ชั่วฟ้าดินสลาย : เมื่อการเล่าเรื่องเปิดโปงเรื่องเล่า

“คุณอาจะลั่นกุญแจเราไว้นานสักเท่าไรครับ ?”
“ชั่วฟ้าดินสลาย” พะโป้ตอบ “อย่างที่เอ็งและเขาต้องการ” (หน้า 58)

เมื่อตอนที่พะโป้ ผัวแก่ของสาวสมัยใหม่อย่างยุพดี บอกให้หล่อนกับส่างหม่อง หลานชายเนรคุณที่เล่นชู้กับเมียของอา อยู่กันไปจน “ชั่วฟ้าดินสลาย” ทั้งผู้อ่านและตัวละครคงคิดคล้ายๆ กันว่าพะโป้เพียงแค่กล่าวในทำนองประชดประชันเท่านั้น

โดยเสียรู้แก่ความเคยชิน เราแทบไม่ได้นึกถึงความหมายตรงตามตัวอักษรของวลี “ชั่วฟ้าดินสลาย” เพราะใครๆ ก็รู้ว่ามันเป็นเพียงโวหารภาพพจน์ แบบที่ในภาษากวีเรียกว่า hyperbole (การกล่าวเกินจริง) ซึ่งมักถูกใช้ในบริบทของการพลอดรักหรือขอความรัก เพื่อจะบรรลุวัตถุประสงค์ง่ายๆ คือให้คนฟังรู้ว่ามัน “นานมาก” และเกิดความปลื้มปีติไปกับความเข้มข้นรุนแรงของความรักและความปรารถนา อย่างไรก็ตาม ในนวนิยายขนาดสั้นของ “เรียมเอง” ที่ใช้วลีดังกล่าวเป็นชื่อเรื่อง ตัวละครไม่เพียงใช้มันเพื่อการสัญญิงสัญญา แต่ยังใช้มันเป็นดั่ง “คำสาปแช่ง” เพราะมันมาพร้อมกับการที่พะโป้ เจ้าพ่อผู้ถูกเมียและหลานชายสวมเขา จัดการใส่กุญแจมือล่ามชายหญิงทั้งคู่เข้าไว้ด้วยกัน อันส่งผลต่อเหตุการณ์ชวนสลดใจต่างๆที่ตามมา วลี “ชั่วฟ้าดินสลาย” ไม่เพียงแค่ให้ภาพของระยะเวลาอันยาวนาน หากแต่มีผลผูกพันโดยตรงต่อชีวิตทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณของส่างหม่องและยุพดี นอกจากทั้งสองจะถูกล่ามติดกันอยู่จนฝ่ายหนึ่งจบชีวิตลงแล้ว อีกฝ่ายที่ยังมีลมหายใจก็หาได้เป็นอิสระจากการลงทัณฑ์ดังกล่าว ยังคงถูก “ล่าม” ไว้กับความเจ็บปวดซึ่งเป็นผลมาจากความผิดที่ทั้งคู่ได้ก่อไว้ร่วมกัน แม้ไม่ถึงขั้นตราบชั่วฟ้าและดินสลายไปอย่างที่ว่า แต่ก็น่าจะชั่วชีวิต จึงอาจกล่าวได้ว่า คำประกาศของพะโป้ ทำให้ผลผลิตของภาษาอย่างวลี “ชั่วฟ้าดินสลาย” ไม่ได้แค่ทำหน้าที่สื่อความหมาย หากแต่ยังกำหนดชีวิตของตัวละครด้วยความเข้มงวดในระดับที่ใกล้เคียงกับความหมายตามตัวอักษรที่คนทั่วไปแทบไม่เคยใส่ใจ

ดังที่เห็นชัดตั้งแต่ชื่อเรื่อง โลกใน ชั่วฟ้าดินสลาย เป็นโลกที่ภาษาได้แสดงพลังของมันอย่างเต็มที่ เรื่องราวในนวนิยายเล่มนี้ ถูกนำเสนอผ่านเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า (frame narrative) ที่มีผู้บรรยายเล่าถึงตัวละครที่เล่าเรื่องของคนอื่น ทั้งที่พบเจอมาเองและที่ฟังมาจากคนอื่นอีกที วิธีการดังกล่าวย้ำเตือนผู้อ่านถึง “ความเป็นเรื่องเล่า” ของนวนิยายอยู่ตลอดเวลา เพราะขณะที่เรื่องราวดำเนินไปนั้น ผู้บรรยายจะคอยแสดงให้เห็นอยู่เสมอว่ากระบวนการเล่าเรื่องก็กำลังเดินไปพร้อมๆกัน เหตุเพราะว่าเขาต้องคอยอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลที่เขาเอามาเล่าต่ออยู่เสมอ รูปแบบการนำเสนอในนวนิยายเรื่องนี้จึงน่าสนใจไม่แพ้เนื้อหา เพราะมันเป็นตัวกำหนดมุมมองและขอบเขตการรับรู้ของผู้อ่านอย่างเปิดเผย (คือผู้อ่านรู้ดีว่าจะได้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ ก็แต่เฉพาะส่วนที่ผู้เล่าแต่ละคนมองเห็นและเลือกที่จะเล่า ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด) และสัมพันธ์โดยตรงกับข้อสรุปและความเข้าใจที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องของผู้อ่าน พูดอีกอย่างก็คือ กระบวนการทางภาษา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้คำ มุมมอง การลำดับความ ของผู้เล่าเรื่อง แม้ในแง่หนึ่งจะเหมือนการ “ถ่ายทอด” ความจริงที่เกิดขึ้นในเรื่อง แต่ในอีกแง่ มันคือการ “สร้าง” ความจริงในความรับรู้ของผู้อ่าน (ซึ่งไม่อาจรับรู้อะไรได้เกินกว่าที่ถูกเล่า) ขึ้นมา สิ่งที่น่าสนใจกว่าตัวเรื่องที่ถูกเล่าโดยผู้เล่าหลากหลายตัว จึงเป็นวิธีการสร้างเรื่องและผลลัพธ์ที่เกิดจากการสร้างเรื่องดังกล่าว