที่ได้ถูกเลือกใช้ และเป็นระบบสัญลักษณ์ชุดเดียวกันกับระบบวัน-เดือน-ปีของการอภิวัฒน์หรือไม่