Somewhere over the rainbow: รุ้งหลากสี หนังไทยหลายจินตนาการ*

* บทความนี้เป็นการเรียบเรียงและสรุปความเป็นภาษาไทยโดย วริศา กิตติคุณเสรี จากบทความชื่อ “ ‘Somewhere over the rainbow’: global projections/local allusions in Tears of the Black Tiger/Fa thalai jone” โดย เรเชล แฮร์ริสัน

ฟ้าทะลายโจร หรือชื่อในพากย์อังกฤษ Tears of the Black Tiger (กำกับโดยวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง – 2543) สร้างประวัติศาสตร์ให้แก่วงการหนังไทยด้วยการเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2001  นักวิจารณ์หลายคนในเทศกาลคราวนั้นมองว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังโพสต์โมเดิร์นที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวและยังส่อแววของความเป็นหนัง “คัลท์” อีกด้วย  อย่างไรก็ตาม ความชื่นชมดังกล่าวตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับกระแสตอบรับของผู้ชมในเมืองไทย ซึ่งต้องถือว่า ฟ้าทะลายโจร ล้มเหลวในเชิงพาณิชย์เพราะแทบจะไม่สามารถทำรายได้คืนทุน

ในการทำให้หนังเรื่องนี้สามารถมีที่ทาง น่าดึงดูด และเป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้ชมต่างประเทศนั้น ผู้กำกับวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เดินตามกระแสที่มุ่งสู่ตลาดโลกเช่นเดียวกับหนังไทยสมัยใหม่เรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าของบรรดาผู้ที่ได้รับการขนานนามให้เป็นผู้กำกับอะวองต์การ์ดของไทยแห่งปลายศตวรรษที่ 20/ต้นศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็น นนทรีย์ นิมิบุตร, เป็นเอก รัตนเรือง, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, ยงยุทธ ทองกองทุน และยุทธเลิศ สิปปภาค

“เราเป็นสากลแล้ว เราไม่ใช่คนแปลกหน้าอีกต่อไป”
เทศกาลเมืองคานส์อาจจะเป็นเพียงหนึ่งในเทศกาลหนังนานาชาติอีกจำนวนมาก แต่การที่ Tears of the Black Tiger เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลนี้ ย่อมถือว่ามีนัยยะสำคัญเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทยซึ่งปรารถนาจะยกระดับชื่อเสียงทางวัฒนธรรมของตัวเองสู่โลกสากล  ใช่แต่เพียงเท่านั้น หนังเรื่องนี้ยังได้รับการชื่นชมและต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนักวิจารณ์ทั้งหลาย  ปีเตอร์ แบรดชอว์ ถึงกับเขียนวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษว่า “หนังคัลท์ฮิตของเทศกาลเมืองคานส์ปีนี้ย่อมได้แก่ Tears of the Black Tiger ที่แสนประหลาดอัศจรรย์และสำราญใจอย่างพิสดารยิ่ง” (Bradshaw 2001:1)  ปฏิกิริยาตอบรับของแบรดชอว์ต่อหนังเรื่องนี้ เป็นไปในทางเดียวกับของสื่อมวลชนส่วนใหญ่ในเทศกาลเมืองคานส์ครั้งนั้น และส่งผลให้บริษัทมิราแมกซ์ของอเมริการีบคว้าลิขสิทธิ์ Tears of the Black Tiger มาจัดจำหน่าย  อีกทั้งในปีเดียวกัน  Tears of the Black Tiger ยังกลายเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าฉายในโรงหนังทั่วเกาะอังกฤษและออกอากาศทางเครือข่ายโทรทัศน์ช่อง 4 และช่องดิจิตอล BBC 4 ของอังกฤษด้วย

ไนเจล แอนดรูว์ ผู้สื่อข่าวของ Financial Times ถึงกับยกย่องว่าวิศิษฏ์เป็นผู้ปักหมุด “ประเทศใหม่ลงในแผนที่โลกของภาพยนตร์” (Andrews 2001: 18) ทั้งยังย้ำถึงความสามารถของหนังในการทำให้ชื่อเสียงของประเทศแม่ปรากฏต่อนานาชาติ อันเป็นการสถาปนาสถานะของประเทศไทยให้เป็นชาติสมัยใหม่ (และ/หรือหลังสมัยใหม่) ในเวทีโลก  ดังที่วิศิษฏ์เองได้แสดงความยินดีไว้ในบทสัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ Nation ว่า “เราเป็นสากลแล้ว เราไม่ใช่คนแปลกหน้าอีกต่อไป” (The Nation/AsiaNews Network, 18 May 2001)

สายธารประวัติศาสตร์
ว่าด้วยการตลาดของความเป็นชาติและการสังวาสกับตะวันตก

ทัศนะต่อเส้นทางและศักยภาพของหนังไทยสมัยใหม่ที่จะก้าวไปสู่เวทีสากลดังกล่าวของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งนำเสนอออกมาขณะที่หนังของเขากำลังประสบความสำเร็จในโลกตะวันตก สะท้อนถึงการที่เขาเอาตัวเองเข้าไปผูกกับวาระแห่งชาติทางการเมือง-วัฒนธรรมในระดับที่กว้างกว่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ดังที่อาดาดล อิงคะวณิช และริชาร์ด แมคโดนัลด์ เคยวิเคราะห์ถึงแบบแผนที่คล้ายคลึงกันนี้ในกรณีกระแสตอบรับของผู้ชมอังกฤษต่อหนังไทยเรื่อง สตรีเหล็ก ว่า

..หลายประเทศที่เพิ่งจะนำหนังเข้าสู่ตลาดสากล มีสถานะที่ตกเป็นรองในระบบโลก นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เกิดขึ้นในด้านเศรษฐกิจและการเมืองเท่านั้น แต่ที่สำคัญยังรวมถึงด้านวัฒนธรรมด้วย  ชาติที่อยู่ขอบนอกของศูนย์กลางอำนาจ มีช่องทางน้อยมากสำหรับการนำเสนอภาพลักษณ์ตัวเอง (self-representation) ในสื่อระดับโลก  ภาพลักษณ์ของประเทศเหล่านี้จึงมักจะถูกลดทอนเป็นอย่างมาก  ด้วยเหตุนี้ ผู้กำกับรายที่ได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์สากล จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแบกภาระการเป็นตัวแทนของชาติ ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐมักเข้ามาอ้างความสำเร็จของหนังเหล่านี้ว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการที่ชาตินั้นๆ สามารถมีตำแหน่งแห่งที่ของตนในท่ามกลางประชาคมโลกในฐานะชาติสมัยใหม่ โดยไม่นำพาว่าผู้กำกับส่วนใหญ่มักลังเลกระอักกระอ่วนใจที่จะชูธงแห่งความเป็นชาติเช่นนั้น  การที่คนทำหนังคือคนที่ทำงานกับสื่อซึ่งมีความแนบแน่นกับสภาวะความเป็นสมัยใหม่ คือเป็นสื่อที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีตลอดเวลา จึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไวต่อการต้องรับบทผู้นำเสนอการเทียบเคียงชาติของตนกับชาติอื่นๆ ที่ทรงอำนาจกว่าในเวทีโลก