ไม่มีใครอ่านมาร์กซ์ที่ปักกิ่ง ?

เช้าวันหนึ่งของเดือนสิงหาคมเมื่อ 16 ปีก่อน ที่โรงแรมคงเซี่ย เมืองลา เขตพิเศษปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนานของจีนด้านที่ติดกับแขวงหลวงน้ำทา ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลาว ชั้นล่างของโรงแรมที่ใช้เป็นล๊อบบี้และห้องอาหารเล็กๆ แคบๆ นั้น คลาคล่ำไปด้วยนักเดินทาง หลายคนนั่งรับประทานอาหารเช้า นั่งจับกลุ่มคุยกัน คนที่เดินทางเข้าประเทศจีนทางบกผ่านมาทางประเทศลาวมักจะต้องแวะที่โรงแรมนี้ก่อน เพราะเป็นที่ชุมนุมของพ่อค้านักธุรกิจ หมายความว่าเราสามารถขอแลกเปลี่ยนเงินตราจากพวกเขาได้  เนื่องจากในปีนั้นระบบธนาคารของจีนยังไม่สามารถให้บริการได้มากนัก การแลกเงินตราต่างประเทศจึงจำกัดจำเขี่ย คนที่จำเป็นจะต้องใช้เงินเพื่อค้าขายหรือเดินทางเข้าออกประเทศจีนก็หาแหล่งแลกเปลี่ยนเงินจากพวกพ่อค้าหรือนักค้าเงินเถื่อน แม้จะต้องยอมถือธนบัตรเงินหยวนเก่าๆ ที่เราเรียกกันว่า เงินเน่า คือมันเก่าและผ่านหลายมือจนเปื่อยยุ่ยเกือบขาด แต่ก็ดีกว่าไปติดต่อธนาคารของรัฐซึ่งต้องแสดงเอกสารมากมาย

ในปี 2536 นั้น ซึ่งเป็นปีที่ผู้เขียนเดินทางเข้าประเทศจีนเป็นครั้งแรกในชีวิต เส้นทางที่ใช้คือ เชียงของ-ปากแบ่ง-อุดมไซย-หลวงน้ำทา-บ่อเต็น ก็ไม่ได้เป็นด่านสากล หมายความว่าอนุญาตเฉพาะคนลาวและคนจีนในท้องถิ่นเดินทางข้ามแดนไปใกล้ๆ เท่านั้น  เจ้าหน้าที่ไม่รับลงตราวีซ่าให้คนชาติอื่น แต่เขาก็อนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าประเทศโดยประทับตราผ่านแดนให้ในเอกสารอื่นต่างหาก และบอกให้เอาหนังสือเดินทางไปตรวจลงตราที่เมืองคุนหมิง ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนนับกว่าพันกิโลเมตร  ดังนั้นเอกสารผ่านแดนก็ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์พอจะเอาไปแสดงกับเจ้าหน้าที่ธนาคารของรัฐเพื่อขอแลกเงินได้ จึงจำเป็นต้องขอแลกกับพวกพ่อค้าเงินเถื่อน ซึ่งไม่มีใครขอดูเอกสาร อัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่ได้แตกต่างกัน สมัยนั้น 1 หยวนแลก 5 บาทไทย

ผู้เขียนไปขอแลกเงินกับพ่อค้าชาวลาวคนหนึ่ง กว่าจะขอแลกเงินก็ทำความรู้จักกันพอเป็นพิธี คุยกันไปมาได้ความว่า เขาเป็นพ่อค้ารถยนต์ที่ร่วมกับหุ้นส่วนคนไทยนำรถยนต์หรูหราราคาแพงจากฝั่งไทยมาขายให้ชาวจีน  ก่อนหน้านี้การซื้อขายรถยนต์ผ่านแดนนี้เฟื่องฟูไม่น้อย เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจจีนเริ่มขยายตัวหลังจากปฏิรูปเศรษฐกิจมาได้ 15 ปีคือตั้งแต่ปี 2521  เมื่อคนจีนเริ่มร่ำรวยมากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่อยากจะนั่งรถยนต์หรูหราราคาแพงอวดมั่งอวดมีกันบ้าง แต่ติดขัดตรงที่หาซื้อรถอย่างนี้ไม่ได้ เพราะรัฐบาลปักกิ่งเห็นว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จึงเก็บภาษีมหาโหด 200 เปอร์เซ็นต์  คนจีนที่จะนั่งรถหรูประเภทฮอนด้าแอคคอร์ด เลกซัส หรือมิตซูบิชิปาเจโรได้ในสมัยนั้นก็หมายความว่าต้องรวยจริง และที่สำคัญต้องเส้นใหญ่ด้วย เพราะการนำเข้ารถยนต์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  ทางเลือกสำหรับพวกที่ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก และที่สำคัญเส้นไม่ใหญ่ ก็คือมาติดต่อคนลาวให้ไปเอารถจากประเทศไทยไปขายให้  การนำเข้าแบบนี้ไม่ผ่านระบบภาษีศุลกากร ราคารถยนต์จึงไม่แพงเกินกว่าเศรษฐีใหม่บ้านนอกแถวสิบสองปันนาพอจะซื้อหาได้

ตอนนั้นประเทศไทยเปิดเสรีอุตสาหกรรมรถยนต์แล้ว การผลิตรถยนต์ส่งออกเริ่มมีบ้าง แต่รถยนต์หรูพวงมาลัยซ้ายก็ยังไม่มีผลิตภายในประเทศอยู่ดี  พ่อค้าไทยต้องนำรถยนต์จากดูไบ ขับขึ้นไปข้ามแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เอาใส่แพต่อไปขึ้นฝั่งลาวที่เมืองปากแบ่ง ขับต่อจากปากแบ่งไปอุดมไซย เข้าหลวงน้ำทา บ่อเต็น เมืองลา เชียงรุ่ง สิบสองปันนา  ความที่ต้องขนส่งและขับผ่านประเทศลาว ก็จำเป็นต้องหาหุ้นส่วนชาวลาวเพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่านแดน  สมัยนั้นเดินทางในประเทศลาวไม่ค่อยสะดวก ถนนหนทางไม่ดีนั่นแน่นอนอยู่แล้ว เพราะเส้นทาง R3 ยังไม่ได้รับการพัฒนาเหมือนในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ลำบากมากกว่าคือ กฎระเบียบในการเดินทาง  การผ่านแต่ละแขวงจะต้องขออนุญาตจากอำนาจปกครองท้องถิ่น ทำให้ล่าช้าและเสียเวลา เพราะบางทีเจ้าหน้าที่ระดับแขวงก็เล่นตัว เลยเวลาทำการนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่ยอมเซ็นเอกสารให้ บางรายกลับบ้านตั้งแต่บ่ายกว่าๆ ต้องไปตามตัวถึงบ้าน แถมต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาให้ด้วย

คุยกับนักธุรกิจชาวลาวที่โรงแรมคงเซี่ย ได้ความว่า ตอนนั้นพวกนักธุรกิจค้ารถยนต์ผ่านแดนประสบปัญหาอย่างมาก เพราะทางปักกิ่งรู้ว่ามีการนำรถยนต์เข้าไป จึงออกคำสั่งห้าม ปรากฏว่ามีรถยนต์ที่ขับขึ้นไปรอข้ามแดนเป็นจำนวนมาก ผ่านไปตอนแรกยังนึกว่าใครมาทำธุรกิจเต๊นท์รถแถวนี้  ตอนนั้นพ่อค้าไทยและลาวเจ็บตัวไปหลายคน ขาดทุนหลายล้านเพราะเอารถข้ามไม่ได้ ภายหลังได้ข่าวว่าจำต้องตัดใจขายทิ้งให้คนลาวไปใช้ เพราะจะเอากลับคืนเข้าไปไทยก็ไม่คุ้ม  แม้ว่าตอนนั้นรัฐบาลจะมีนโยบายเปิดเสรีรถยนต์แล้ว แต่การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปก็ยังแพงอยู่ดี จะนำฮอนด้าแอคคอร์ดเข้าไปขายแข่งกับบริษัทฮอนด้าคาร์ประเทศไทยนั้น ไม่มีทางทำได้อยู่แล้ว ถอดเป็นชิ้นขายเป็นอะไหล่ก็ไม่คุ้มค่า

ความจริงในปีนั้นอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในจีนเริ่มขยายตัวบ้างแล้ว บรรดารถยนต์ผลิตในจีนหน้าตาเชยๆ ยี่ห้อจีนๆ เริ่มหายไปจากท้องถนนพร้อมๆ กับรถจักรยาน และถูกแทนที่ด้วยรถยนต์รูปร่างทันสมัยที่เกิดจากสายพานการผลิตของบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจจีนและบริษัทต่างชาติที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศจีนอย่างเห็นได้ชัด จากยุคที่ผลิตอะไรได้ไม่เพียงพอ สู่ยุคมีกินมีใช้มากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันใครเดินทางไปจีนจะได้เห็นว่าภาพรถยนต์บนท้องถนนกำลังจะกลืนภาพรถจักรยานที่เคยเห็นกันเมื่อก่อนไปหมดแล้ว  ชวนให้คิดว่าประเทศจีนก็กำลังพัฒนาตามทิศทางประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ ไม่เห็นมีอะไรแปลกประหลาดน่าสนใจตรงไหนเลย แล้วทำไมคนจึงสนใจประเทศนี้กันนัก

ที่ยกเรื่องรถยนต์มาเล่า เพราะเห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมตัวอย่างที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตในจีน ประเทศคอมมิวนิสต์ที่ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลกในเวลานี้ และอีกประการหนึ่งคือมันพ้องกับคำทำนายทายทักของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองระดับโลกที่บอกว่า จีนกำลังจะทำให้อำนาจนำของโลกเปลี่ยนจากฝั่งตะวันตกมาอยู่ฝั่งตะวันออก  ก่อนหน้าและในศตวรรษที่ 19 โลกเป็นของยุโรป ศตวรรษที่ 20 โลกอยู่ภายใต้การนำของอเมริกา และศตวรรษที่ 21 ในปัจจุบัน โลกจะนำพาโดยจีน  ได้ฟังมาจากที่สัมมนาหนหนึ่งในกรุงปักกิ่งเกี่ยวกับอนาคตของจีน พวกนักทำนายอนาคต (จำไม่ได้แล้วว่าใคร) พูดทำนองว่า อีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้านี้ รถยนต์ส่วนใหญ่ที่วิ่งอยู่บนพื้นพิภพแห่งนี้จะผลิตในจีน หรืออย่างน้อยที่สุดต้องมีชิ้นส่วนชิ้นใดชิ้นหนึ่งของมันผลิตในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่

เราจะเรียกวิถีการผลิตอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ว่าอะไร ทำไมถึงจะผลิตรถยนต์อะไรมากมายขนาดนั้น  ผู้นำจีนเรียกมันว่าสังคมนิยมแบบจีน แต่นักสังเกตการณ์ทั่วไปพร้อมใจกันพูดว่าจีนเป็นทุนนิยมไปเรียบร้อยแล้ว  ข้อสังเกตของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองทั่วๆ ไปมักจะบอกว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในระยะที่ผ่านมาอาจจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่น เนื่องด้วยจีนเปิดทั้งการค้าต่างประเทศและการลงทุนต่างประเทศขึ้นพร้อมๆ กัน  ข้อสังเกตนี้ไม่ผิดเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่ว่ามันเป็นข้อสังเกตพื้นๆ ที่พยายามจะบอกว่าบัดนี้ผู้นำจีนได้กลายมาเป็นสาวกของเสรีนิยมใหม่แล้ว  และด้วยการมองปัญหาแบบนี้เองที่ทำให้ปัญญาชน ฝ่ายซ้ายและนักคิดเสรีนิยมเห็นพ้องต้องกันว่า จีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของฉันทามติวอชิงตัน (Washington consensus) อันเป็นต้นแบบเสรีนิยมใหม่เหมือนกัน กล่าวในแง่นี้ เติ้ง เสี่ยวผิง บิดาแห่งการปฏิรูปของจีน ดูมีราคาไม่ต่างอะไรกับโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและมาร์กาเรต แทชเช่อร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งเรืองอำนาจในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และเป็นผู้นำพาแนวเสรีนิยมใหม่สร้างความจำเริญทางเศรษฐกิจให้กับสหรัฐฯ และอังกฤษ

จีโอวานนี อาร์ริกิ (Giovanni Arrighi) นักสังคมวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ โต้แย้งไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา Adam Smith in Beijing: Lineages of The Twenty – First Century ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป  วิถีการผลิตอย่างที่จีนกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันเขาไม่เรียกว่าทุนนิยม แต่มันเป็นสังคมตลาด (market society)