เราใช่เขา? ภาพเสนอของคนจีนในวรรณกรรมไทยศตวรรษที่ 20

บทเกริ่นนำ
เมื่อแรกมาถึงมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ. 2505 ผมสะดุดกับคำถามที่นึกไม่ถึงแต่มักจะโผล่ขึ้นมาเป็นประจำในชั้นเรียนและในบทสนทนากับเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ พวกเขาตั้งคำถามว่า “คนฟิลิปปินส์คือใคร?” เพื่อนคนไทยและตัวผมค่อยสบายใจหน่อยเมื่อนึกว่าตัวเองรู้ว่าเรา “คนไทย” คือใคร และออกจะรู้สึกสงสารคนฟิลิปปินส์ ในสายตาของนักศึกษาไทย คนฟิลิปปินส์มีอัตลักษณ์ที่คลุมเครือ กล่าวคือ พวกเขามีชื่อแบบสเปน/เม็กซิกัน พูดภาษาอังกฤษสำเนียงแปร่ง กินอาหารที่ผสมผเสทั้งสเปน ฟิลิปปินส์ จีนและอเมริกัน และพูดภาษาแตกต่างกันแม้ว่าจะมีภาษา “แห่งชาติ” การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยใช้ภาษาอังกฤษ และนักศึกษาก็พูดจากันด้วยภาษาอังกฤษ

สำหรับพวกเราที่มาจากเมืองไทย เรารู้ว่าเราเป็น “คนไทย” เพราะเราล้วนพูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน และรักพระมหากษัตริย์คนเดียวกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มาเยือนมะนิลาในปี 2506 นักศึกษา “ไทย” ทั้งหมดพากันไปแสดงความเคารพและจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ด้วยการถ่ายรูปหมู่ร่วมกับในหลวงและราชินี

เมื่อมองย้อนกลับไป พวกเราไม่มีใครฉุกคิดเลยว่าเรามีเพื่อนร่วมชั้น “คนไทย” ที่พูดไทยติดสำเนียงจีนอย่างหนัก และเพื่อนเหล่านั้นหลายคนก็ยังเรียกชื่อจีนเดิมเวลาหยอกเย้าเล่นหัวกันแม้ว่าพวกเขาจะมีชื่อ “ไทย” กันหมดแล้วก็ตาม การที่ผมมีเพื่อนสนิทในมหาวิทยาลัยเป็นคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นที่สองที่ยังพูดไทยติดสำเนียงจีนก็ไม่ได้ทำให้ผมนึกว่าเขาไม่ใช่คนไทย ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับผมในตอนนั้นเลยว่าอันที่จริงแล้วพ่อของผมเองก็อาจเป็นลูกครึ่งจีนหรือมีเชื้อจีนหนึ่งในสี่ หรือแม่ของผมก็มีทั้งชื่อไทยและชื่อจีน ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่เคยเลยที่จ ะทำให้ผมรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ว่าทวดของพ่อผมจะเป็นคนจีนและบรรพบุรุษทางแม่ของพ่อผมจะสืบเชื้อสายมาจากช่างต่อเรือชาวจีนฮกเกี้ยนก็ตาม แต่หลังจากอยู่เมืองไทยมาได้สี่ชั่วรุ่น พ่อของผมและลุงป้าน้าอาต่างลืมเลือนเทือกเถาเหล่ากอของตนไปโดยสิ้นเชิง แม่ของผมเล่าว่าหลายคนในจังหวัดจันทบุรีมีทั้งชื่อจีนและชื่อไทย แม่บอกว่าเป็นเพราะคนจีนในจังหวัดบ้านเกิดของแม่นั้นมักจะรวยและประสบความสำเร็จ ครอบครัวคนไทยจึงตั้งชื่อจีนให้ลูกเพื่อจะได้เจริญมั่งคั่งเหมือนคนจีน ผมไม่มีทางรู้ว่าเรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่สำคัญ ผมสงสัยว่าหลังจากกลายเป็นไทยมาได้หลายชั่วคนแล้ว ตระกูลของผมก็เริ่มปฏิเสธตัวเองและลบล้างความจำเกี่ยวกับอดีตของตัวเอง และตัดสายสัมพันธ์และความทรงจำทั้งหมดเกี่ยวกับความเป็นจีนของตนทิ้งไปโดยไม่รู้ตัว

วรรณกรรมในการศึกษาประวัติศาสตร์

ในการประชุมสมาคมเอเชียศึกษาเมื่อเดือนมีนาคม 2553 ไมเคิล มอนเทซาโน จัดเสวนาในหัวข้อ “ผนวกวรรณกรรมในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยศตวรรษที่ 20” โดยต้องการเสนอให้เห็นเป็นตัวอย่างเบื้องต้นว่า วรรณกรรม (โดยเฉพาะนวนิยาย) สามารถเป็นแหล่งข้อมูลเสริมทางประวัติศาสตร์และนำเสนอมุมมองใหม่ๆได้อย่างไร ผมเป็นผู้ร่วมวิจารณ์บทความที่เสนอในงานดังกล่าว ซึ่งเสนอทิศทางการศึกษาวิจัยและระบุปัญหาทางวิธีวิทยาที่เกี่ยวข้องในการใช้วรรณกรรมเป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ผมจะไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับบทความเหล่านั้นในที่นี้ แต่จะกล่าวถึงข้อสังเกตทั่วไปบางประการ ว่าด้วยความข้องเกี่ยวของวรรณกรรมในการศึกษาประวัติศาสตร์ และในฐานะที่เป็นสิ่งแสดงคุณค่าทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

หนังสือรวมเรื่องสั้นไทย In the Mirror ที่รวบรวมโดยเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน และรุจิรา เมนดิโอเนส ได้ใช้เรื่องสั้นต่างๆ ฉายภาพประวัติศาสตร์และการเมืองไทยในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 19702 และในหนังสือ Southeast Asia over Three Generations ซึ่งจัดพิมพ์เพื่อเป็นเกียรติแก่แอนเดอร์สันนั้น เนื้อหาหนึ่งในสามกล่าวถึงความสำคัญของนวนิยายในการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังความประหลาดใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งแก่ตัวแอนเดอร์สันเอง หนังสือเล่มดังกล่าวมีสี่บทที่กล่าวถึงวรรณกรรมว่าให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างไร เว็บบ์ คีน ซึ่งเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ใน Journal of Asian Studies บอกว่า “ทุกคนล้วนแต่กำลังอ่านนิยาย” ในปี 2525 นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็สำรวจวรรณกรรมไทยคลาสสิคเพื่ออธิบายการเติบโตของกระฎุมพีในกรุงเทพฯไว้ใน “วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์”

บทความนี้จะใช้วรรณกรรมและงานเขียนต่างๆ มาแสดงให้เห็นว่าคนจีนในสังคมไทยถูกมองอย่างไรและพวกเขามองตัวเองอย่างไรในช่วงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา โดยอาศัยการประเมินตัวบทต่างๆ ผมจะสำรวจรายละเอียดพัฒนาการของการสร้างภาพผู้ร้าย การปฏิเสธ การยอมรับ การกลืนกลาย และการมีที่ทางของคนไทยเชื้อสายจีนในจินตภาพทางวัฒนธรรมของไทย ผมเสนอว่าตัวบทต่างๆเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สะท้อนคุณค่าทางสังคมและวัฒนธรรมได้เมื่อสาธารณชนบริโภคและตอบรับ ยอดขายจำนวนมาก การตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งและการอยู่ยงผ่านกาลเวลา เป็นตัวบ่งชี้การยอมรับหรือยินยอมต่อการแสดงภาพสังคมและการนำเสนอตัวละครต่างๆในตัวบทเหล่านั้น