อ่าน Beauty and the Beast ฉบับร่วมสมัย: เขียนใหม่หรือผลิตซ้ำ?

หากเทียบกับบรรดานางเอกในเทพนิยายยอดฮิตด้วยกัน “โฉมงาม” แห่ง Beauty and the Beast นั้น ดูจะ
แปลกแยกจากชาวบ้านอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ซินเดอเรลล่า สโนว์ไวท์ เจ้าหญิงนิทรา หรือแม้แต่หนูน้อยหมวกแดง ได้แต่นอนรอความช่วยเหลือจากเจ้าชายขี่ม้าขาว (ในกรณีของหนูน้อยหมวกแดงก็คือพี่นายพรานหุ่นล่ำ) โฉมงามกลับเป็นฝ่ายไปช่วยเจ้าชายในคราบอสูรให้รอดพ้นจากความตายและ “กลายร่าง” (transform) กลับสภาพเดิมอันงดงามหลังจากถูกสาปให้ขี้ริ้วขี้เหร่น่ารังเกียจอยู่พักใหญ่

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างพระเอก-นางเอกในเทพนิยายเรื่องอื่นๆ ที่กล่าวมา แทบจะมีลักษณะเป็นแบบแผนตายตัว คือฝ่ายชายทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยเหลือ” (the rescuer) ขณะที่ฝ่ายหญิงรับบทเป็นผู้ถูกช่วย (the rescued) โฉมงามถูกกำหนดให้แสดงบทบาททางเพศสลับกับเพื่อนๆ จนดูคล้ายกับว่า Beauty and the Beast (หรือที่มีชื่อภาษาไทยฉบับการ์ตูนดิสนีย์ว่า โฉมงามกับเจ้าชายอสูร) มีโครงเรื่องและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร โดยเฉพาะในมิติทางเพศ ผิดเพี้ยนไปจากธรรมเนียมของเทพนิยาย และมากไปกว่านั้นก็คือขัดแย้งกับค่านิยมของสังคมในความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามิติอื่นๆของตัวละครโฉมงาม ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตานิสัยใจคอ หรือฐานะทางเศรษฐกิจแล้ว ผู้อ่านจะเห็นได้ว่า อันที่จริงนางเป็นนางเอกที่สุดแสนจะเป็นแบบฉบับ เพราะนอกจากจะสวยงามบริสุทธิ์ทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว นางยังมีคุณสมบัติเพียบพร้อมสำหรับการ “ถูกช่วยเหลือ” หากแต่เป็นคนละรูปแบบกับนางเอกคนอื่นๆเท่านั้น

ในเทพนิยายต้นฉบับ (1743) ซึ่งแต่งขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศสโดย Jeanne – Marie Le Prince de Beaumont ตอนที่พ่อของโฉมงามหลงไปขโมยดอกไม้ของเจ้าชายอสูรนั้น เขากำลังถังแตกจนถึงขั้นต้องให้ลูกสาวคนสุดท้อง (และแน่นอนว่าเป็นคนเดียวในบรรดาลูก 3 คนที่ขยัน สู้งาน กตัญญู) ออกมาช่วยทำงานงกๆ การได้ลงเอยกับเจ้าชายจึงเป็นการต่อลมหายใจของนางและพ่อ ทั้งยังช่วยให้หญิงสาวตกอับอย่างนาง “กลายร่าง” เป็นเจ้าหญิงอีกด้วย ความรักที่นางหยิบยื่นให้ชายหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวราวกับอสูรร้ายกระทั่งสามารถช่วยเขาจากคำสาป จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการแสดงถึงความสำนึกในบุญคุณที่เขาช่วยเหลือเจือจุนนาง มองในแง่นี้ นางไม่เพียงไม่ได้สลับบทบาททางเพศที่ปรากฏในเทพนิยายเรื่องอื่นๆ โดยการ “ช่วย” พระเอก แต่ยังตอกย้ำความจำเป็นของฝ่ายหญิงในการพึ่งพาฝ่ายชายในเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงความสำคัญของการมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ (ที่นางยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อไถ่ตัว) หรือสามี ที่สำคัญที่สุด นางจะได้รับรางวัลตอบแทนความดีงามของตัวเอง ก็ต่อเมื่อต้องก้าวข้ามประเด็นเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกไปให้ได้เสียก่อน

มิติทางเพศของความสัมพันธ์ของตัวละครใน Beauty and the Beast ถูกนำมาสำรวจในเรื่องสั้นสองเรื่อง ชื่อ “The Courtship of Mr. Lyon” และ “The Tiger’s Bride” ของ Angela Carter (1940-1992) นักเขียนหญิงชาวอังกฤษผู้เป็นเจ้าแม่ด้านเรื่องเล่าแนวแฟนตาซีผสมกลิ่นอายสตรีนิยม คาร์เตอร์มองว่านิทานเป็น “เรื่องโกหกชั้นเลิศที่ออกแบบมาจำกัดอิสรภาพผู้คน” (extraordinary lies designed to make people unfree) และเสนอว่าเรื่องราวของเธอนั้นไม่ใช่แค่เวอร์ชั่นสมัยใหม่ของเทพนิยายฉบับดั้งเดิม หากแต่เป็นการสกัดเอาเนื้อหาที่ซ่อนอยู่ (latent content) ภายใต้เรื่องเล่าชุดเก่าออกมา พูดอีกอย่างก็คือ แม้จะใช้โครงเรื่องเดียวกัน แต่รายละเอียดและสภาวะจิตใจของตัวละครที่ถูกใส่เพิ่มเข้ามาผ่านมุมมองของนางสาว “โฉมงาม” ไม่ได้เป็นแค่การ “เล่าซ้ำ” เรื่องราวความรักโรแมนติกของหญิงสาวสวยกับชายอัปลักษณ์ในรูปแบบและลีลาที่แตกต่างออกไป หากแต่เผยให้ผู้อ่านเห็นถึงกลไกการทำงานที่นำเอาค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมมาประกอบกันเป็นเรื่องราวในนิทาน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความอยากจะมองว่าตัวบททั้งสองไม่ได้ขีดเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างการ “เปิดโปง” กับการ “ผลิตซ้ำ” เรื่องเล่าต้นฉบับ ทว่าแสดงให้เห็นความคลุมเครือระหว่างทั้งสองกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งลักษณะที่ว่านี้ท้าทายกรอบเรื่องเล่าในระบอบปิตาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ